เสียงที่เปี่ยมด้วยพลังของ ภิกษุณีคาร์มา เลคเช โทโม – เสียงของคนเรามีพลังมหาศาล เสียงหนึ่งเสียงอาจเปลี่ยน “คำถาม” ให้เป็น “คำตอบ” และเปลี่ยน “ความไม่รู้” ให้เป็น “ความรู้” ขึ้นมาได้
ท่านคาร์มา เลคเช โทโม (Karma Lekshe Tsomo) ภิกษุณีในพระพุทธศาสนานิกายวัชรญาณแบบทิเบตเข้าใจความจริงข้อนี้เป็นอย่างดีตั้งแต่ท่านยังเล็ก
สมัยเป็นเด็ก ท่านเลคเช หรือ “เด็กหญิงแพทริเชีย ฌอง เซนน์” (Patricia Jean Zenn) อยากรู้เหลือเกินว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังความตาย แม้จะเป็นเพียงเด็กเล็กๆ แต่แพทริเชียก็ไม่ได้เก็บความสงสัยไว้ในใจ เธอรบเร้าถามคำถามนี้กับพ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัว ซึ่งทุกๆ คนต่างตอบเธอว่า “คนดีจะได้ไปสวรรค์ ส่วนคนชั่วต้องตกนรก”
ได้ยินอย่างนี้แพทริเชียก็ได้แต่รู้สึกวิตกกังวล เพราะเธอเป็นเด็กที่ทั้งดื้อและซนมาก จึงกลัวว่าจะต้องตกนรก นอกจากนั้นเธอก็คิดว่า คำตอบของคำถามที่ยิ่งใหญ่ (สำหรับเธอ) ไม่น่าจะมีทางเลือกแค่สองทางเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในปี 1965 แพทริเชียได้เดินทางไปเรียนพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย และมีโอกาสได้ถามคำถามนี้อีกครั้ง ทว่าคราวนี้ “ลามะ” หรือพระชั้นสูงของทิเบต ซึ่งเป็นอาจารย์ในวันนั้นสามารถให้คำตอบที่เธอพอใจได้
พระอาจารย์อธิบายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า คนเราต้องเจออะไรบ้างหลังความตาย อธิบายถึงเรื่อง “กรรม” หรือการกระทำ ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้คนเราต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด แพทริเชียดีใจที่ได้รู้ว่าคนเรานั้นไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ ก็เกิด และเมื่อตาย ถึงแม้ร่างกายเน่าเปื่อย แต่จิตใจไม่ได้สาบสูญไปด้วย
แพทริเชียในวัย 19 ปีรู้สึกว่าคำตอบนี้เป็นคำตอบที่มีเหตุผล เธอเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาและปรารถนาที่จะออกบวชตั้งแต่นั้น แต่เนื่องจากที่อินเดียในสมัยนั้นไม่มีวัดสำหรับนักบวชสตรี เธอจึงกลับมาเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งจบปริญญาตรี ด้านภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และปริญญาโท สาขาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาวาย จากนั้นเธอจึงเดินทางกลับมาที่อินเดียอีกครั้ง
การกลับมาครั้งนี้ แพทริเชียได้เรียนธรรมะที่ธรรมศาลาขององค์ทะไลลามะ ซึ่งนอกจากธรรมศาลาจะเป็นสถานที่หลบภัยของชาวทิเบตแล้ว ยังเป็นสถานที่เผยแผ่ธรรมะที่สำคัญ และมีชั้นเรียนสอนพุทธศาสนาสำหรับชาวตะวันตกซึ่งสอนด้วยภาษาอังกฤษหลายชั้นเรียน
ท่านเลคเชใช้ชีวิตในชื่อแพทริเชียจนถึงปี 1977 จากนั้นท่านได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณี และยังคงศึกษาธรรมะในธรรมศาลาต่อมานานกว่าสิบปี ท่านต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เริ่มตั้งแต่ความยากลำบากในการบิณฑบาต เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศยากจน คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดท่านเลคเชซึ่งเป็นชาวอเมริกัน มาจากประเทศร่ำรวย จึงไม่ทำงานอย่างคนทั่วไป และต้องเลี้ยงชีพด้วยการขออาหารจากพวกเขา
ช่วงปีแรกของการบวช ท่านเลคเชต้องใช้เงินส่วนตัวซื้ออาหารฉัน ปีต่อมาจึงได้ความอนุเคราะห์จากชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่งซึ่งถวายอาหารให้ท่านวันละหนึ่งมื้อเล็กๆ ล่วงมาถึงปีที่สี่ เมื่อเงินส่วนตัวหมด ท่านก็ต้องอดบ้างอิ่มบ้าง…แล้วแต่วัน สมัยนั้นท่านล้มป่วยบ่อยมาก จนผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอย่างน่าตกใจ
