ผมมักสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับความจริงของโลก ชีวิต จิตวิญญาณ ศาสนา และศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตัวเองมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก (นายแพทย์ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ)
อาจจะด้วยความที่เป็นเด็กช่างสงสัย ผมจึงไม่เคยหยุดที่จะหาคำตอบหรือยอมเชื่ออะไรง่าย ๆ จนกว่าจะลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง
ในเรื่องการรู้แจ้งในความจริงของชีวิตก็เช่นกัน ผมจึงลงมือหาคำตอบด้วยการปฏิบัติธรรมตั้งแต่อายุ 12 – 13 ปี โดยฝึกสมาธิทุกวัน รวมทั้งอ่านคัมภีร์ทางศาสนา เช่น มิลินทปัญหา ซึ่งผมอ่านตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมและชอบหนังสือเล่มนี้มาก เพราะได้แสดงให้เห็นการปุจฉา – วิสัชนาอย่างลึกซึ้งตลอดทั้งเล่ม รวมไปถึงหนังสือ กรรมฐาน 40 ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ และหนังสือ คู่มือมนุษย์ ของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือหลักของผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน
จากประสบการณ์ในวิปัสสนากรรมฐานทำให้ผมตระหนักรู้ในทุกข์คือตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตของคนเราคือกองทุกข์ หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ทุกข์ หายใจออกแล้วไม่ได้หายใจเข้าก็ทุกข์…ทุกข์นี้คือความจริง แต่ทุกข์นั่นเองที่เป็นเงื่อนไขสำคัญให้จิตพ้นทุกข์ อาจเรียกได้ว่าเป็น “ข้อดี” ของความทุกข์ก็น่าจะได้ เพราะทุกข์เป็นเครื่องช่วยให้เรามีความรักความเมตตาต่อทุกชีวิต และยังช่วยให้แสวงหาทางพ้นทุกข์ด้วยสติปัญญา
ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ผมจึงมักจะเฟ้นหาสถานที่ที่สงบเพื่อไปเก็บตัวปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิตามที่ต่าง ๆ หากมีเวลามากหน่อยก็ไปพักฝึกจิตใจที่วัดป่าสัก 3 – 4 วัน ถ้าไม่มีเวลาก็อาศัยการนั่งที่ข้างสระน้ำแถว ๆ บ้าน หรือเก็บตัวฝึกในห้องทำงานที่โรงพยาบาล ส่วนหนึ่งของเวลาว่างที่เหลือผมจะแบ่งเวลาเพื่อศึกษาหาความรู้ทางธรรม เช่น อ่านหนังสือธรรมะควบคู่กันไปกับการศึกษาเรื่องราวทางโลกที่ยังเกี่ยวข้องอยู่
ครั้งหนึ่งผมเลือกไปฝึกสมาธิในห้องทำงานที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ในวันหยุด วันนั้นผมมีความตั้งใจอย่างมากที่จะกำหนดจิตให้แน่วแน่อยู่กับลมหายใจเข้า – ออก เพื่อเข้าถึงสมาธิขั้นลึกอย่างที่เคยปฏิบัติมา ทว่าความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่านั้นไม่เป็นผล เพราะมีแต่ความคิดมากมายผุดพลุ่งขึ้นมาในจิตใจ แม้จะพยายามสู้กับความคิดฟุ้งซ่านอยู่นาน จนรู้สึกท้อถอยและไม่พอใจกับการปฏิบัติอย่างมากที่ไม่สามารถทำให้จิตสงบอย่างที่ต้องการ
แต่มีอยู่ชั่วขณะจิตหนึ่งที่เหมือนปัญญาฉายแวบเข้ามาบอกกับตัวเองว่า เราคงบ้าไปแล้วที่วันหยุดแทนที่จะพักผ่อนสบาย ๆ แต่กลับมานั่งเครียดอยู่แบบนี้ พลอยทำให้นึกขำตัวเองด้วย แล้วจิตก็ผ่อนคลายตัวลง ทันใดนั้นเกิดมี กลุ่มก้อนของพลังความรัก ที่ละเอียดอ่อนโยนมาก ๆ ผุดขึ้น เริ่มจากหัวใจที่ขยายเปิดกว้างออกและท่วมท้นแผ่ซ่านออกมา ไหลซึมซาบไปทั่วทั้งร่างกายทีละส่วนและไหลเลื่อนไปที่แขนขาทำให้เกิดความสุขล้น อิ่มใจ หมดความต้องการสิ่งใด ๆ ปล่อยวางทุกสิ่ง มีแต่ความอิ่มเต็มกับชีวิตอย่างที่ไม่ต้องมีอดีตและไม่มีอนาคต มีแต่ขณะปัจจุบันที่แจ่มชัดด้วยรักที่อ่อนโยน
