กุมภโฆสก เศรษฐีผู้ประกอบด้วยธรรม – คราวหนึ่งในเมืองราชคฤห์เกิดอหิวาต์ระบาดหนัก สัตว์น้อยใหญ่และผู้คนพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก เศรษฐีและภรรยาคู่หนึ่งจึงบอกกับลูกชายของตนว่า
“กุมภโฆสกลูกรัก การหนีโรคชนิดนี้ ท่านว่าต้องพังฝาเรือนไป (ออกทางประตูปกติไม่ได้) เจ้าจงทำอย่างนั้นเถิด อย่าห่วงใยพ่อแม่เลย และหากเจ้ายังไม่ตาย ก็จงกลับมาขุดเอาทรัพย์ซึ่งพ่อแม่ฝังไว้หาเลี้ยงชีพต่อไป”
เด็กน้อยเชื่อฟัง ร้องไห้ไหว้พ่อแม่แล้วพังฝาเรือนหนีไปอยู่ที่ภูเขาลูกหนึ่งเป็นเวลาถึง 12 ปี เมื่อกลับมาเขาโตเป็นหนุ่มแล้ว จึงไม่มีใครจำเขาได้ เขาเข้าบ้านไปขุดดูที่ฝังทรัพย์สมบัติ เห็นยังเรียบร้อยดีอยู่ เงินทั้งหมดมีอยู่ถึง 400 ล้านกหาปณะ เขาจึงคิดว่า “ใครๆ ก็จำเราไม่ได้ ถ้าเราขุดเงินออกมาใช้ ชาวบ้านจะสงสัยว่าเราเอาเงินมาจากไหน แล้วเดี๋ยวก็จะมาจับเรา เราควรเก็บเงินไว้ แล้วไปหางานทำดีกว่า”
กุมภโฆสกได้งานเป็นยามปลุกคนงานตอนเช้ามืด มีเรือนพักเล็กๆ หลังหนึ่งอาศัยอยู่คนเดียว
เช้าวันหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารได้ยินเสียงของเขา โดยปกติพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้รู้เสียงสัตว์ทุกชนิด เมื่อได้ยินเสียงของเขา จึงตรัสว่า “นั่นเป็นเสียงของคนมีทรัพย์มาก”
นางสนมคนหนึ่งยืนเฝ้าอยู่ใกล้ๆ คิดว่าพระราชาคงไม่ตรัสอะไรเหลวไหล จึงให้คนไปสืบดู แต่กลับพบว่าเป็นเสียงของยามจนๆ คนหนึ่งเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารฟังเรื่องที่นางบอกแล้วก็นิ่งเฉยเสีย
วันต่อมาพระองค์ยังคงตรัสเช่นเดิม นางสนมจึงทูลขอทรัพย์จากพระองค์หนึ่งพันกหาปณะเพื่อจะนำไปทำอุบายเอาทรัพย์จากชายผู้นั้นมาถวาย พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงมอบให้นางไป
เมื่อได้เงินมาแล้ว นางสนมพร้อมกับลูกสาวก็แกล้งแต่งตัวปอนๆ ทำทีเป็นคนยากจนแล้วไปยังที่อยู่ของพวกคนรับจ้างและเข้าไปขอพักอาศัยในเรือนหลังหนึ่ง แต่เจ้าของปฏิเสธว่ามีคนอยู่มาก ให้ไปอาศัยอยู่กับกุมภโฆสกซึ่งอยู่คนเดียว
กุมภโฆสกปฏิเสธ แต่นางก็อ้อนวอนหลายครั้ง จนต้องยอมให้พักอยู่ด้วยอย่างเสียไม่ได้
วันรุ่งขึ้นเมื่อกุมภโฆสกจะออกไปทำงานนอกบ้าน นางได้ขอค่าอาหารไว้สำหรับทำอาหารให้
“ไม่ต้องก็ได้ ฉันทำกินเองได้ ฉันทำกินของฉันเองมาตลอด”
แต่นางก็อ้อนวอนจนสำเร็จ โดยไม่ได้ใช้ทรัพย์ของเขาไปซื้อหาอะไร เพียงแต่รับไว้เท่านั้น นางไปซื้อข้าวสารอย่างดี ปรุงอาหารรสดีอย่างชาววังรสเลิศอย่างที่พระราชาเสวยให้กับเขา
เมื่อกุมภโฆสกกลับมาได้ลิ้มรสอาหารเช่นนั้นก็เบิกบาน นางเห็นแล้วจึงขอพักอยู่ต่อ เขาก็อนุญาตด้วยความพอใจ นางหุงต้มอย่างดีให้เขาและขออาศัยอยู่ต่อเรื่อยมา
ต่อมานางอยากให้กุมภโฆสกรักกับลูกสาว จึงวางอุบายแอบตัดเชือกที่ถักเป็นเตียงของเขา และบอกว่าเด็กๆ เข้ามาเล่นจนเตียงขาด เขาบอกว่าเมื่อไม่มีเตียงแล้วจะนอนอย่างไร นางจึงบอกให้เขาเข้าไปนอนกับลูกสาว ทั้งสองจึงได้เป็นสามีภรรยากันในคืนนั้น
ต่อมาอีก 2 – 3 วัน นางส่งข่าวไปขอให้พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดงานมหรสพในถนน และหากคนงานรับจ้างคนใดไม่จัดมหรสพในบ้านจะต้องถูกปรับ
กุมภโฆสกทราบข่าวก็บอกกับแม่ยายว่าเขาไม่มีเงินจัด นางจึงบอกว่า
“ลูกเอ๋ย ธรรมดาคนครองเรือนก็ต้องเป็นหนี้บ้าง เมื่อเจ้าไม่มีก็ไปยืมใครมาก่อนสิ แล้วค่อยใช้คืนเขา ไปเถอะ ไปยืมมาสักหนึ่งหรือสองกหาปณะก็พอ”
กุมภโฆสกนึกติเตียนแม่ยาย พึมพำแล้วออกจากบ้านกลับไปขุดเงินที่ฝังไว้มาให้ 1 กหาปณะ นางก็ส่งกหาปณะนั้นไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร
พอล่วงไป 2 – 3 วัน นางจึงทูลขอให้พระเจ้าพิมพิสารมีพระบรมราชโองการให้จัดมหรสพอีก กุมภโฆสกจึงต้องนำเงินมาให้นางอีก 1 กหาปณะ นางก็ส่งไปถวายพระเจ้าพิมพิสารอีกครั้ง
หลังจากนั้นสองสามวัน นางได้ส่งข่าวไปถึงพระเจ้าพิมพิสารขอให้พระองค์ส่งคนมารับกุมภโฆสกไปเข้าเฝ้า พระเจ้าพิมพิสารส่งทหารมาเที่ยวถามหาว่าผู้ใดคือกุมภโฆสก พระราชามีรับสั่งให้เข้าเฝ้า กุมภโฆสกไม่ปรารถนาจะไป บอกว่าพระราชาไม่เคยรู้จักตัวเขา เรื่องอะไรจึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อไม่ยอมไปโดยดี ทหารก็เข้าฉุดดึงโดยใช้กำลัง
นางเห็นดังนั้นจึงทำทีขู่ตะคอกทหารว่า พวกนี้ไม่มีมารยาท ไม่ควรใช้กำลังแบบนั้น แล้วปลอบกุมภโฆสกว่า
“ไปเถิดลูก เมื่อถึงพระราชวังแล้ว แม่จะกราบทูลพระราชาให้ตัดมือตัดเท้าคนพวกนี้เสีย”
จากนั้นนางก็รีบพาลูกสาวล่วงหน้าไปก่อน เมื่อถึงพระราชวังก็เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวใหม่เป็นสาวชาววัง ยืนเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารอยู่ในที่อันเหมาะของตน
กุมภโฆสกถูกฉุดกระชากลากถูมาเข้าเฝ้าจนได้ พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า เหตุใดเขาจึงปกปิดทรัพย์เอาไว้ เขาทูลตอบว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีทรัพย์พ่ะย่ะค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนจนหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง”
“เจ้าอย่าโกหก กุมภโฆสก เรารู้ว่าเจ้ามีทรัพย์ เสียงของเจ้าบอก”
“ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนจน ไม่มีทรัพย์พ่ะย่ะค่ะ”
“งั้นนี่กหาปณะของใคร” พระเจ้าพิมพิสารตรัสพลางชูเงินให้ดู
กุมภโฆสกจำกหาปณะของตนได้ก็ตกใจ คิดว่ากหาปณะนี้มาถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าพิมพิสารได้อย่างไร เขาหันมองดูทางโน้นทีทางนี้ที แล้วก็เห็นแม่ยายและภรรยาแต่งกายสวยงามอย่างชาววังยืนอยู่ จึงเข้าใจเหตุการณ์
พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามต่อไปว่า
“กุมภโฆสก ทำไมเจ้าถึงทำอย่างนี้ ทำไมเจ้าจึงปกปิดทรัพย์เป็นอันมากไว้”
กุมภโฆสกเล่าความคิดของตนให้พระราชาทรงทราบแล้วสรุปว่า
“เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่มีที่พึ่ง จึงปกปิดทรัพย์ไว้”
“ก็คนอย่างเราไม่ควรเป็นที่พึ่งของเจ้าหรือ”
“ควรพระเจ้าข้า”
“ถ้าอย่างนั้น ทรัพย์ของเจ้ามีเท่าไหร่”
“มี 40 โกฏิ (400 ล้าน) พระเจ้าข้า”
“ควรเอาอะไรไปขนมา”
“เกวียน พระเจ้าข้า”
พระเจ้าพิมพิสารได้ยินดังนั้นก็ทรงรับสั่งให้เอาเกวียนไปขนทรัพย์ของเขามากองไว้หน้าพระลานหลวง แล้วทรงให้คนในเมืองราชคฤห์มาประชุมกัน พร้อมกับตรัสถามว่า “ในเมืองนี้ใครมีทรัพย์เท่านี้บ้าง”
ชาวเมืองพากันทูลว่า “ไม่มีเลย พระเจ้าข้า”
“งั้นเราควรทำอย่างไรกับกุมภโฆสก”
“ควรยกย่องเขา พระเจ้าข้า”
พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงแต่งตั้งให้เขามีตำแหน่งเศรษฐี พระราชทานลูกสาวของนางสนมผู้นั้นให้เป็นภรรยา แล้วเสด็จไปสำนักพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยกุมภโฆสก ทรงถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี่คือกุมภโฆสก เศรษฐีคนใหม่ของข้าพระองค์ คนมีปัญญาอย่างนี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น เขามีทรัพย์มากถึง 40 โกฏิ แต่ก็ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ทะนงตัว ทั้งยังทำตนยากจน รับจ้างทำงานอยู่”
แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็ทรงเล่าเรื่องทั้งปวงถวายให้พระศาสดาทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า
“มหาบพิตร ชีวิตของผู้เป็นอยู่อย่างกุมภโฆสกชื่อว่าประกอบด้วยธรรม มีผลให้เป็นความสุขความเจริญ ส่วนผู้ทำโจรกรรมเป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ย่อมมีผลให้เป็นความทุกข์
“อาชีพทำนาและรับจ้างได้ชื่อว่าเป็นการกระทำอันประกอบด้วยธรรม ยศย่อมมีแก่ผู้พร้อมด้วยความเพียร มีสติ มีการงานบริสุทธิ์ ใคร่ครวญด้วยปัญญาแล้วจึงทำ มีความสำรวมระวังกาย วาจา ใจด้วยดี เลี้ยงชีวิตโดยธรรมไม่ประมาท ดังนี้”
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง เก็บมาเล่าโดย ขวัญ เพียงหทัย
ภาพ dec053