วอร์เรน บัฟเฟตต์

วอร์เรน บัฟเฟตต์ อัครมหาเศรษฐีตัวจริง

วอร์เรน บัฟเฟตต์ อัครมหาเศรษฐีตัวจริง

เมื่อเอ่ยถึง วอร์เรน บัฟเฟตต์ สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คือวิธีการสร้างเนื้อสร้างตัวอันแสนเหลือเชื่อ เพราะเขาสามารถทำนายราคาขึ้นลงในตลาดหุ้นได้อย่างแม่นยำจนได้รับฉายาว่า ““เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา”” นี่ยังไม่รวมถึงวิธีการดำเนินชีวิตที่ธรรมดาและเรียบง่ายจนน่าประทับใจ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เกิดวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1930 ในครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา บิดาของเขาทำอาชีพนายหน้าค้าหุ้นและเป็นสมาชิกสภาล่างของสหรัฐอเมริกา ส่วนมารดาเป็นครู ทั้งคู่ร่วมกันปลูกฝังคุณธรรมและความซื่อสัตย์ให้ลูก ๆ ยึดถือเป็นสรณะตลอดชีวิต

บัฟเฟตต์กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เรื่องของตลาดหุ้นจากบิดา เขาเริ่มซื้อขายหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 11 ขวบ ซึ่งเจ้าตัวบ่นเสียดายว่า“ “ช้าเกินไป!”” เขาต้องกรอกแบบฟอร์มขอคืนภาษีครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปี เพราะมีรายได้จากการส่งหนังสือพิมพ์ เขารวบรวมเงินที่ได้ไปซื้อฟาร์มเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเมื่ออายุเพียง 14 ปี

ช่วงวัยหนุ่ม บัฟเฟตต์ตัดสินใจย้ายหน่วยกิตไปเรียนที่โรงเรียนธุรกิจโคลอมเบียเพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของเบนจามิน แกรห์ม เพราะก่อนหน้านั้นเขาได้อ่านตำราของแกรห์มแล้วเกิดความรู้สึกเลื่อมใสจับใจ ภายหลังแกรห์มได้เสนองานตำแหน่งสูงในบริษัทของเขาแก่บัฟเฟตต์ ตลอดสองปีที่ทำงานร่วมกัน บัฟเฟตต์ได้ดูดซับกลยุทธ์และศึกษาวิธีการทำธุรกิจของแกรห์มอย่างละเอียด จนสามารถมองเห็นข้อบกพร่องของแกรห์มได้

บัฟเฟตต์เห็นด้วยที่จะลงทุนในหุ้นที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเท่านั้น แต่ไม่เห็นด้วยที่แกรห์มไม่สนใจองค์ประกอบทางธุรกิจเลย เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าหากนำข้อมูลอื่น ๆ ของบริษัท เช่น สินค้าที่ผลิต นโยบายด้านการเงินและการจัดการ และตัวผู้นำ ฯลฯ มาพิจารณาในการเลือกซื้อหุ้น จะสามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า

““ผมต้องเข้าใจให้ได้ว่า ทำไมคนคนหนึ่งจึงยอมลุกขึ้นจากเตียงนอนตอนเช้า ทั้ง ๆ ที่เขามีเงินมากมายตามที่เขาต้องการแล้ว…ผมต้องรู้ให้ได้ว่าเขารักธุรกิจหรือรักเงินกันแน่””

ดังนั้น หลังจากที่แกรห์มตัดสินใจเกษียณและปิดบริษัทในปี 1956 บัฟเฟตต์จึงเปิดห้างหุ้นส่วนบัฟเฟตต์ จำกัด เพื่อการลงทุนขึ้น ซึ่งตลอด 13 ปีนับแต่ก่อตั้ง เขาสามารถทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นสูงถึงร้อยละ 22 ต่อปี (โดยเฉลี่ย) แม้ว่าบางปีดัชนีตลาดหุ้นจะร่วงลงอย่างหนักจากพิษเศรษฐกิจหรือสงครามก็ตาม

@omaha.com

ปี 1969 เขาได้เข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทสิ่งทอขนาดเล็กที่ชื่อว่า ““เบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์”” หลังจากนั้นจึงเข้าไปซื้อบริษัทประกันภัยในโอมาฮา ซึ่งธุรกิจประกันภัยนี่เองที่ทำให้เขาเข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจของอเมริกาอย่างถ่องแท้

