ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, พ่อของแผ่นดิน, ในหลวง, ในหลวงรัชกาลที่ 9, พ่อ

สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ ดวงใจของคนทั้งชาติ

พระมหากษัตริย์นักพัฒนา 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใส่ใจศึกษาพระพุทธศาสนา และทรงมีพระปรีชาสามารถด้านงานศิลป์ทุกแขนงจนได้รับการเทิดพระเกียรติให้ทรงเป็น “อัครศิลปิน” และพระอัจฉริยภาพตลอด 70 ปีในรัชสมัยของพระองค์ ภาพที่คนไทยเห็นจนชินตาคือ ภาพการทรงงานและเสด็จฯ ตามถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะใกล้ไกลเพียงใดโดยในพระหัตถ์นั้นมีแผนที่ ดินสอ วิทยุสื่อสาร และกล้องถ่ายภาพ ด้วยโปรดการถ่ายภาพสถานที่ที่เสด็จฯ เพื่อทรงนำมาเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยเพื่อแก้ปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของราษฎร โดยเฉพาะราษฎรในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ผลสัมฤทธิ์ของการทรงงานหนักของพระองค์ก่อเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกือบ 4,500 โครงการ โดย 3,000 กว่าโครงการเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ด้วยทรงตระหนักว่า “น้ำ” คือปัจจัยดำรงชีพสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นโครงการฝนหลวง เขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน พระราชดำริเกี่ยวกับการดูแลป่า เพื่อชะลอความชุ่มชื้นให้ผืนดินทุกโครงการล้วนทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อปากท้องของประชาชน ดังที่ครั้งหนึ่งผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปติดตามความคืบหน้าการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ปฏิบัติการของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2522 ผู้สื่อข่าวทูลถามพระองค์ว่า หากสร้างฝายแห่งนี้สำเร็จ จะถือว่าพระองค์มีชัยชนะเหนือฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือไม่ พระองค์มีพระราชดำรัสตอบว่า

“…สิ่งที่เราทำนี้ เราไม่ได้สู้รบกับผู้คน แต่เราสู้รบกับความอดอยากหิวโหย ทำสิ่งนี้เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น และหากทำได้ คนที่คุณนิยามว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน”

“…ความทุกข์ของประชาชนนั้นรอไม่ได้”

สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์

งานสาธารณสุขเพื่อราษฎร 

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้รับสนองพระราชดำริว่า นอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการพัฒนาถนนหนทาง แหล่งน้ำทรัพยากรดิน และพัฒนาความรู้ทางการเกษตรแล้ว พระบาสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“…การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยเศรษฐกิจที่ดีและสังคมที่มั่นคง เพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้นโดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่…”

ด้วยเหตุนี้เมื่อเสด็จฯออกเยี่ยมเยียนราษฎรจะมีหน่วยแพทย์ตามเสด็จด้วยเพื่อตรวจสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะชาวชนบทห่างไกลที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการดูแลด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมจนเกิดเป็น “โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน” ในปีพ.ศ. 2510 โดยทำงานใน 2 ส่วน คือ ออกตรวจสุขภาพประชาชนและฝึกอบรมอาสาสมัครในหมู่บ้านเพื่อดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้แก่ผู้เจ็บป่วย และป้องกันโรคระบาดต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข

อีกทั้งมีโครงการในพระราชดำริด้านสาธารณสุขอื่น ๆ อีก อาทิ โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ โครงการหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัย รวมถึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่สภากาชาดไทยเพื่อศึกษาวิจัยโรคติดต่อต่าง ๆ และมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย (มูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปัจจุบัน) เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อนจนปัจจุบันโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคระบาดที่น่ารังเกียจอีกต่อไป

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2505 หลังเกิดเหตุการณ์พายุโซนร้อนแฮเรียตพัดผ่านภาคใต้ของไทยสร้างความเดือดร้อนให้หลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพียงเวลา 1 เดือน ก็ได้รับทั้งทุนทรัพย์และของบริจาคมากมายจากทั้งในและต่างประเทศและเกิดเป็นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินในเวลาต่อมา

พระราชกรณียกิจเพียงบางส่วนที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระ-ราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา เช่นที่รับสั่งกับบุคคลที่ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเสมอว่า “…ความทุกข์ของประชาชนนั้น รอไม่ได้”

 

จากคอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 345


บทความน่าสนใจอื่นๆ

พระมหากรุณาธิคุณด้านสาธารณสุข

พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ความรู้จากพระราชาสู่ประชาชน

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.