แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ “ความตายคือแบบฝึกหัด”
คดีสําคัญมากมายซึ่งเป็นที่สนใจของผู้คน มักจะมีชื่อของ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ร่วมเป็นหลักในการสืบค้นเสมอ การพบเจอกับความตายแทบทุกวัน ทำให้คุณหมอได้เรียนรู้ธรรมะไปด้วยในตัว
คุณหมอเริ่มสนใจธรรมะตั้งแต่เมื่อไรคะ
ตั้งแต่วันแรกที่ได้ผ่าศพ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่านั่นคือธรรมะ ศพแรกผ่าที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตอนเป็นแพทย์เฉพาะทาง เป็นคนไข้เก่าที่หมอเคยรักษาตอนเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก แล้วรักษาไม่หาย จนหมอเปลี่ยนแผนกไปแล้ว เลยไม่รู้ว่าต่อมาคนไข้รายนี้ถูกส่งมารักษาต่อเนื่องที่กรุงเทพฯ สุดท้ายคนไข้ก็ตาย คนไข้คนนี้มีกันแค่สองคนแม่ลูก แม่อยู่บนภูเขา นาน ๆ ถึงจะลงมาเยี่ยมลูกซึ่งป่วยอยู่ หมอก็เลยคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราว่า ในบั้นปลายชีวิตลูกน่าจะอยากอยู่กับแม่นะ ถ้าเลือกได้ รู้ว่ารักษาไม่หาย เขาคงไม่อยากเสียชีวิตอย่างเดียวดาย เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคนก็คงอยากรู้ว่าจุดท้ายสุดของชีวิตจะเป็นอย่างไร และเราควรต้องทําอะไร
หมอเริ่มมองเห็นความตายเป็นแบบฝึกหัด แต่ก็ยังไม่รู้ว่านั่นคือธรรมะ อย่างเช่น มีอยู่คนหนึ่งเขาไปซื้อปาท่องโก๋ ใครก็ไม่รู้มองข้างหลังแล้วจําคนผิด เขาเลยโดนแทงตาย หมอก็สงสัยว่าทําไมต้องเป็นเขา ไม่มีคําตอบในโลกปัจจุบัน เลยสงสัยว่าคงจะเป็นกรรมจากชาติก่อน บางคนเป็นเศรษฐีมีเงินเป็นพันลัานหมื่นล้าน ตอนมีชีวิตทุกคนรักเขา แต่พอตายปั๊บ ไม่มีใครกอดเขาเลย มีเมีย 5-6 คนก็ยังทะเลาะกัน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันขนศพขึ้นรถก็คุยกันเรื่องแบ่งมรดกแล้ว หมอเลยเริ่มรู้สึกว่ามีเงินเยอะไปทําไม พอเอาเข้าจริง ทุกคนก็อยู่ด้วยความไม่จริงใจ อยู่ด้วยผลประโยชน์ หมอจึงเริ่มเรียนรู้ว่า โลกใบนี้มันก็เป็นอย่างนี้ เป็นการค่อย ๆ รับรู้ธรรมะทีละนิด ๆ
คุณหมอมีหลักธรรมอะไรในการดําเนินชีวิตคะ
หมอคิดว่า หมอค้นพบธรรมะด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเครื่องบอกว่าธรรมะคือธรรมชาติ หมอไม่รู้ว่าสิ่งที่หมอคิดเป็นบาลีข้อไหน เป็นพระไตรปิฎกบทไหน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเจอความตายทุกวัน หมอก็เริ่มรู้สึกว่าคนเราอยู่ในโลกทําไม แล้วก็เริ่มหาคําตอบ จนเชื่อว่าคนเราทุกวันนี้อยู่เพื่อใช้กรรมเก่าแล้วก็สร้างกรรมใหม่ ทีนี้ถามว่าตายแล้วไปไหน ตายแล้วหมอก็เชื่อว่ามันยังไม่จบ เพราะว่าหมอเห็นชีวิตบางคนยังไม่ได้รับกรรมของตัวเอง ก็เริ่มเข้าใจว่าชีวิตหลังความตายมี แตไม่รู้ว่าเป็นหลักธรรมข้อไหน
คุณหมอเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ อยากทราบว่าเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ไหมคะ
เชื่อค่ะ ยกตัวอย่างเช่นกระบวนการคิดเรื่องทุกข์ ตอนก่อนนอนมีความทุกข์มากมาย พอหลับไปปุ๊บ ตื่นขึ้นมามันก็หาย แต่พอกลับไปนึกถึงตอนก่อนนอนว่าเราทุกข์เรื่องอะไร แล้วเอาเข้ามาสะสมใหม่ มันก็ทุกข์อีก หมอเลยเริ่มเข้าใจทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าถามว่าจะต้องทําอย่างไรให้ทุกข์หายไป ตอนนั้นหมอไม่ได้เอาธรรมะมาอ่าน แต่เป็นเพราะคุณพ่อบังคับให้คิดในกรอบความดี ถ้าเราคิดนอกกรอบความดี คิดสะเปะสะปะ เวลาทุกข์ก็คิดอยากทําร้ายตัวเองหรืออยากฆ่าคนอื่น อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
คุณหมอจึงยึดการทําความดีเป็นหลักในการดําเนินชีวิตมาโดยตลอด
ใช่ค่ะ พอมีโอกาสได้สนทนาธรรม หมอจะคอยสํารวจสิ่งที่หมอคิดว่าใช่หลักธรรมไหม ยกตัวอย่างครั้งที่สนทนาธรรมกับท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังษี หมอคิดเองก่อน แล้วท่านเจ้าคุณนําธรรมะมาสอนว่าที่หมอคิดนั้นถูกแล้ว คือ หนึ่ง รักษาความดีที่มี สอง สร้างความดีเพิ่มขึ้น สาม หลีกเลี่ยงการทําชั่ว และสุดท้ายซึ่งยากสุด คือชําระความชั่วของตัวเอง ตอนแรกหมอไม่รู้หรอกแต่คิดแบบเอาศพมาเป็นตัวตั้ง ถ้าไม่ต้องการเกิดใหม่มาทรมานอีกจะทําอย่างไร คําตอบคือ เราต้องมีความดีพอ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่มีความชั่วเหลืออยู่เลยนะ
คุณหมอไปปฏิบัติธรรมบ้างหรือเปล่าคะ
หมอจะไม่ไปวิปัสสนาหรือไปวัดในลักษณะไปหาที่สงบ เพราะว่าเรียนรู้จากชีวิต จากธรรมชาติ ว่าคนเราถ้าไปหาที่สงบคือการวิ่งหนี ก็เลยเลือกที่จะฝึกตัวเองให้อยู่กับปัญหาแล้วทําให้สงบให้ได้ หมอวิเคราะห์ว่าปัญหาใด ๆ ความทุกข์ใด ๆ สาเหตุเกิดจากไม่เราก็เขา หมอก็เลยฝึกตัวเองให้อยู่ตรงกองทุกข์นั่นแหละ ดูซิมันจะทุกข์อีกนานไหม พอฝึกไปฝึกมาก็เลยกลายเป็นว่า แม้จะอยู่กับกองศพก็ยังไม่เหม็นเลย เหมือนกับปล่อยวางได้ หมอก็เลยไม่ได้ไปวัด เพราะชีวิตต้องทํางาน หมอก็พยายามทําสมาธิในงาน พอได้ทํางานที่ชอบ เช่น ผ่าศพ ใจไม่วอกแวกเลยนะ ก็แสดงว่าสมาธิเกิดได้ แต่ถ้ามีเวลา หมอจะชอบไปวัดที่ทําให้รู้สึกได้ถึงพลังความศรัทธาและได้สนทนาธรรม หมอจะใช้วิธีอธิษฐานจิตขอรับพลังกลับมาทํางานหรือเป็นพลังใจในการทําดี
ส่วนเรื่องทําบุญ หมอมองว่า ถ้าทําบุญแล้วขอให้บุญกลับมาหาเรา เป็นการเห็นแก่ตัวนะ ตัวอันตรายสําหรับชีวิตคือตัวกู เป็นอัตตา ขนาดทําบุญยังทําเพื่อตัวกูเลย ก็เท่ากับว่าเราไม่ลดอัตตา นี่เป็นความคิดส่วนตัวนะ ถูกหรือผิดไม่รู้ รู้แต่ว่าสบายใจขึ้นถ้าการทําบุญไม่ใช่เพื่อเรา เวลาทําบุญหมอไม่เคยขอให้ร่ำรวย แต่ขอแค่ให้มีพลังในการทําความดีเยอะ ๆ พอทําบุญแล้วหมอจะอุทิศหรือขอให้แผ่นดิน อธิษฐานให้พ่อแม่และคนอื่น ท่านเจ้าคุณมาตีโจทย์ให้ฟังว่า ทําบุญคุณค่าน้อยกว่าทํากุศล ทําบุญนี่ทําเพื่อตัวเอง แต่กุศลทําเพื่อคนอื่น เพื่อส่วนรวม หมอคิดว่าเราต้องฝึก เพราะการทําเพื่อคนอื่นมันยากนะ เพราะคนเรามักจะเห็นแก่ตัว