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ติดอันดับมหาเศรษฐี 400 คนแรกที่จัดโดยนิตยสาร ฟอร์บส์ ตั้งแต่อายุเพียง 32 ปี เขายืนยันว่าความร่ำรวยของเขาไม่ได้มาจากความสามารถพิเศษหรือการทำงานหนัก แต่มาจากความเป็น “”นักเคลื่อนย้ายทุน”” คือมีทักษะในการโยกย้ายเงินทุนได้ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลาต่างหาก บัฟเฟตต์ใช้ความสามารถพิเศษนี้เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทที่ตัวเองสนใจ จนกระทั่งเขามีอำนาจในการบริหารทั้งหมดหรือบางส่วน จนกระทั่งปัจจุบันเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์มีบริษัทในเครือ 66 บริษัท มีลูกจ้างพนักงานทั่วโลกเกือบ 4 แสนคน และเติบโตเป็นธุรกิจประกันภัยขนาดยักษ์ และหุ้นของเบิร์กเชียร์เติบโตขึ้นจากหุ้นละ 19 เหรียญในปีแรก เป็น 37,987 เหรียญในปี 2000 นอกจากนั้นยังถือหุ้นอยู่ในบริษัทอื่น ๆ อีกเกือบ 50 แห่ง

ในส่วนของการบริหารบริษัทลูกทั้ง 66 แห่งนั้น บัฟเฟตต์ปล่อยให้ซีอีโอของแต่ละบริษัทมีอำนาจตัดสินใจอย่างอิสระ โดยมอบกฎทองไว้สองข้อ คือ ““ข้อหนึ่ง อย่าทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย และข้อสองคือ อย่าลืมกฎข้อหนึ่ง”” แต่ละปีบัฟเฟตต์จะเขียนจดหมายถึงซีอีโอของเขาเพียงหนึ่งฉบับเท่านั้น และไม่มีการเรียกประชุมใด ๆ ทั้งสิ้น

““บอกผมให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได ้ ถ้าหากว่ามีข่าวร้าย…แต่คุณจะโทร.หาผมบ่อย ๆ หรือไม่โทร.เลยก็ได้ สุดแท้แต่คุณ””

นโยบายของบัฟเฟตต์ทำให้เบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ประสบความสำเร็จด้านการบริหารงานบุคคลอย่างยิ่ง บริษัทสามารถรักษาทรัพยากรบุคคลระดับหัวกะทิไว้ได้ทั้งหมด บางท่านอายุเลย 85 ปีแล้ว แต่ยังไม่ยอมเกษียณ ผู้บริหารท่านหนึ่งเปิดเผยว่า พนักงานของเบิร์กเชียร์ทำงานหนัก เพราะ ““ไม่อยากทำให้บัฟเฟตต์ผิดหวัง””

@nytimes.com

หลายครั้งหลายคราบัฟเฟตต์ได้ออกโรงท้วงติงระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีครั้งหนึ่งที่ดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลงเหวเนื่องจากเกิดวิกฤติในภาคการเงิน เขากลับใช้เงินส่วนตัวจำนวน 3 พันล้านเหรียญช้อนซื้อหุ้น สร้างความตื่นตะลึงแก่นักเก็งกำไรทั่วโลก ซึ่งเขาอธิบายเหตุผลในบทความเรื่อง ““ผมซื้ออเมริกา”” ว่า

““กฎง่าย ๆ ข้อหนึ่งที่ผมใช้เวลาซื้อหุ้นก็คือ จงกลัวเวลาที่คนอื่นโลภ และจงโลภเวลาที่คนอื่นกลัว…ข่าวร้ายคือเพื่อนที่ดีที่สุดของนักลงทุน เพราะมอบโอกาสให้คุณซื้ออนาคตของอเมริกาด้วยราคาที่ต่ำเป็นพิเศษ””

บัฟเฟตต์เชื่อว่าบริษัทที่มีพื้นฐานดี แต่อาจจะปัดเป๋ในช่วงนี้ จะฟื้นตัวได้ในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย

เป็นที่ทราบกันดีว่า มหาเศรษฐีผู้นี้นิยมการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แม้ปัจจุบันเขาจะรั้งตำแหน่งคนรวยที่สุดในโลก แต่เขาก็พอใจรับเงินเดือนเพียงเดือนละ 100,000 เหรียญ บัฟเฟตต์ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 1958 ซึ่งไม่มีรั้วล้อมรอบ ยังคงขับรถคันเก่า และไปไหนต่อไหนโดยไม่มีบอดี้การ์ดหรือผู้ติดตาม ไม่ชอบพกพาโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช้ของหรูหรา และไม่มีของสะสมราคาแพง เขาชอบเล่นไพ่บริดจ์และตีกอล์ฟเป็นงานอดิเรก ส่วนอาหารโปรดก็เป็นเพียงสเต๊กเนื้อเจ้าประจำกับน้ำอัดลมยี่ห้อดังที่เขามีหุ้นอยู่หลายเปอร์เซ็นต์