อย่างไรก็ดี ท่านเลคเชได้กำลังใจจากพระอาจารย์ของท่านมาโดยตลอด และตระหนักอยู่ทุกลมหายใจว่า การออกบวชคือทางชีวิตที่ถูกต้องสำหรับท่าน จึงไม่เคยท้อแท้หรือสิ้นหวัง
ท่านเลคเชกล่าวว่า ไม่ว่าคนเราจะเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่หนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชีวิตเต็มไปด้วยความผิดหวัง” อย่างไรก็ดี แม้แต่ความทุกข์ก็ยังตั้งหนีไม่พ้น กฎอนัตตา คือ ต้องเปลี่ยนแปลงและเสื่อมไปในวันหนึ่ง
ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ ชาวพุทธที่แท้ต้องกล้าบอกกับตัวเองว่า “ฉันรู้ว่าชีวิตคือความไม่แน่นอน แต่ฉันจะเลือกใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” จากนั้นต้องพยายามมีสติอยู่กับปัจจุบัน…อยู่กับความจริงและมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ การทำเช่นนี้จะทำให้เรามีความสุขจาก ณ ขณะหนึ่งสู่อีก ณ ขณะหนึ่งต่อเนื่องเช่นนี้เรื่อยไป
ท่านเลคเชตระหนักดีว่า กว่าที่ผู้หญิงจะบวชได้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย อย่างที่ธรรมศาลา ท่านเลคเชเล็งเห็นว่า ปัญหาสำคัญของการศึกษาธรรมะคือเรื่อง “ภาษา” เพราะหากไม่รู้ภาษาทิเบตหรือภาษาอังกฤษก็ยากที่จะเรียนรู้ธรรมะจากพระคัมภีร์ได้
ในปี 1988 ท่านเลคเชจึงได้ก่อตั้งบ้านสำหรับภิกษุณีขึ้นที่ธรรมศาลา จัดให้มีการสอนภาษาอังกฤษ ภาษาทิเบต สอนธรรมะและปฏิบัติธรรมร่วมกันทุกวัน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประชุมในสังฆะเป็นประจำเพื่อให้นักบวชหญิงมีโอกาสพูดและแสดงความคิดเห็น อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความกล้าหาญและสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดียิ่ง แม้ว่าสถานที่แห่งนี้จะสามารถรองรับพุทธสาวิกาได้เพียง 20 รูปเท่านั้น
ในปี 1989 ขณะที่กำลังสำรวจที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักแห่งใหม่ ท่านเลคเชก็ถูกงูกัดที่แขนขวา ท่านสลบไปสองสัปดาห์ แต่กลับรอดตายได้อย่างปาฏิหาริย์ จากนั้นท่านถูกส่งตัวไปรักษาที่สหรัฐอเมริกา เวลานั้นท่านไม่สามารถขยับแขนได้เลย และต้องใช้เวลาทำกายภาพบำบัดนานถึงหนึ่งปีจึงสามารถกลับมาใช้แขนขวาได้อีกครั้ง โอกาสนี้ท่านเลคเชได้กลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านศาสนาในเอเชีย และปริญญาเอก สาขาปรัชญาเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย หลังจากนั้นท่านเริ่มทำงานสอนหนังสือ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเทววิทยาและการศึกษาเกี่ยวกับศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยแซนดีเอโก
ทุกวันนี้ ด้วยวัย 74 ปี ท่านเลคเชยังต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งสอนหนังสือ เผยแผ่ธรรมะ และแสดงปาฐกถาในที่ต่างๆ เพื่อเป็นกระบอกเสียงของผู้หญิงที่ต้องการเรียนรู้ธรรมะ ท่านก่อตั้งมูลนิธิจัมยัง (Jamyang Foundation) เพื่อสร้างวัดสำหรับนักบวชสตรีและหาทุนสนับสนุนการศึกษาของแม่ชีรุ่นเยาว์ในประเทศที่ยากจนแถบหลังคาโลกอย่างอินเดียและบังคลาเทศ ท่านเป็นประธานองค์กรศากยธิดา (แปลว่า ธิดาของพระพุทธเจ้า) ซึ่งเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นของพุทธสาวิกากว่า 300 ล้านคนทั่วโลก เพื่อจุดประกายให้ผู้ร่วมงานมีแรงบันดาลใจในการทำความดี และสร้างแรงผลักดันให้เกิดสันติภาพและความเสมอภาคขึ้นในโลก
นั่นเพราะท่านเลคเชรู้ว่า เสียงหนึ่งเสียงมีความสำคัญ และหากสามารถรวมพลังจากหลายเสียงหลายความเห็น ถ้อยคำนั้นก็จะมีพลังมากขึ้น
และคงจะดีไม่น้อยถ้าผู้หญิงพูด…แล้วมีคนฟัง
ที่มา : นิตยสาร Secret
เรื่อง : Violet
ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร