บัลลังก์แห่งเทวดา

พระพุทธเจ้ากับบัลลังก์ทั้ง 3 พระองค์คือผู้ครอง บัลลังก์แห่งเทวดา พรหม และพระอริยะ

พระพุทธเจ้ากับบัลลังก์ทั้ง 3 พระองค์คือผู้ครอง บัลลังก์แห่งเทวดา พรหม และพระอริยะ

หลังจากพระพุทธเจ้าทรงครอบครองโพธิบัลลังก์ ที่นั่งแห่งพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หากพระองค์เสด็จหรือพำนักที่ใด ด้วยจริยวัตรที่งดงามของพระองค์ผู้เป็นวิสุทธิเทพ สถานที่แห่งนี้ย่อมเป็น บัลลังก์แห่งเทวดา พรหม และพระอริยเจ้า

ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมด้วยพระภิกษุทั้งหลาย มุ่งสู่หมู่บ้านพราหมณ์แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า “เวนาคปุระ” ในแคว้นโกศล เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงทรงนั่งบนพื้นอย่างปุถุชนสามัญ ท่ามกลางหมู่ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านเวนาคปุระทั้งที่เป็นคฤหบดีและพราหมณ์ เมื่อทราบว่าพระสมณโคดมพุทธเจ้าผู้สำเร็จอรหัตตผลเสด็จมาที่แห่งนี้ก็พากันมาเข้าเฝ้า โดยนั่งลงในที่ ๆ สมควรเพื่อชมพระบารมี

พราหมณ์คนหนึ่งนามว่า “พราหมณ์วัจฉโคตร” (อาจหมายถึงพราหมณ์ที่มาจากตระกูลวัจฉะ เพราะคำว่า โคตร แปลว่า ครอบครัวหรือตระกูล)  ได้กล่าวสรรเสริญผิวพรรณอันงดงามของพระพุทธเจ้าว่า

“พระฉวีวรรณ (ผิว) ของพระองค์ช่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดุจผลพุทธาและผลตาลที่สุกในฤดูสารท เหมือนดังแท่งทองชมพูนุทที่ถูกวางอยู่บนผ้ากัมพล พระองค์งดงามถึงเพียงนี้พึงประทับบนบัลลังก์หรืออาสนะที่ดีกว่านี้พระเจ้าค่ะ”

ในเวนาคสูตรกล่าวว่า พราหมณ์วัจฉโคตรกล่าวถึงลักษณะของบัลลังก์มามากมาย เช่น บัลลังก์ที่ตกแต่งด้วยรูปสัตว์ ได้แก่ สิงห์ และเสือ มีเบาะหรือเครื่องลาดที่ทำจากขนสัตว์ เช่น ขนแกะ หนังสัตว์ เช่น  หนังชะมด และประดับประดาด้วยอัญมณีต่าง ๆ

พระพุทธเจ้าตรัสตอบพราหมณ์ผู้นี้ไปว่า

“บัลลังก์ที่พราหมณ์กล่าวไม่เหมาะสำหรับบรรพชิต (นักบวช) เช่นเรา แต่เรามีบัลลังก์ที่ยิ่งใหญ่นั้นอยู่แล้วคือ บัลลังก์แห่งเทวดา บัลลังก์แห่งพรหม และบัลลังก์แห่งพระอริยเจ้า เราได้บัลลังก์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งสามนี้มาได้อย่างไม่ยากเลย”

พราหมณ์ได้ยินดังนั้นก็ตกใจแล้วทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

“พระพุทธองค์สามารถครองบัลลังก์ของเทวดาได้อย่างไรโดยที่พระองค์ตรัสว่าได้บัลลังก์นี้มาโดยไม่ยากเลย”

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า

“เราได้บัลลังก์แห่งเทวดามาโดยง่ายเพราะเราปฏิบัติตามจริยวัตรของสมณะ คือ เราไปในบ้านเมืองใดก็จะบิณฑบาตในตอนเช้า หลังจากนั้นจะเข้าไปยังชายป่าทำพื้นที่ตรงนั้นให้สะอาดด้วยการกวาดหญ้าและใบไม้ แล้วเรานั่งทำสมาธิ ตั้งหลังให้ตรง ดำรงอยู่ในสติสัมปชัญญะ ระงับจากกามและอกุศลกรรมทั้งปวง เข้าสู่ปฐมฌาน ตอนนั้นมีวิตก (ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์) วิจาร (การพิจารณาอารมณ์) ปีติ (ความอิ่มเอมใจ) และสุขอันเกิดจากความวิเวก (สงบ) แล้วเข้าสู่ทุติยฌาน ความวิตกและวิจารก็หายไป มีความปีติและสุขขึ้นมาแทนที่ เมื่อปีติสิ้นไปก็เข้าสู่ตติยฌาน ซึ่งเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า จะดำรงความเป็นอุเบกขาและสติไว้ จากนั้นจึงเข้าสู่จตุตฌานแล้วสามารถละสุขและทุกข์ ดับโสมนัสและโทมนัสได้ แต่อุเบกขายังไม่หายไปไหน ช่วยทำให้สติดำรงความบริสุทธิ์ไว้ ดูก่อนพราหมณ์หากเราเดินจงกรมแล้วจิตยังเป็นอุเบกขาไร้ความรู้สึกสุขและทุกข์ หากนั่งหรือนอนในที่ตรงนั้น ย่อมไม่ต่างจากการได้นั่งหรือนอนอยู่บนบัลลังก์แห่งเทวดา”

พราหมณ์สงสัยว่า “พระสมณโคดมครอบครองบัลลังก์แห่งเทวดาได้ด้วยวิธีนี้ แล้วบัลลังก์แห่งพรหมเล่า พระองค์ครอบครองบัลลังก์นี้ได้อย่างไร”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราได้บัลลังก์แห่งพรหมมา เพราะเราปฏิบัติตามจริยวัตรของสมณะ คือ เราไปในบ้านเมืองใดก็จะบิณฑบาตในตอนเช้า หลังจากนั้นจะเข้าไปยังชายป่า ทำพื้นที่ตรงนั้นให้สะอาดด้วยการกวาดหญ้าและใบไม้ เรานั่งทำสมาธิ ตั้งหลังให้ตรง แล้วแผ่เมตตาไปยังทิศทั้ง 4 และแผ่ไปยังเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง และทั่วทั้งทุกสถานด้วยใจที่มีอุเบกขา (เป็นกลาง) อย่างหาประมาณมิได้ หากเราเดินจงกรมในสถานที่แห่งนั้น แล้วนั่งหรือนอนในที่ตรงนั้น ย่อมไม่ต่างจากการได้นั่งหรือนอนอยู่บนบัลลังก์แห่งพรหม”

พราหมณ์กล่าวทันทีว่า “พระสมณโคดมครอบครองบัลลังก์แห่งพรหมได้ด้วยวิธีนี้ แล้วบัลลังก์แห่งพระอริยเจ้าเล่า พระองค์ทรงได้มาอย่างไร”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราได้บัลลังก์แห่งพระอริยเจ้ามา เพราะเราปฏิบัติตามจริยวัตรของสมณะ คือ เราไปในบ้านเมืองใดก็จะบิณฑบาตในตอนเช้า หลังจากนั้นจะเข้าไปยังชายป่า ทำพื้นที่ตรงนั้นให้สะอาดด้วยการกวาดหญ้าและใบไม้ เรานั่งสมาธิ ตั้งหลังให้ตรง แล้วเรารู้ว่ากิเลสทั้ง 3 โลภะ โทสะ และโมหะ เราได้ละมันไปจากเราแล้ว ประดุจต้นตาลที่มียอดด้วน ไม่สามารถออกผล และเติบโตได้อีกต่อไป  หากเราเดินจงกรมในสถานที่นั้น หากเรานั่งหรือนอนในที่ตรงนั้น ย่อมไม่ต่างจากการได้นั่งหรือนอนอยู่บนบัลลังก์แห่งพระอริยเจ้า”

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบลง พรหมณ์ซาบซึ้งในคำตรัสเรื่องบัลลังก์ทั้ง 3 จึงกล่าวต่อพระพุทธเจ้าว่า “บัลลังก์ทั้ง 3 นี้ไม่มีใครเหมาะสมเท่าพระพุทธองค์อีกแล้ว พระองค์ประกาศธรรมให้เข้าใจได้ไม่ต่างจากหงายของที่คว่ำ แล้วเปิดของที่ปิดไว้ เราเข้าใจแล้วถึงธรรมของพระองค์ ขอเป็นผู้ยึดพระรัตนตรัยคือพระพุทธองค์ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต”

เรื่องราวในพระสูตรนี้ (เวนาคสูตร) พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังที่ต่าง ๆ โดยทรงแวะประทับยังหมู่บ้านเวนาคปุระ ซึ่งกลายเป็นชื่อของพระสูตรนี้ด้วย สิ่งที่น่าสนใจในบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพราหมณ์ที่มาจากตระกูลวัจฉะ (พราหมณ์วัจฉโคตร) พราหมณ์ผู้นี้ติพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ทรงมีรูปลักษณ์ที่งดงาม มีผิวพรรณดีเช่นนี้ ไม่สมควรประทับนั่งบนพื้น ควรนั่งบนบัลลังก์จะเหมาะสมกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าบัลลังก์ของกษัตริย์หรือที่นั่งแห่งราชาไม่เหมาะสมกับพระองค์ และพระองค์ผู้เป็นพระพุทธเจ้าทรงครอบครองบัลลังก์ที่ยิ่งใหญ่ถึง 3 บัลลังก์ ได้แก่ บัลลังก์แห่งเทวดา (การมีความสุขจากการทำสมาธิ) บัลลังก์แห่งพรหม (การปฏิบัติเมตตาภาวนา) และบัลลังก์แห่งพระอริยเจ้า (การสิ้นไปซึ่งกิเลส) พราหมณ์ตะลึงในคำตรัสของพระพุทธเจ้าแล้วน้อมรับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เพราะรู้ซึ้งแล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงเหนือกว่าเทวดา พรหม และพระอริยเจ้า ด้วยว่าพราหมณ์ในสมัยพุทธกาลนับถือเทวดาและพรหม แล้วยังเชื่อในเรื่องพระอริยเจ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงเป็นทั้ง 3 สิ่ง จากจริยวัตรที่งดงาม และการปฏิบัติของพระองค์

ที่มา : เวนาคสูตร

ภาพ : pixabay


บทความน่าสนใจ

อานิสงส์แห่งการถวายดอกไม้ แด่พระพุทธเจ้า

ทำไมพระพุทธเจ้าทรงแสดงของลับ แก่เสลพราหมณ์ เรื่องน่ารู้จากมิลินทปัญหา

บทนมการสิทธิคาถา (สัมพุทเธฯ) แปล บทนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต

ปัญจสิขรคนธรรพ์ เทพศิลปินคนโปรดของพระพุทธเจ้า

วิธีพิสูจน์พระอรหันต์ ด้วยคำถามของพระพุทธเจ้า

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.