วอร์เรน บัฟเฟตต์
@cryptonion.org

ด้านชีวิตครอบครัวนั้น วอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่งงานกับ ซูซาน ธอมป์สัน ตั้งแต่อายุ 22 ปี ทั้งคู่มีลูกสาวลูกชายรวม 3 คน เมื่อซูซานขอแยกทางในปี 1977 เพื่อไปเป็นนักร้อง บัฟเฟตต์ได้เริ่มชีวิตคู่ใหม่กับ แอสทริด เม็งกส์ โดยที่ยังไม่ได้หย่าจากภรรยาคนแรก เขาจดทะเบียนสมรสกับแอสทริดหลังจากที่ซูซานเสียชีวิตในปี 2004

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องการสืบทอดเชื้อสายความร่ำรวย เขาแนะนำว่า “”มหาเศรษฐีควรทิ้งเงินไว้ให้ลูก ๆ มากพอที่พวกเขาจะนำไปทำอะไรก็ได ้ แต่ไม่มากพอที่จะไม่ต้องทำอะไรเลย””

วอร์เรน บัฟเฟตต์
ลูกทั้งสามของบัฟเฟตต์

นิตยสาร ฟอร์จูน เปิดเผยว่า บัฟเฟตต์วางแผนบริจาคทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นบริษัทเบิร์กเชียร์ให้องค์กรการกุศล 5 แห่งหลังจากเสียชีวิต แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หุ้นจำนวนมากที่สุดจะโอนไปยังมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ แม้ว่าองค์กรอีกสี่แห่งที่เหลือจะดำเนินการโดยลูก ๆ ของเขาเอง ซึ่งบัฟเฟตต์ให้เหตุผลว่า บิลและเมลินดาเป็นคนที่เขาไว้ใจมากที่สุด ซึ่งลูก ๆ ก็เห็นด้วยแต่โดยดี

วอร์เรน บัฟเฟตต์
@smallcapasia.com

แม้จะวางแผนหลังความตายไว้เรียบร้อย แต่เห็นทีว่ากว่าจะได้ใช้แผนนี้ก็คงต้องรออีกนาน เพราะบัฟเฟตต์ยังมีสุขภาพแข็งแรงเต็มที่ และสนุกกับการใช้ชีวิตสมกับเป็นเศรษฐีตัวจริง

 

Secret Box

คำแนะนำจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงคนหนุ่มสาวทั่วโลก
จงหลีกให้ห่างจากบัตรเครดิตและหมั่นทำตัวเองให้มีคุณค่ามากขึ้น
เงินไม่ได้สร้างคน แต่เป็นคนที่สร้างเงิน
จงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่สุด
ไม่ทำตามที่คนอื่นพูด เพียงแค่รับฟัง และ “ทำสิ่งที่คุณรู้สึกดี”
อย่าเห่อข้าวของแบรนด์เนม แค่สวมใส่และใช้ของที่ทำให้คุณรู้สึกสบาย
อย่าใช้เงินกับสิ่งไม่จำเป็น แต่จงจ่ายเงินเพื่อ “คนที่ต้องการใช้เงินจริง ๆ”
• เหนือสิ่งอื่นใด ชีวิตเป็นของคุณ ฉะนั้นจงอย่าปล่อยให้คนอื่นบงการชีวิตคุณ

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ  Fortune

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

บิล เกตส์ สอนลูกอย่างไร? บทความน่าคิดจาก ท่าน ว.วชิรเมธี

จิตอาสาของ เมลินดา เกตส์

คาร์ลอส สลิม เอลู มหาเศรษฐีใจบุญแห่งเม็กซิโก แบบอย่างของผู้บริหารที่ดีเลิศ

ฝันของ ชีฟ นาดาร์ มหาเศรษฐีใจบุญแห่งอินเดีย

มรดกทางจิตวิญญาณจาก เฉิน กวงเปียว มหาเศรษฐีผู้มีแต่ให้

9 มหาเศรษฐีใจบุญ ของโลก บอกเลยว่าเปย์หนักมาก!!!

ชาร์ลส์ ชัค ฟีนีย์ มหาเศรษฐีแห่งความกรุณา

คุณค่าของการอ่านจาก ลี กาชิง “ซูเปอร์แมนแห่งฮ่องกง”

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.