ไม่ได้ชวนนอน แต่ชวน งีบ ทางลัดเพื่อสุขภาพ

ช่วงบ่ายๆ หลายคนรู้สึกง่วง ลองมา งีบ กันสักนิด จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น

งีบ คือการนอนหลับระยะเวลาสั้นๆ เพื่อชดเชยเวลาที่เรานอนไม่เพียงพอ ช่วงระยะเวลาของการนอนงีบ จะมีผลต่อสุขภาพ ทั้งด้านสมองและร่างกาย ทำให้รู้สึกตื่นตัวได้อย่างรวดเร็ว คลายตึงเครียด ทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใส นอกจากนี้ระบบร่างกายก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การงีบเพียง 10 นาที จะทำให้เราตื่นตัวพร้อมทำงานต่อไปได้อีก 3 ชั่วโมง ซึ่งการหลับไม่นาน มีประสิทธิภาพมากกว่าการนอนนานๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง

งีบระหว่างวันดีอย่างไร

  • ก่อให้เกิดการตื่นตัวทั้งด้านสมองและร่างกายในการทำงาน มีความกระตือรือร้น อาการร่วงโรยต่างๆ จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • ลดความเครียด หรือความหงุดหงิด เป็นการผ่อนคลายสมอง เพราะการหลับจะช่วยลดฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียดได้
  • ทำให้สมองมีประสิทธิภาพในการจำได้อย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้น
  • การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าร้อยละ 40 การทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์จะทำได้ดีและมีความพร้อมมากขึ้น
  • สุขภาพโดยรวมดีขึ้น เนื่องจากการงีบระหว่างวันจะทำให้ร่างกายปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย และซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

เวลาที่เหมาะสม เพื่อการงีบระหว่างวัน

นอนหลับ 10 – 20 นาที

จะช่วยเพิ่มพลังงานและคืนความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สมองโปร่ง เพราะอยู่ในช่วงระยะ non – rapid eye movement (NREM) ซึ่งเป็นการหลับที่ไม่มีการกรอกตา แบบรวดเร็ว

นอนหลับ 30 นาที

เป็นเวลานอนที่ไม่เป็นผลดีกับร่างกาย เพราะจะยังคงรู้สึกง่วง มึนงง เหมือนกับนอนไม่พอ และยังคงไม่พร้อมที่จะทำงาน ซึ่งกว่าอาการนี้จะหายไปก็ใช้เวลาอีกประมาณ 30 นาทีต่อมา

นอนหลับ 60 นาที

เป็นช่วงที่ดีต่อความจำ ซึ่งเรียกว่าอยู่ในช่วง Slow – wave sleep เป็นการหลับลึกที่ยังคงความง่วง แต่สมองสามารถเสริมความจำดีไว้ได้

นอนหลับ 90 นาที

เป็นการนอนที่ครบรอบ กล่าวคือ มีหลับลึกและไม่ลึกมากนัก อาจมีการฝันบ้าง ช่วยให้อารมณ์ดี มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่งัวเงียเหมือนช่วง 30 – 60 นาที

ฝึกตัวเองให้งีบ

ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีนิสัยงีบช่วงพัก ยกเว้นว่าคุณจะมาจากประเทศอย่างสเปนหรือกรีซที่การงีบช่วงบ่าย หรือคำว่า “siesta” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

กาย เมโดวส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนและผู้ก่อตั้ง Sleep School เผยว่า การงีบก็เหมือนกับการว่ายน้ำ หรือการขี่จักรยานที่ต้องอาศัยการฝึกฝน เขาแนะนำให้ทุกคนใช้วิธีตั้งเวลา เพื่อไม่นอนนานเกินไป และเมื่อทำแบบนี้ซ้ำๆ สัก 3 เดือน ร่างกายก็จะจดจำเป็นนิสัยว่าช่วงเวลานั้นๆ มีไว้สำหรับงีบ

สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่บังคับตัวเองให้หลับ แค่ไปนอนสบายๆ บนเตียง หรือนั่งเอนบนเก้าอี้ ปิดม่านให้ห้องมืดลงหรือไม่ก็ใส่ที่ปิดตา พยายามอยู่นิ่งๆ และก็พักผ่อน นอกจากนี้ ควรจะหยุดดูมือถือหรืออ่านอีเมลสัก 5 นาที ก่อนที่จะงีบ

ผลวิจัย พบว่า การใช้เวลางีบระหว่างวันเกินกว่า 30 – 45 นาที หรือการงีบช่วง 11.00 น. นอกจากจะไม่ส่งผลดีกับร่างกายแล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างเช่นทำให้ช่วงกลางคืนนอนไม่หลับ และอาจมีปัญหาสุขภาพตามมาอีกด้วย

ข้อมูลจาก BBC / สสส.

บทความอื่นที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.