ถาม : ถ้าการ เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น จะทำให้ต้องขัดแย้งกับครอบครัวและคนใกล้ชิด ควรทำอย่างไร
ตอบ : การเปลี่ยนศาสนานั้นทำได้ เพราะชีวิตเป็นเอกสิทธิ์ของเจ้าของชีวิต เราจึงมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง แต่หากการตัดสินใจของเราจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน ครอบครัว ฯลฯ แล้วละก็ อย่างนั้นแสดงว่าผิดวัตถุประสงค์ของศาสนาแล้ว เพราะเป็นการเปลี่ยนไปสู่ความมีปัญหา ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วนำไปสู่ความสงบสุข ดังที่ผู้เขียนเคยแนะนำศาสนิกอื่นที่มาปรึกษาปัญหาคล้ายคลึงกันนี้ว่า ความดีงามเป็นมงคล ให้เก็บรักษาไว้กับใจ โดยไม่ต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นให้มีปัญหาเกิดขึ้น
ถ้าเราทุกคนต่างทำความดีให้แก่กัน ย่อมไม่มีปัญหา เพราะทุกศาสนาสอนให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ดังนั้นหากต่างฝ่ายต่างปฏิบัติตามคำสอนที่แท้จริงของศาสนา ย่อมไม่ทำให้เกิดปัญหา
เช่นการเป็นชาวพุทธนั้น หากเป็นชาวพุทธแท้ ๆ ที่มีปัญญา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีปัญหาแสดงว่าไม่ใช่ชาวพุทธที่แท้ เพราะการเป็นชาวพุทธที่ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่จำเป็นต้องประกาศตัวว่าฉันเป็นชาวพุทธ และไม่ต้องไปวัดก็สามารถทำได้ อย่างการสวดมนต์ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ๆ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นต้นแล้ว หรืออย่างการนั่ง การนอน กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับภาวนาว่า “พุท – โธ” “ลมเข้า – ลมออก” หรือ “ออกซิเจน – คาร์บอนไดออกไซด์” ฯลฯ นี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นกลางแล้ว และเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิจวนแน่วแน่ ก็สามารถนำจิตมาพิจารณาสติปัฏฐาน 4 จนกระทั่งบรรลุธรรมขั้นสูงได้ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกถึงความเป็นชาวพุทธให้ขัดแย้งกับใครที่ไหน
อันที่จริงแล้วคำที่ใช้เรียกศาสนาทั้งหมดในโลกนั้นเป็นเพียงคำที่สมมติขึ้นมาเรียกทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ที่เข้าถึงความจริงสูงสุด เกิดปัญญาเห็นแจ้งแล้ว ย่อมพ้นไปจากสมมติ หรือที่เรียกว่า “วิมุตติ” เขาเหล่านั้นจึงไม่ติดอยู่ในสมมติบัญญัติใด ๆ อีก เพราะฉะนั้นไม่ว่าในบัตรประชาชนจะระบุว่าเขานับถือศาสนาอะไร แต่จิตของเขาย่อมไม่ติดอยู่ในศาสนานั้น ๆ อีกแล้ว เพราะคำสอนในศาสนาเป็นเพียงแค่สมมติบัญญัติเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้เมื่อคนไปถามไอน์สไตน์ว่าเขานับถือศาสนาอะไร เขาจึงบอกว่าไม่มีศาสนา แต่ถ้าถามว่าศาสนาที่ดีที่สุด และมีคำสอนที่เป็นเหตุเป็นผลถูกตรงที่สุดคือศาสนาอะไร เขาจึงตอบทันทีว่าคือศาสนาพุทธ แต่สำหรับตัวเขา เขาไม่มีศาสนา เพราะปัญญาของเขาเข้าถึงความเป็นจริงที่คนทั่วไปยังเข้าไม่ถึง
เพราะฉะนั้นการพูดว่าเรานับถือศาสนานั้นศาสนานี้ แท้จริงแล้วจึงเป็นเพียงเรื่องสมมติเท่านั้น แต่ความดีงาม และความชั่วที่มีอยู่กับใจนั้นต่างหากที่เป็นความจริงซึ่งบุคคลได้กระทำและเก็บสั่งสมไว้ในดวงจิต
ที่มา : เพราะถึงธรรมจึงพ้นโลก – ดร.สนอง วรอุไร สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
photo by truthseeker08 on pixabay
บทความน่าสนใจ
3 ลัทธิ ที่ชาวพุทธพึงทราบว่า “ไม่ใช่พระพุทธศาสนา” ว.วชิรเมธี