สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดโครงการ “ทำด้วยมือ ส่งมอบด้วยใจ หมวกมัดย้อมเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง” ซึ่งเป็นผลงานของอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ และได้ส่งมอบ หมวกมัดย้อม จำนวน 200 ใบ ให้กับโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณ-ธัญบุรี ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อส่งต่อให้ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ที่ต้องการหมวกมัดย้อม เพราะถ้าใส่วิกผมเป็นเวลานานอาจทำให้ร้อนได้
นายสุรจิตต์ แก่นพิมพ์ หัวหน้าโครงการและอาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดโครงการและกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อสังคม เช่น โครงการ ถักร้อย สานศรัทธา ห่มอังสะพระประธาน 9 องค์ 9 วัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการบริการวิชาการสอนทำผ้ามัดย้อม ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หมู่บ้านฟ้ารังสิต และชุมชนในเทศบาลตำบลบ้านบางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
สำหรับโครงการ “ทำด้วยมือ ส่งมอบด้วยใจ หมวกมัดย้อม เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง” ได้ร่วมกับสถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 89.5 FM ส่งมอบหมวกมัดย้อมให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี และผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ที่ต้องการ หมวกมัดย้อมนี้สามารถสร้างเกราะกำบังส่วนตัวให้กับผู้ป่วยได้ เพราะถ้าใส่วิกผมเป็นเวลานานอาจทำให้ร้อน
หมวกมัดย้อมทั้งหมด 200 ใบ เป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม ที่เรียนในรายวิชาออกแบบการย้อม เพื่องานออกแบบแฟชั่น เป็นการนำศาสตร์ที่ได้เรียนไปประยุกต์และใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคม และเป็นการเสริมสร้างจิตสำนึก ส่งเสริมการลงมือปฏิบัติ โดยได้พูดคุยเบื้องต้นกับผอ.รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี จัดทำหมวกมัดย้อมมอบให้กับทั้ง 7 สถาบันมะเร็งทั่วประเทศไทย
นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผอ.รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี เผยว่า มะเร็งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ใน 1 ปี พบผู้ป่วยโรคมะเร็งกว่า 100,000 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โครงการหมวกมัดย้อมเป็นจุดเริ่มต้น ในการช่วยดูแลผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งต้องทุกข์จากการรักษาด้วยเคมีบำบัด ทำให้ผมร่วง
การสวมหมวกทำให้ผู้ป่วยมั่นใจและเข้าสู่สังคมได้ นอกจากนั้นการใช้วิกผมอาจไม่สะดวกในการดูแลเพราะค่อนข้างยุ่งยาก โครงการนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยสามารถร่วมมือกัน ช่วยเหลือผู้ป่วยให้เกิดความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในส่วนของงานศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัด ซึ่งทางโรงพยาบาลต้องการความช่วยเหลือจากทางมหาวิทยาลัยเช่นกัน ทางมหาวิทยาลัยเปิดสอนวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย ซึ่งสามารถนำมาบูรณาการกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งโรงพยาบาลยินดีร่วมมือดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขมากขึ้น
ผู้ป่วยโรคมะเร็งรายหนึ่งเล่าว่า การฉายแสงที่โรงพยาบาลประมาณ 2 เดือน ทำให้ผมร่วง ส่วนใหญ่จะสวมหมวกไหมพรมสีดำหรือสีพื้นไปทำงานเพราะเป็นสีสุภาพ ที่เลือกสวมหมวกเนื่องจากสะดวกสบายกว่าใส่วิก วิกเมื่อใส่ไปนานจะรู้สึกร้อน และต้องเลือกวิกให้เหมาะกับตัวเราค่อนข้างลำบาก ชอบหมวกมัดย้อม เป็นงานฝีมือใช้ประโยชน์ได้จริงในการสวมใส่ออกไปข้างนอก ต้องขอบคุณอาจารย์และนักศึกษาที่จัดโครงการขึ้นมา มีจิตใจทำเพื่อสังคม และเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย
“แคช” น.ส.สิริธิดา หงส์คำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม เล่าว่า เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ร่วมทำจิตอาสากับคณะ และเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้มาเห็นผู้ป่วยมะเร็ง อยากให้ทุกคนมีความสุข
“แผ้ว” นายบุญญฤทธิ์ สีลาเดช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม เล่าว่า เรียนทางด้านศิลปะ นำความรู้ทางด้านศิลปะไปช่วยเหลือสังคม เคยเข้าร่วมโครงการของทางภาควิชา โดยไปเขียนกำแพงโรงเรียนวัดบ้านด่าน จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุกและเกิดประโยชน์ สำหรับกิจกรรมมัดย้อมหมวกและส่งมอบให้ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นโครงการที่ดีช่วยเหลือผู้ป่วย หมวก 1 ใบ อาจไม่ได้มีราคาอะไร แต่มีคุณค่าทางจิตใจ เหมือนการมอบกำลังใจให้กับผู้ป่วย
“ดิว” นางสาวโกลัญญา ชาอุ่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรมสากล บอกว่า เธอไม่มีทุนมากมายในการทำบุญ ทางคณะมีโครงการนี้ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดี ได้นำศิลปะซึ่งเป็นศาสตร์ที่เธอรักและชอบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ปกติชอบทำบุญโดยบริจาคเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว เช่น บริจาคเสื้อผ้าที่บ้านกึ่งวิถีหญิง จังหวัดปทุมธานี เมื่อได้มาเห็นผู้ป่วยที่เข้ารักษาทีโรงพยาบาลก็รู้สึกเห็นใจผู้ป่วย และอยากให้กำลังใจ ถ้ามีโอกาสอยากทำโครงการแบบนี้อีก
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมมอบกำลังใจให้ผู้ป่วยมะเร็ง ในการจัดทำหมวกมัดย้อมเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2691-7781-2 หรือ 094-9918998
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สยามรัฐ, กรุงเทพธุรกิจ, เชียงใหม่นิวส์
บทความน่าสนใจ
ชื่นชมคุณหมอลงขันรวมเงินเป็นค่าเดินทางมารักษาตัวให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งยากไร้