เวลามีความทุกข์ คุณหมอมีวิธีจัดการอย่างไรคะ
หมอจะถามตัวเองว่าความทุกข์นั้นคืออะไร เราจะยังอยากทุกข์อีกไหม ถ้าไม่อยากทุกข์อีกแล้วจะทําอย่างไร ก็คือต้องนิพพาน หมอไม่อยากเกิดอีก เพราะเมื่อเกิดมาแล้วก็ย่อมมีความทุกข์ พอหมออายุมากขึ้น เมื่อไรที่อารมณ์ไม่ค่อยดี มีความทุกข์อะไรก็ตามแต่ หมอจะเตือนตัวเองเลยว่า ไม่เอา ทิ้งไป ไม่ใช่ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนนะ แต่ต้องทิ้งไปเลย ยกตัวอย่างสิ่งที่หมอได้เจอมา หนึ่ง คือความอิจฉาริษยา ซึ่งแรงมากเลย มาจากทุกด้านทุกกลุ่ม หมอก็จะรู้สึกว่าน่าเบื่อ สอง คือถูกกล่าวร้าย ทั้ง ๆ ที่หมอไม่ได้ทํา ตอนแรกที่หมอเข้าไปอ่านกระทู้ในอินเทอร์เน็ตแล้วร้องไห้เลย โอ้โฮ โดนด่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง เขาว่าหมอคนอื่นก็เก่ง หมอนิติเวชไม่ได้มีคนเดียว ทําไมหมอพรทิพย์เรื่องมาก ถ้าหมอจะคิดให้ทุกข์มันก็ทุกข์ คิดไม่ทุกข์มันก็ไม่ทุกข์ หมอเริ่มเรียนรู้และเข้าใจว่า เราต้องดูแลอัตตาของเราให้ดี ถ้าโตมาก พองมาก เราจะเจ็บ เพราะฉะนั้นเวลาไปอ่านที่เขาโพสต์แล้วเอาอัตตาของเราไปรับ เราจะเจ็บ แต่พอเราเริ่มฝึกคิดว่าช่างมันเถอะ หัดลดขนาดอัตตาของเราลง ก็รู้สึกว่ามันหายโกรธไปได้
ไม่คิดจะตอบโต้หรือคะ
ไม่คิดเลย เพราะมันเป็นความคิดร้าย แต่ส่วนใหญ่หมอจะชี้แจงว่าเป็นอย่างนี้ ๆ นะ หมอก็เข้าใจว่าคนที่ชอบกล่าวหาคนทางเน็ตคือคนขี้ขลาดประเภทไม่กล้าเผชิญหน้ากันตรง ๆ ที่สําคัญ เป็นการเช็คอัตตาว่าเรายังอยู่รอดไหม ก็เลยเริ่มคิดมุมบวกว่าดีเหมือนกัน เป็นแบบทดสอบความทุกข์
คุณหมอมีมุมมองเรื่องความตายอย่างไรคะ
หมอไม่กลัวความตายเลย เพราะความตายเป็นวงจรปกติของชีวิต ถ้าทุกคนมองความตายเป็นเป้าหมาย เราจะไม่ประมาท แต่คนเรามักจะมองความตายเป็นเรื่องน่ากลัว ก็เลยเบือนหน้าหนี การทําเช่นนี้จะทําให้ลุ่มหลง หลงทาง ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เป็นสัจธรรมที่จะต้องเกิด เราควรจะรู้และเข้าใจ แล้วก็เตรียมตัวเดินทางสู่ความตายให้ดีที่สุดเท่าที่จะทําได้
คุณหมอเห็นการพลัดพรากจนน่าจะชิน คุณหมอกลัวเรื่องนี้ไหมคะ
ย่อมต้องกลัว แต่ท้ายที่สุดมันก็เป็นความสงบนิ่ง เหมือนกับเข้าใจสัจธรรมของการพลัดพราก ดังนั้นก็จะไม่เอาตัวไปผูกไว้มาก เพราะจะทําให้อาลัยอาวรณ์
ถ้าพูดถึงชาติหน้า คุณหมออยากเกิดเป็นคนเดิมอีกไหมคะ
ไม่ค่ะ หมอไม่อยากเกิดอีกแล้ว เมื่อเรารู้ปลายทาง เราจะไม่อยากเกิดอีกแล้ว แต่ถ้าเกิดมาก็ไม่คิดว่าอยากเกิดเป็นอะไร ไม่ได้คิดเผื่อไว้ เพราะเราตั้งเป้าไว้แล้วว่าเราไม่อยากเกิด ก็ต้องทําให้ได้
ที่มา นิตยสาร Secret ฉบับที่ 22
เรื่อง คีย์
ภาพ ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู, FB Porntip Rojanasunan
บทความน่าสนใจ