วัดจักรวรรดิราชาวาส พระอารามหลวงใกล้แหล่งการค้าย่าน เยาวราช
ถัดไปจากแหล่งการค้าย่าน เยาวราช แห่งนี้ มีวัดแห่งหนึ่งที่เป็นพุทธสถานอันร่มเย็นให้แก่คนในพื้นที่ตรงนี้คือ วัดจักรวรรดิราชาวาส
วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นวัดที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่ผู้หญิงชื่อว่า “ปลื้ม” สร้าง เพราะเดิมชื่อวัดว่า “วัดนางปลื้ม” ต่อเรียกเพี้ยนเป็น “วัดสามปลื้ม” สมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้แล้วถวายเป็นพระอารามหลวงแด่รัชกาลที่ 1 และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดจักรวรรดิราชาวาส” เมื่อ พ.ศ. 2362-2368 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 3
พระอุโบสถ
พระอุโบสถสร้างขึ้นหลังจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (ขณะนั้นเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี) กลับจากทำสงครามที่เวียงจันทน์ครั้งที่ 2 ศิลปกรรมของพระอุโบสถนี้หน้าบันตกแต่งด้วยกระเบื้องลายคราม เป็นภาพเทพพนมและสัตว์สัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปป์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานสำริด ลงรัก ปิดทอง เป็นพุทธศิลป์สมัยรัชกาลที่ 3
พระวิหารหลังกลาง
พระวิหารหลังกลางนี้เดิมเป็นพระอุโบสถหลังเดิม เป็นศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภายในพระวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ พุทธประวัติ เรื่องพระมาลัย คติไตรภูมิจากวรรณคดีเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน ภายในประดิษฐานพระประธานเดิมเป็นพุทธศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
พระวิหารพระนาก
พระวิหารนี้มีลักษณะสร้างเหมือนสิม (โบสถ์ในศิลปะลาว) เดิมสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานพระบางกลับคืนเวียงจันทน์ แล้วอัญเชิญพระนากจากหอพระในพระบรมมหาราชวัง บนหน้าบันเป็นพระฤษีทั้ง 5 ซึ่งกำลังบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ไหว้นกกา ซึ่งเป็นแม่กาเผือก ภาพหน้าบันนี้ได้รับอิทธิพลมาจากนิทานแม่กาเผือกของลาวและล้านนา
สถานที่อื่นๆภายในวัดที่น่าสนใจ เช่น ศาลเจ้าพระยาบดินทรเดชา พระพุทธฉาย มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
ที่มา : พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร โดยคุณหญิงสุริยา รัตนกุลและคณะ
ภาพ : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์
บทความน่าสนใจ
วิถีชีวิตชาวไทยวน เมืองสระบุรี ณ วัดจันทบุรี อำเภอเสาไห้
วัดป่าสาลวัน ปฏิบัติธรรมสายวัดป่า
“บุโรพุทโธแห่งสยามประเทศ” วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) จังหวัดร้อยเอ็ด
ชวนไปส่องภาพจิตรกรรมโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายที่ วัดไชยทิศ
สติปัฏฐาน 4 “กำหนดรู้ด้วยการบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ – ณ วัดมหาธาตุฯ