ขนมต้ม

ขนมต้ม เคียงคู่วัฒนธรรมไทยแต่โบราณ มากคุณค่า สืบทอดจนถึงปัจจุบัน

ขนมต้ม

ขนมต้ม เป็นขนมไทยที่มีมาแต่โบราณ ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ รสหวาน หอมกลิ่นมะพร้าว เหนียวนุ่มละมุนลิ้น ตรึงใจคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขนมต้มอยู่คู่วัฒนธรรมไทยมายาวนาน มีความเกี่ยวข้องกับงานมงคลต่าง ๆ มากมาย และวันนี้แอดมินจะมาบอกเล่าประวัติของขนมต้ม ว่าทำไม? เจ้าขนมต้มนี้…ถึงมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยมาแต่โบราณ…

ประวัติความเป็นมา

เป็นขนมที่มีหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่ ”สมัยสุโขทัย” เข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ และลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้า โดยเชื่อกันว่าพระพิฆเนศโปรดขนมนี้มาก ครั้งหนึ่งเสวยเข้าไปจนเต็มพุง เมื่อขี่หนูกลับวิมาน ระหว่างทางหนูมาเจองู ตกใจจึงหยุดทันที พระพิฆเนศตกจากหลังหนู “พุงแตก” พระพิฆเนศเสียดายขนมจึงกอบเข้าใส่พุงใหม่ แล้วเอาซากงูที่ตีตายแล้วมาพันพุงไว้ แล้วจึงกลับไปวิมาน ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในพิธีบวงสรวงเทวดา ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ยกเสาเอก ตั้งศาลพระภูมิ ในประเพณีสู่ขอแต่โบราณในบางท้องที่ใช้ขนมต้มด้วย ดังมีเพลงพวงมาลัยร้องเล่นว่า…

โอ้ละเหยลอยมา                                   ลอยมาแล้วก็ลอยไป

พ่อแม่ท่านเลี้ยงมายาก                           จะกินขันหมากให้ได้

ไม่ได้กินหนมต้มอมน้ำตาล                      น้องไม่รับประทานของใคร

พวงเจ้าเอ๋ยมาลัย                                  ถอยหลังกลับไปเถิดเอย

ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง ต่างกันอย่างไร?

“ขนมต้มขาว” นั้น ใช้แป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม ข้างในมีไส้ที่ทำด้วยมะพร้าวเคี่ยวกับน้ำตาล แล้วนำไปต้มให้สุก ก่อนรับประทานก็โรยด้วยมะพร้าวขูด เมื่อกัดตัวแป้งนุ่ม ๆ เข้าไปจะเจอกับไส้มะพร้าวหวานลิ้น หอมหวนชวนกิน ส่วน “ขนมต้มแดง” มีลักษะเป็นแผ่นแป้งแบนไม่มีไส้ คลุกกับมะพร้าวและน้ำตาลปิ๊ปที่เคี่ยวจนเหนียวเป็นสีแดง กัดกินเข้าไปก็ได้รสหวานหอมกลิ่นมะพร้าวตั้งแต่คำแรกกันเลยทีเดียว…

ขนมต้มของภาคใต้จะต่างไปจากภาคกลาง ขนมต้มของภาคใต้จะเป็นข้าวเหนียวผสมน้ำกะทิห่อใบกะพ้อแล้วเอาไปต้ม บางท้องที่เรียกห่อต้ม ขนมที่ทำแบบนี้ทางภาคกลางเรียกข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มผัด

ขนมต้มแดง
ขนมต้มแดง

ขนมต้มทั้งสองชนิดเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ขนมต้มแดง เป็นขนมเก่าแก่เช่นเดียวกับขนมต้มขาว ในสมัยกรุงสุโขทัยใช้ในพิธีบวงสรวงสังเวยคู่กับขนมต้มขาว มีความแตกต่างกันคือ ขนมต้มแดงจะหวานจากด้านนอก ส่วนขนมต้มขาวจะหวานจากด้านในหรือหวานจากไส้ เรียกได้ว่าเป็นขนมเก่าแก่สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งใช้ในพิธีบวงสรวงสังเวย หรือใส่ในบายศรี ไหว้ครู

แจกสูตรขนมต้ม

ส่วนผสม

  • มะพร้าวขูดทึนทึก(ผัดไส้) 500 กรัม
  • มะพร้าวขูดทึนทึก(คลุกข้างนอก) 500
  • น้ำตาลมะพร้าว 500 กรัม
  • น้ำใบเตย(สำหรับผัดไส้)
  • เกลือ 1/2 ช้อนชา
  • แป้งข้าวเหนียว 500 กรัม
  • น้ำกะทิ 1 ถ้วย (ผสมแป้ง และผัดกับไส้)
  • งาขาวคั่ว 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำใบเตยคั้นสด(ทำแป้งใบเตย) 1 ถ้วย

วิธีทำ

  1. ผัดไส้ โดยใส่ มะพร้าวขูด น้ำตาลปีบ เกลือ น้ำกะทิ น้ำใบเตย ในกระทะ แล้วเคี่ยวไฟอ่อนๆ กวนไปเรื่อยๆ จนมะพร้าวแห้ง ไม่ติดกระทะ ไส้มะพร้าวสุกดีแล้วก็ ยกลงมาพักไว้ให้เย็น
  2. ไส้ขนมต้มเย็นลงแล้ว ก็ปั้นเป็นลูกเล็กๆเตรียมไว้
  3. นำแป้งข้าวเหนียวใส่ชาม เติมน้ำใบเตย และกะทิลงไป นวดให้เข้ากัน ให้แป้งนิ่มๆ
  4. ตั้งหม้อให้น้ำเดือด จากนั้นนำแป้งมาห่อไส้ขนมต้มที่เตรียมไว้ ปั้นเป็นกลมๆ จากนั้นใส่ลงไปในหม้อน้ำเดือด เมื่อขนมต้มสุกแล้ว ให้สังเกตว่ามันจะลอยขึ้นมาเอง
  5. นำขนมต้มที่สุกแล้วมาคลุกกับมะพร้าวขูกที่เตรียมไว้ จัดใส่จานพร้อมเสิร์ฟ

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://th.wikipedia.org

 

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.