เมื่อพิจารณาอาหารไทยนับแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นเมนูคาว ของว่าง หรือ ของหวาน พบว่าต่างก็ซุกซ่อนความหมาย มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และเคล็ดลับแฝงอยู่มากมาย ภายใต้ความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ การเตรียม การปรุง ไปจนถึงการจัดเสิร์ฟ ที่เต็มไปด้วยความละเมียดละไม จนได้อาหารไทยแท้แสนเลอค่า และเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่คนในปัจจุบันอาจหลงลืม เราจึงรวบรวมคำศัพท์เกี่ยวกับอาหารไทยที่น่าสนใจเพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา
ว่าด้วยเรื่อง “มะพร้าว” แต่ละชนิดที่ใช้ทำเมนูขนมหวานที่อยู่คู่คนไทยมานาน “มะพร้าวอ่อน , มะพร้าวห้าว , มะพร้าวทึนทึก , มะพร้าวกะทิ”
มะพร้าว คือหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการทำขนมไทย และเนื่องจากขนมไทยมีหลากหลายประเภท ซึ่งใช้ความอ่อนแก่ของมะพร้าวแตกต่างกันไป การเลือกมะพร้าวให้เหมาะกับการทำขนมแต่ละอย่างจึงมีความจำเป็น โดยคนโบราณแบ่งมะพร้าวสำหรับทำขนมออกเป็น 4 ประเภท คือ
มะพร้าวอ่อน ให้น้ำรสหอมหวาน เหมาะกับการทำวุ้นมะพร้าวส่วนเนื้อด้านในนั้นสัมผัสนุ้มนุ่ม เหมาะสำหรับขูดใส่ในขนมจำพวกบัวลอย ทับทิมกรอบ
ส่วน มะพร้าวทึนทึก เป็นมะพร้าวกลางอ่อนกลางแก่ เนื้อนุ่ม เหมาะกับการขูดเพื่อโรยหน้าขนมตาล ขนมเปียกปูน ขนมกล้วย ฯลฯ ใช้สำหรับคลุกขนมอย่างขนมมันสำปะหลังหรือนำไปกวนทำเป็นไส้ขนมต่างๆ เช่น ขนมสอดไส้ เป็นต้น
สำหรับ มะพร้าวกะทิ เป็น มะพร้าวแก่ มีน้ำหนักมาก เนื้อสัมผัสของมะพร้าวจะมีลักษณะข้นเหนียว เนื้อหนานุ่มสีขาวขุ่น นิยมใส่ในทับทิมกรอบ
ประเภทสุดท้ายคือ มะพร้าวห้าว เป็นมะพร้าวแก่ที่ส่วนใหญ่นำมาขูดเพื่อคั้นเป็นกะทิซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ มะพร้าวขูดขาว คือ มะพร้าวกะเทาะเนื้อออกแล้วขูดเปลือกออก เมื่อขูดออกมาจึงเป็นสีขาวเหมาะสำหรับทำขนมที่ต้องการกะทิสีขาวนวล เช่น ขนมถ้วย หรือทำกะทิที่ใช้ราดหน้าขนมต่างๆ เช่น กล้วยเชื่อม มันเชื่อม ฯลฯ ส่วนมะพร้าวขูดดำ หมายถึงมะพร้าว ที่กะเทาะเนื้อออกแล้วไม่ได้ขูดเปลือกออกเหมาะกับการนำมาทำขนมทั่วไปที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ
เรื่อง : ปิยมาศ ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก , Photo Cover by Jonas Dücker on Unsplash
สไตล์ : รามิล สิทธิมงคล