บุหลันดั้นเมฆ ดาวล้อมเดือน

บุหลันดั้นเมฆ ดาวล้อมเดือน เมื่อพระจันทร์ดลใจ คนไทย และขนมหวาน – A Cuisine

บุหลันดั้นเมฆ ดาวล้อมเดือน

เมื่อพระจันทร์ดลใจ คนไทย และขนมหวาน

วันนี้ A Cuisine มีเรื่องราวดีๆมาฝากทุกๆคน ซึ่งวันนี้จะมาพูดถึงขนมไทยโบราณที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ…นั่นคือ บุหลันดั้นเมฆ ดาวล้อมเดือน ที่หลายๆคนพอจะคุ้นหูกันมาบ้าง หรือบางคนอาจจะรู้จักดี ที่นอกจากรูปลักษณ์ที่สวยงามชวนน่ารับประทานแล้ว ยังมีเรื่องราวดีๆ พร้อมเคล็ดลับการทำที่น่าสนใจ ที่หาจากไหนไม่ได้อีกแล้ว! มาดูกันเลยค่ะ ^ ^

13 กันยายน 2562 ปีนี้…

คือวันเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวจีนที่ปัจจุบันโรงแรมชั้นนำ รวมถึงร้านอาหารและภัตตาคารจีนหลายแห่งต่างจัดเทศกาลเฉลิมฉลองประเพณีไหว้พระจันทร์แบบจีนกันอย่างคึกคักและสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ ขนมไหว้พระจันทร์ นั่นเองทว่าในฐานะที่ฉันเป็นคนไทยแท้ๆ ก็เลยมาลองนึกดูบ้างว่าอาหารไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระจันทร์ นั้นมีบ้างหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ “มีแน่นอน”

เราคนไทย อาจไม่ได้มีเทศกาลไหว้พระจันทร์แบบคนจีนเป็นวาระที่ชัดเจน แต่ในระบบความเชื่อเรื่องพระจันทร์ของไทยนั้น สอดคล้องกับโหราศาสตร์กล่าวไว้ในตำราพรหมชาติว่า ดาวจันทร์ สร้างขึ้นจากนางฟ้า 15 องค์ พระจันทร์จึงเป็นตัวแทนแห่งสตรี ความเป็นแม่ ดาวจันทร์ เปรียบเป็นธาตุดินซุยไม่ใช่ดินแน่น จึงอาจหาความแน่นอนจากดาวดวงนี้ไม่ได้ แต่มีแสงสว่างในยามค่ำคืนจึงถูกแทนค่าในเรื่องของความรัก เสน่ห์ ความสวยงาม

นอกจากนี้คนไทยยังเชื่อว่า…

หากสตรีใด..ได้อาบน้ำใต้แสงจันทร์ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ก็จะช่วยให้สตรีนางนั้นมีเสน่ห์เป็นที่น่าหลงไหล จึงเกิดการ “อาบน้ำเพ็ญ” ขึ้นในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ ที่พระจันทร์เต็มดวง โดยเฉพาะ วันลอยกระทง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะทำกิจกรรมนี้ให้ได้ผลเลิศนอกจากความเชื่อดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วคนไทยยังมีขนมที่มีพระจันทร์เป็นแรงบันดาลใจ อยู่ด้วยเหมือนกัน

ขนม “บุหลันดั้นเมฆ” และ ขนม “ดาวล้อมเดือน” แค่ฟังจากชื่อก็รู้ชัดแล้วว่าขนมไทยทั้งสองอย่างต่างมีพระจันทร์เป็นแรงบันดาลใจเป็นแน่ขนม “บุหลันดั้นเมฆ” เป็นขนมไทยที่ฉันเคยลองทำตอนเป็นเด็กประถมจากตำราอาหารเก่าเก็บของแม่ชื่อว่า “ตำราอาหารยอดนิยม”

โดยในหนังสือเรียกชื่อขนมนี้ว่า “ขนมบุหลันดั้นเมฆี” สำหรับเด็กๆแล้วเห็นชื่อมันแปลกดี เลยวิ่งไปถามแม่ว่าแปลว่าอะไร คุณแม่ซึ่งเป็นครูภาษาไทย ตอบมาว่า

“คำว่า บุหลัน แปลว่า พระจันทร์ ส่วนคำว่า เมฆี แปลว่า เมฆ ” เลยพอจะแปลชื่อขนมนี้ให้เข้าใจได้ว่า “พระจันทร์ดั้นเมฆ” นั่นเอง แต่มาถึงบางอ้อ ก็ตอนทดลองทำและเห็นกับตา เพราะตำราอาหารสมัยก่อนไม่มีภาพประกอบ มีเพียงสูตรเท่านั้น…

บุหลันดั้นเมฆ

ความยากของขนมนี้ในความทรงจำวัยเด็กคือ…เราต้องนึ่งถ้วยตะไลให้ร้อนๆ รอไว้จากนั้นผสมแป้ง ที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า 6 ช้อนโต๊ะ แป้งเท้ายายม่อม 2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย 4 ช้อนโต๊ะ น้ำดอกไม้สด น้ำคั้นดอกอัญชันสีครามแก่ 1 ถ้วยตะไล ผสมให้ส่วนผสมข้นพอดี โดยทดสอบได้จากให้จุ่มนิ้วมือลงในส่วนผสมแป้งแล้วยกขึ้น กะให้แป้งเคลือบจับผิวหนังไว้ได้ ไม่เหลวไม่ข้นเกินไป ได้ที่แล้วนำส่วนผสมแป้งไปเทใส่ถ้วยตะไลที่นึ่งร้อนๆ เตรียมไว้ ปิดฝานึ่งประมาณ 1 นาที กะให้แป้งสุกติดถ้วยตะไล แต่แป้งส่วนตรงกลางถ้วยยังไม่สุก ครานี้ ใช้ที่คีบ คีบถ้วยตะไล เทน้ำแป้งที่ยังไม่สุกออก ให้เป็นหลุมตรงกลาง แล้วนำไข่แดงไข่ไก่ 2 ฟอง ตีผสมน้ำตาลตีให้เข้ากัน หยอดใส่ตรงกลาง ก่อนปิดฝานึ่งต่อจนไข่แดงสุก จึงนำขนมออกมาพักให้เย็น และแซะออกวางใส่จาน

ที่เกริ่นต้นย่อหน้าว่า “ถึงบางอ้อ” ก็เพราะหน้าตาขนมที่เสร็จแล้ว จะมีวงสีฟ้าของแป้งล้อมรอบสีเหลืองของไข่เป็นวงกลมตรงกลางเหมือนดวงจันทร์กำลังลอยอยู่กลางก้อนเมฆนั่นเอง นี้คือความทรงจำวัยเด็กของฉันขนมที่ทำออกมาก็ไม่ได้สวยงามมากหรอกคุณ ตามประสาเด็ก มันก็บูดๆ เบี้ยวๆ บ้าง

บุหลันดั้นเมฆ

ครานี้มาลองตามหาประวัติความเป็นมาของขนมชนิดนี้กัน..

อ่านต่อ คลิก ที่นี่เลยจ้า!

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.