มูลนิธิรามาธิบดีฯ

“หัวใจดวงใหม่…ให้ชีวิต” เรื่องจริงจาก มูลนิธิรามาธิบดีฯ

“หัวใจดวงใหม่…ให้ชีวิต” เรื่องจริงจาก มูลนิธิรามาธิบดีฯ

“หัวใจของผมที่เต้นอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่หัวใจดวงเดียวกับตอนที่ผมเกิด” เรื่องจริงจากปากของคุณอิ๊ นิฐิธร ชายรูปร่างสูงโปร่งอายุ 36 ปี ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ถึงแม้ภายนอกดูแข็งแรง แต่ถูกโรคร้ายคุกคามชีวิต จนต้องยอมสละ “หัวใจดวงเก่า” เพื่อแลกกับการมีชีวิตใหม่ต่อไป ในฐานะคนไข้ของ มูลนิธิรามาธิบดีฯ

สัญญาณอันตราย

ปกติผมเป็นคนสุขภาพค่อนข้างแข็งแรง แต่ช่วงต้นปี 2557 เริ่มรู้สึกว่าร่างกายตัวเองผิดปกติตอนเดินขึ้นบันไดชันๆ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อีกอย่างที่แปลกคือ พอเป็นหวัดแล้วจะหายยากมาก

จากนั้นไม่นานประมาณกลางเดือนเมษายน คืนนั้นผมอยู่เวรที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ จู่ ๆ รู้สึกปวดท้อง นอนราบไม่ได้ หายใจไม่ออกเหมือนมีคนมาบีบจมูก ทำให้ตกใจตื่นตลอดทั้งคืน เลยตัดสินใจวิ่งลงมาที่ห้องฉุกเฉิน หมอรีบส่งไปเอกซเรย์ จึงรู้ว่าน้ำท่วมปอด แต่ก็ยังไม่น่าตกใจเท่ากับผลอัลตราซาวด์หัวใจที่ออกมาว่าผมเป็นทั้งหัวใจโต หัวใจบีบตัวได้น้อย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หลังจากรู้ผลผมก็ไปต่อไม่ถูกเหมือนกัน จะบอกว่าเป็นหนึ่งในข่าวร้ายที่สุดในชีวิตก็ว่าได้

เป็น/ตาย เท่ากัน

หมอเริ่มรักษาด้วยการให้ยาทานมาตลอด ซึ่งมีทั้งช่วงที่อาการดีบ้างไม่ดีบ้าง สลับกันแบบนี้มาตลอด 1 ปี แต่อาการมาแย่จริง ๆ ช่วงปี 2558 เลยย้ายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่รักษามากว่า 2 ปี อาการผมก็ยังไม่ดีขึ้น จนมาถึงช่วงเดือนกันยายน 2560 รู้สึกว่าอาการแย่ลงที่สุดตั้งแต่เป็นมา จึงต้องแอดมิทที่โรงพยาบาลนานกว่า 1 เดือน

ผมจำได้แม่นเลยว่า คืนวันที่ 26 ตุลาคม ผมนอนอยู่ที่โรงพยาบาลแล้วรู้สึกมีลางสังหรณ์ไม่ดี เลยบอกแฟนว่าอย่าเพิ่งกลับบ้าน จากนั้นไม่กี่นาทีผมก็หายใจเข้าไม่ได้ หายใจไม่ทัน แล้วก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย พอแฟนเห็น เลยวิ่งไปตามอาจารย์มาช่วย สรุปว่าหัวใจผมวาย ทำงานได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วมีอาการน้ำท่วมปอด ตับวาย ไตวาย เรียกง่าย ๆ ว่า ความเป็นความตายเท่ากัน คืนนั้นทีมแพทย์เลยผ่าตัดใส่เครื่องเอคโม่ (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอดให้ผม ผมรู้สึกตัวอีกทีตอนประมาณตี 2 เห็นตัวเองในสภาพที่มีสายระโยงระยางเต็มตัว

เปลี่ยนหัวใจ

หลังจากนั้นทีมหมอมีแผนที่จะส่งตัวผมไปผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี วิธีการก็คือการผ่าตัดเอาหัวใจของผู้ป่วยสมองตายมาใช้แทนอันเดิมของผม เพราะตอนนั้นที่รามาฯมีโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจอยู่พอดี ตอนแรกรู้สึกกลัวอยู่เหมือนกัน ที่กลัวเพราะหัวใจคนเรามีดวงเดียว ถ้าพลาดนั่นอาจหมายถึงชีวิตเลยก็ได้ แต่มันก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ทางเลือกในตอนนั้นที่อาจทำให้ผมรอดชีวิต อีกเรื่องที่กลัวคือกลัวว่าจะไม่มีคนที่มีค่าเนื้อเยื่อ หรือค่าเลือดที่ตรงกับผม ซึ่งผมอาจจะต้องรอไปอีกนานเท่าไรก็ไม่รู้ครับ