ความรู้สึกรักที่ท่วมท้นขึ้นมาปรากฏอยู่นานตลอดทั้งวัน จิตในขณะนั้นรู้สึกสงบอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรต้องกำหนด ไม่มีอะไรต้องภาวนา หมดการขวนขวาย เพียงการดำรงอยู่ท่ามกลางจิตที่เปี่ยมด้วยรักก็ดีพอแล้ว
ความรักเป็นสติและสมาธิธรรมชาติ เพราะปราศจากความพยายามใด ๆ จิตเกิดความรู้ขึ้นมาเองว่า นี่แหละคือวิถีของการผ่อนคลาย ปล่อยวาง ที่ผ่านมาความพยายามอย่างกดดันนั่นเองที่เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ
วันนั้นทั้งวันผมมีชีวิตด้วยความรักตนเอง ได้แก่ รักในการดำรงอยู่ รักในการนั่ง รักในการเดิน รักในการรับประทานอาหาร รักในการอาบน้ำ แม้เข้านอนก็สุขใจที่ได้นอนเป็นเพื่อนกับตัวเอง เป็นรักในการกระทำทุกขณะจิต เป็น สติธรรมชาติ สติความใส่ใจคือพลังแห่งความรัก เพราะความรักทำให้เกิดความใส่ใจดุจดังมารดาที่มีความรักความใส่ใจต่อบุตร เฝ้ามองดูลูกน้อยด้วยแววตาแห่งความรักเมตตานั่นเอง
“รากแก้วของปัญหาทั้งหลายในชีวิตหรือความทุกข์นั้นเกิดมาจาก ‘ความกลัว’ ตั้งแต่กลัวจน กลัวเจ็บ กลัวไม่มีงานทำ กลัวเสียชื่อเสียง กลัวไม่มีค่า กลัวไม่มีคนรัก และกลัวตาย…ผมเชื่อเหลือเกินว่า เมื่อใดก็ตามที่เรามีความรักอยู่เต็มหัวใจ เมื่อนั้นเราจะไม่มีความกลัว และความทุกข์ก็จะหมดไป
จิตที่สงบเย็นที่สุดคือ จิตที่เป็นอิสระจากความกลัวและมีความรักความเมตตาโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เป็นความรู้สึกที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าถึงความรักอันบริสุทธิ์นี้ได้ สติจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะสติคือความใส่ใจ และความใส่ใจก็มาจากความรัก หากคุณรักสิ่งไหน คุณจะทำสิ่งนั้น หากคุณรักที่จะทำสมาธิคุณก็จะอยากทำและใส่ใจในการทำสมาธิ ไม่ใช่เรื่องการมาบังคับฝืนใจกัน
เพื่อให้ความรักในหัวใจเราเติบโตขึ้น เราอาจเริ่มจากการฝึกภาวนาแผ่เมตตาอย่างสม่ำเสมอ ฝึกการยกโทษ ให้อภัยทุกความผิดที่ผ่านมาทั้งของตนเองและผู้อื่น ดำรงใจให้มีเมตตาธรรมนำหน้าทุกความคิด การพูด และการกระทำ
เมื่อใดที่เกิดอารมณ์ทุกข์ใจ หงุดหงิด ไม่สบายใจ ให้มีสติรู้ทันและปัญญาแจ้งว่า “เรายังรักไม่พอ” แล้วย้อนกลับมาภาวนา “เมตตา ๆ ๆ” ให้หยั่งลึกลงไปที่หัวใจ เราจะพบความประหลาดใจว่า ความทุกข์ใด ๆ ก็ตามไม่มีทางมากไปกว่าความรักในใจเราได้ จนเชื่อมั่นว่าความรักในใจเราสามารถโอบกอดความทุกข์ทั้งปวงนั้นได้ จิตจะยกข้ามพ้นความทุกข์ที่มี ณ ขณะนั้นได้อย่างง่ายดาย
ต่อมาเมื่อพบคนที่ทำให้เราไม่สบายใจ ให้รีบชิงรักเมตตาเขาก่อนโดยการส่งความรักให้เขาก่อนที่เราจะทุกข์ โดยคิดว่า “ทุกชีวิตล้วนว่ายวนอยู่ในกองทุกข์ ขอให้เขาเป็นสุข ๆ”
เมื่อทำเช่นนี้ต่อเนื่องตลอดเวลา ชีวิตทั้งชีวิต เราจะกลายสภาพเป็นความรักที่มีลมหายใจ คือ เป็นผู้บูชาความรัก (premarati) และผู้มีปีติสุขในรัก (premananda)
ดังนั้น สำหรับผมแล้ว นิพพานคือ “การมีความรักบริสุทธิ์ในหัวใจ” นั่นเอง
Secret Box
“ถ้ายังมีความทุกข์ใดเกิดขึ้นในใจอยู่ แสดงว่าเรายังรักไม่มากพอ”
ประวัติ หนึ่งในคอลัมนิสต์รับเชิญของนิตยสาร Secret ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ชีวิตกับความเครียด ตำราสมาธิบำบัดทางจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต และเจ้าของบทความทางวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศกว่า 20 เรื่อง
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม 42 ปี
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ
ภาพ นิตยสาร Secret
บทความน่าสนใจ
10 เหตุผลที่เราทุกคนควรมีเมตตา ข้อคิดสะกิดใจโดย ท่าน ว.วชิรเมธี