วันปรินิพพานของพระสารีบุตร

วันปรินิพพานของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศทางปัญญา

วันปรินิพพานของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศทางปัญญา

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 นอกจากเป็นวันลอยกระทงที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็น วันปรินิพพานของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศทางปัญญา ที่หาใครเสมอเหมือนมิได้

ในอรรถกถากล่าวว่า พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ดับขันธปรินิพานในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

 

ทูลลาพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน

เมื่อพระสารีบุตรทราบว่าในอีก 7 วัน ท่านจะดับขันธปรินิพพาน จึงนึกถึงมารดาบังเกิดเกล้า มารดาของท่านมีบุตรทั้งหมด 7 คน ล้วนบรรลุอรหัตตผล เว้นแต่มารดาผู้ให้กำเนิดเท่านั้นที่ยังไม่มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงไม่ได้เป็นอริยบุคคล

พระสารีบุตรตรวจดูอุปนิสัยของมารดา เห็นว่าสามารถบรรลุได้อย่างน้อยก็เป็นพระโสดาบัน ท่านจึงเข้าเฝ้าทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อกลับไปโปรดมารดาและเข้าพระนิพพาน ณ บ้านนาฬกะ แคว้นมคธ

พระสารีบุตรทูลขอขมาพระพุทธเจ้าหากเคยล่วงเกินพระองค์มาทั้งทางกายและวาจา พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เห็นพระสารีบุตรจะล่วงเกินพระองค์ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือวาจาเลย จึงประทานอนุญาตให้กลับไปดับขันธ์ที่บ้านเกิด พระสารีบุตรมีพระภิกษุรูปอื่นติดตามไปด้วย 500 รูป

ด้วยบ้านนาฬกะ อยู่ไกลจากพระเชตวันมาก ต้องใช้เวลาเดินทาง เกือบ 7 วันจึงจะถึง ระหว่างทางพระสารีบุตรก็สงเคราะห์มนุษย์ที่พบระหว่างทางจนกระทั่งถึงบ้านเกิด

 

เทวดาเฝ้าอาการอาพาธของพระสารีบุตร

เมื่อมารดาเห็นพระสารีบุตรกลับมาบ้าน ก็คิดประหลาดใจว่าพระลูกชายบวชเรียนมานานหลายพรรษา (44 พรรษา) จะมาสึกเอาตอนแก่ละกระมังถึงกลับมาบ้าน  มารดาจัดห้องให้พระสารีบุตรพักเป็นห้องที่เคยทำคลอดพระสารีบุตร รวมทั้งจัดที่พักให้พระภิกษุอีก 500 รูปที่ติดตามมาด้วย

พระสารีบุตรเกิดอาพาธถ่ายเป็นเลือด พระภิกษุที่ติดตามมาต้องเปลี่ยนภาชนะถ่ายมูตรทิ้งตลอดเวลา มารดาไม่สบายใจเมื่อเห็นอาการป่วยของพระลูกชาย

ในค่ำคืนนั้นท้าวจตุโลกบาล ท้าวสักกะเทวราช (พระอินทร์) และท้าวมหาพรหม มาเฝ้าพระสารีบุตรถึงในห้อง มารดาสงสัยจึงถามพระสารีบุตรว่า

“ลูกแม่ เจ้าใหญ่กว่าจอมเทพทั้ง 4 ท้าวสักกะจอมสวรรค์ และท้าวมหาพรหมที่แม่นับถืออีกหรือ ”

“หาไม่เช่นนั้นหรอกท่านแม่ ผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าจอมเทพเหล่านั้นคือพระผู้มีพระภาคเจ้า พระศาสดาของลูกเอง ท้าวจตุโลกบาล เป็นผู้คอยพิทักษ์พระพุทธเจ้าตั้งแต่พระองค์ประสูติ ท้าวสักกะเทวราช เป็นผู้คอยรับใช้พระพุทธเจ้า ตอนพระองค์เสด็จลงจากเทวโลกหลังจากโปรดพระพุทธมารดา ท้าวสักกะเทวราชคอยถือบาตรและเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ให้พระพุทธเจ้า ส่วนท้าวมหาพรหม เป็นผู้นำตาข่ายเงินมารองรับพระองค์ไว้หลังจากประสูติ”

มารดาของพระสารีบุตรได้ยินดังนั้นก็เกิดจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

“แม้บุตรชายเรามีอานุภาพจนกระทั่งจอมเทพและมหาเทพยังเคารพถึงเพียงนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของบุตรชายยังมีอานุภาพยิ่งกว่า”

จากนั้นมารดาบังเกิดปีติ 5 ได้แก่

1. ขุททกาปีติ หมายถึง ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล หลั่งสารทางเพศ

2. ขณิกาปีติ หมายถึง ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบ ๆ เป็นขณะ ๆ ดุจฟ้าแลบ เสียวซ่านถึงรูขุมขน

3. โอกกันติกาปีติ หมายถึง ปีติเป็นระลอก หรือปีติเป็นพัก ๆ ทำให้รู้สึกซู่ลงมา ๆ ในกายดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง

4. อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ หมายถึง ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรง ให้รู้สึกใจฟู แสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา เหมือนลอยขึ้นไปในอากาศ

5. ผรณาปีติ หมายถึง ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านเอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้

 

พระสารีบุตรโปรดมารดา

พระสารีบุตรจึงเทศนาเรื่องพุทธประวัติ ตั้งแต่ตอนประสูติถึงตอนประกาศพระธรรม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และเรื่องพระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างพิสดาร มารดารับฟังจนจบก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสารีบุตรทำหน้าที่ของบุตรให้บุพการีได้เป็นพระโสดาบัน เกิดอีก 7 ชาติก็จะบรรลุอรหัตตผล

จากนั้นพระสารีบุตรเข้าพระนิพพาน มารดาเห็นพระสารีบุตรนอนนิ่ง จึงเข้าไปดูอาการและทราบว่าบพระลูกชายสิ้นลมแล้ว นางจึงครวญด้วยความเสียใจว่า ไม่เคยรู้คุณของบุตรผู้บรรลุอรหัตตผล ไม่รู้คุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้ว จึงขอเข้าถึงพระรัตนตรัยตลอดไป

 

ที่มา : วันพุทธ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ไม่มีในปฏิทิน

 

 


บทความน่าสนใจ

สอง อัครสาวก ซ้าย – ขวา ผู้ทำให้ เมล็ดพันธุ์ แห่ง ศรัทธา ผลิดอกออกผล

พระเรวตเถระ ผู้หนี พิธีวิวาห์ เพื่อบรรลุ อรหัตตผล

ญาณ ๑๖ บันไดแห่ง การบรรลุธรรม

บันได 3 ขั้นสู่การ บรรลุนิพพาน ด้วยตัวเอง

ยักษิณี “กาลี” ผู้ บรรลุโสดาปัตติผล ได้ด้วยการ เลิกจองเวร

แม้ข้าวเพียง ทัพพีเดียว ก็เป็นบุญ พระพุทธเจ้าสอน ญาติพระสารีบุต รเรื่องการทำบุญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.