พอวันที่ 30 ต.ค. แฟนผมและญาติ ๆ เริ่มวางแผนว่าจะส่งผมไปเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจที่โรงพยาบาลรามาธิบดีด้วยวิธีใด โจทย์ที่ยากมากคือผมต้องไปถึงที่รามาฯให้เร็วที่สุด เพราะแบตเตอรี่เครื่องมือเอคโม่อยู่ได้นานแค่ 4 ชั่วโมง สุดท้ายมาจบด้วยการนั่งเครื่องบินเจ็ทขนาดเล็กที่เป็นบริการขนส่งผู้ป่วยทางอากาศ ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ข้อดีคือรวดเร็วกว่าพาหนะแบบอื่น ๆ อีกทั้งมีหมอพยาบาลประจำเครื่อง วิศวกรดูแลเครื่อง และคนดูแลเครื่องมือแพทย์ ทุกคนเลยอุ่นใจ ตัดสินใจเลือกวิธีนี้

ผมถูกลำเลียงขึ้นเครื่องในตอนที่ยังพอรู้สึกตัว พร้อมกับเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ล้อมรอบตัว และความหวังที่จะได้ขีวิตใหม่กลับคืนมา ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง เครื่องบินก็พาผมมาถึงสนามบินดอนเมืองและนั่นคือความรู้สึกสุดท้ายที่ผมจำได้

ใจใหม่ ชีวิตใหม่

“ผ่าตัดเรียบร้อยแล้วนะ” คือประโยคแรกที่ผมได้ยินจากผู้ชายหน้าตาไม่คุ้นเคย หลังจากไม่รู้สึกตัวนานกว่า 2 วัน แต่ถ้าให้เดาก็คงจะเป็นหมอที่รักษาผมนั่นแหละ จริงๆแล้ว ผมรู้สึกว่าแค่หลับไปเพียงครู่เดียวเท่านั้น แต่พอคลำไปที่หน้าอก ก็เจอแผลผ่าตัดเป็นทางยาว แต่ไม่รู้สึกเจ็บ อาจเพราะยาชากำลังออกฤทธิ์อยู่ ผมพยายามจับแผลอยู่หลายครั้ง เพื่อให้ตัวเองแน่ใจว่าไม่ได้ฝันไปจริงๆ
อีกคำถามที่ยังค้างคาในใจ “ทำไมผมถึงได้หัวใจบริจาคเร็วนัก?” เพราะตอนที่หมอส่งตัวมา ได้วางแผนว่าจะรักษาแบบประคับประคองไปก่อนจนกว่าจะได้หัวใจบริจาค พี่พยาบาลที่หอผู้ป่วยก็มาเล่าให้ฟังถึงความบังเอิญที่เหลือเชื่อว่า ผมได้รับหัวใจบริจาคจากผู้ป่วยสมองตายที่มาประสบอุบัติเหตุใกล้โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเหตุเกิดในวันเดียวกับวันที่ผมหัวใจวายพอดี ความโชคดีอีกอย่างคือค่าเนื้อเยื่อกับค่าเลือดของผมกับเขาเข้ากันได้ อีกทั้งครอบครัวของเขาก็ยินดีที่จะบริจาคหัวใจให้ผมด้วย ทำให้ทีมแพทย์สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้เลยทันที ไม่ต้องรอหัวใจนานเหมือนคนอื่น ๆ ที่โดยเฉลี่ยต้องรอนานถึง 60 วัน!

แรงใจ ใกล้แค่เอื้อม

หลังจากผ่าตัดผมต้องอยู่ในห้องปลอดเชื้อกั้นด้วยกระจกบาง ห้ามคนเยี่ยม หัวใจรู้สึกมีแรงอีกครั้ง เมื่อเห็นภรรยาและลูกมายืนอยู่ตรงกระจก ผมสื่อสารได้เพียงเขียนข้อความลงในกระดาษเท่านั้น ผมใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 4 เดือน แบ่งเป็นนอนรักษาตัวที่รามา 2 เดือน และหลังจากนั้นมาพักฟื้นที่บ้านในกรุงเทพฯ เพราะต้องมาพบหมอทุกอาทิตย์ กว่าจะได้กลับสงขลาก็วันที่ 24 เม.ย.2561 พอช่วงกลางเดือน พ.ค. จึงกลับไปทางานได้

ผมยอมรับว่าการปลูกถ่ายหัวใจทำให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเยอะมาก เช่น ห้ามกินผักสด ห้ามเลี้ยงสัตว์ เลี่ยงยกของหนัก แม้กระทั่งการกินยา ที่ต้องกินยากดภูมิ และยาสเตียรอยด์ ไปตลอดชีวิต ฟังดูอาจจะเยอะ แต่ผมอยากจะบอกคนที่ต้องผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจว่า ไม่ต้องกลัว ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปไกล บุคลากรมีความสามารถ อยากให้เชื่อว่าเราจะสามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวได้เหมือนเดิม ส่วนคนที่เป็นผู้บริจาคไม่ว่าจะเป็นญาติของผู้ป่วยสมองตายทุกคน ที่เสียสละบริจาคหัวใจให้ผมและผู้ป่วยคนอื่นๆ หรือ คนที่ร่วมบริจาคทุนทรัพย์เข้าโครงการฯของโรงพยาบาลรามาธิบดี ผมต้องขอขอบคุณจากหัวใจ เพราะอย่างน้อยก็ช่วยต่อชีวิตของผมและผู้ป่วยคนอื่นๆ ให้มีวันนี้ ครับ”

มาร่วมเป็นสะพานบุญ เพื่อส่งต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุนได้ที่ บัญชีมูลนิธิรามาธิบดีฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-3-05216-3 หรือธนาคารกรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน สาขาศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (รพ.รามาธิบดี) เลขที่บัญชี 090-3-50015-5 หรือเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ramafoundation.or.th หรือ โทร.02-201-1111 คำว่าให้ … ไม่สิ้นสุด

 

ประวัติเจ้าของเรื่อง

คุณนิฐิธร ลุ้นลิ่ว (อิ๊)
อายุ : 36 ปี
อาการ : โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจโต หัวใจบีบตัวได้น้อย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ รักษาด้วยวิธีผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเมื่อเดือน พ.ย. 60
ภูมิลำเนา : อาเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
อาชีพ : พนักงานคอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา
สิทธิการรักษา : ประกันสังคม

 

ข้อคิดจากพระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

สิ่งที่ยากที่สุดในโลกคือ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ (กิจฺโฉ มนุสฺสปฺปฏิลาโภ) แต่สิ่งที่ยากไปกว่านั้น คือ การดำรงชีวิตให้ดี (กิจฉํ มจฺจานชีวิตํ) ประคับประคองตนเองให้มีความสุขสมหวังสำเร็จตามอัตภาพที่จะพึงมี การมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สมประกอบก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากเหลือเกิน บางคนอาจจะมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ถือว่าเป็นโชคอย่างยิ่ง แต่บางคนกลับมีโรคประจำตัวติดมาตั้งแต่เกิด เจ็บออดๆ แอดๆ ไม่สมประกอบก็มี ความผิดปกติทางด้านร่างกายนับว่าเป็นโรคอย่างหนึ่ง อาจจะมาเร็ว อาจจะมาช้า ล้วนเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ดังคำที่ว่า ชีวิตของสัตว์ในโลกนี้ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย (อนิมิตฺตมนญฺญาตํ มจฺจานํ อิธ ชีวิตํ) ใครก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่ปี อายุขัยจะสิ้นสุดที่ตอนไหน แต่ในกรณีที่เมื่อเราประสบกับโรคและอยู่ในภาวะที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ตนเอง กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องของใจเหนือสิ่งอื่นใด เพราะธรรมทั้งหลายมีใจเป็นนาย ดังนั้น ต้องดูแลใจ เมื่อใจปกติก็จะส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงตามไปด้วย แต่ถ้าโชคดีได้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะทั้งที่หาโอกาสและเวลาได้ยาก แสดงว่าต้องมีบุญสั่งสมมา จึงประจวบเหมาะลงตัวทันเวลาแบบนี้ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อเรามีโอกาสต้องรู้จักแบ่งปันเสียสละให้ผู้อื่นบ้าง เมื่อถึงคราวที่เราต้องลำบากอาจจะโชคดีมีผู้ช่วยเหลือได้ทันเวลาแบบนี้ เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงคำพูดของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ว่า

” จงจำไว้นะ เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้ ครั้นถึงเวลา ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า “

ฉะนั้น ขอให้ยึดมั่นในการประกอบบุญและความดี เพราะเมื่อทำความดีแล้วชีวิตก็จะดีและประสบแต่สิ่งดีๆ เป็นผลตามมาอย่างแน่นอน

 

มูลนิธิรามาธิบดีฯ

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

โมเมนท์น่ารัก!!! เมื่อเหล่า เซเล็บฮอลลีวูด เติมฝันให้เด็กป่วยในโรงพยาบาล

ครูณัฐ ครูหนุ่มใจหล่อ นำเงินบริจาคมอบให้ รพ.สังขละบุรีและร่วมกิจกรรมวิ่งของโรงพยาบาล

ตำรวจจอร์เจียอบอุ่น โอบกอดเด็กน้อยในโรงพยาบาล แทนอ้อมกอดของพ่อแม่

มูลนิธิรามาธิบดีฯ เปิดตัวช่องทางบริจาคผ่านมือถือ สมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

มูลนิธิรามาธิบดีฯ เปิดตัวโครงการ “HAPPY GIVE DAY…ให้วันเกิดต่อชีวิตคนนับล้าน”

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.