จังหวัดเล็กๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เต็มไปด้วยโบราณสถาน และแหล่งวัฒนธรรมอันเลื่องชื่อ แถมยังเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์อันน่าหลงไหลของวิถีชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสงบรักการเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์เป็นชีวิตจิตใจ
ก่อนจะเข้าไปเที่ยวในชุมชนก็มาแวะสักการะ ขอพรพระคู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดอำนาจเจริญกันก่อนซึ่งการเดินทางไปยังพุทธอุทยาน หากเดินทางมาจากสนามบินอุบลราชธานี จะใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 ซึ่งจะวิ่งตรงมาจนเข้าสู่อำเภอเมืองของจังหวัดอำนาจเจริญ จากนั้นมุ่งหน้าตรงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นป้ายทางเข้าพุทธอุทยานที่ตั้งอยู่ทางซ้ายมือค่ะ
พระมงคลมิ่งเมืองที่ประดิษฐาน ณ พุทธอุทยานแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นองค์สีทองปางมารวิชัย แต่งองค์ด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2508 ซึ่งด้านหลังองค์พระมงคลมิ่งเมืองยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่รูปร่างแปลกตาถึง 2 องค์ ซึ่งชาวบ้านจะเรียกกันว่า “พระละฮาย” หรือว่า “พระขี่ล่าย” ที่แปลว่าพระที่มีรูปร่างไม่สวยงาม โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้าได้มากราบขอพรพระละฮายก็มักจะได้รับสิริมงคลและสมความปรารถนากลับไป ซึ่งภายในพุทธอุทยานแห่งนี้นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้มาไหว้พระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว บรรยากาศภายในพุทธอุทยานก็เงียบสงบ และร่มรื่นเหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจมากๆ เลยค่ะ
หลังจากอิ่มบุญแล้วก็ไปต่อกันที่ชุมชนท่องเที่ยว บ้านปลาค้าว โดยจากพุทธอุทยานเลี้ยวขวาไปที่ถนนหมายเลข 212 ประมาณ 2 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 202 ขับตรงไปประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะพบกับสี่แยกให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนน 3018 และตรงไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะเข้าสู่หมู่บ้านปลาค้าว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
มาถึงชุมชนก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น แถมยังได้เปลี่ยนเสื้อผ้าให้เข้ากับคนในชุมชนอีกด้วย ซึ่งก่อนที่เราจะได้ชมหมอลำกันแบบสดๆ เป็นธรรมเนียมของหมู่บ้านหมอลำ นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเที่ยวที่นี่ต้องร้องหมอลำให้ได้ก่อน ซึ่งเราก็ต้องเริ่มเรียนตั้งแต่จังหวะการรำที่มีให้เลือกหลากหลายแบบ ไปจนถึงการร้องซึ่งขอบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ
ชุมชนบ้านปลาค้าว นอกจากจะเป็นชุมชนที่เก่าแก่แล้วแทบทุกบ้านยังมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงหมอลำ โดยปัจจุบันยังมีคณะหมอลำอีกหลายคณะที่เปิดรับงานแสดง นอกเหนือจากการต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีบ้านพักโฮมสเตย์ไว้คอยบริการต้อนรับนักท่องเที่ยวซึ่งบ้านพักส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้แบบโบราณ ดูแล้วทั้งน่ารักและน่านอนอีกด้วย โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่มีอาชีพทำนาซึ่งทำปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝนทำให้นอกจากการฝึกร้องหมอลำแล้วชาวบ้านหลายๆ กลุ่มยังมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างรายได้เสริมอื่นๆ ระหว่างที่รอฤดูทำนาค่ะ
อย่างต้นกกที่สมาชิกในชุมชนนิยมปลูกไว้ตามพื้นที่ว่างของบ้าน มากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่พื้นที่แต่ข้อดีก็คือเวลาจะใช้ไม่จำเป็นต้องออกไปซื้อไกลๆ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย โดยต้นกกที่ตัดมาจะนำมาตัดจุกออกจากนั้นก็คัดแยกขนาดตามความยาวของลำต้น และซอยเอาแต่เปลือกนอกเพื่อนำไปตากแดดให้แห้งพอหมาด ก่อนจะนำไปย้อมสี และทอเป็นลวดลาย ซึ่งอุปกรณ์ในการทอนอกจากกี่ทอเสื่อแล้วยังมีไม้ที่หน้าตาเหมือนเข็มแต่ขนาดใหญ่กว่าทำหน้าที่ร้อยเส้นกกเข้าไปในกี่ค่ะ หรือถ้าใครอยากได้เสื่อลวดลายสวยๆ คุณภาพดี ก็เชิญได้ที่ชุมชนบ้านปลาค้าวรับรองว่าได้เสื่อสวยๆ ถูกใจกลับไปอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีกระติบขาวเหนียวหลากหลายขนาด ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ลายสานที่แน่นและละเอียดทำให้มีคุณสมบัติช่วยเก็บความร้อนได้ดี ทำให้ข้าวเหนียวร้อน นุ่ม และหอมนาน นอกจากนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องความทนทานเพราะวัสดุที่เลือกใช้เป็นไม้ไผ่แก่ที่ให้ความเหนียวและทนมากกว่าไม้ไผ่อ่อนๆ นั่นเอง
และอีกหนึ่งกลุ่มที่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์โดดเด่นมากของชุมชนบ้านปลาค้าวนั่นก็คือกลุ่มทอผ้า โดยมีลายดอกสะแบงที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเพราะสะแบงเป็นไม้ยืนต้นที่มีอยู่มากในชุมชน ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ตามไร่นาซึ่งลักษณะของผลจะคล้ายๆ กับลูกยาง และด้วยความที่ดอกสะแบงมีอยู่มากบวกกับศิลปะพื้นบ้านที่โดดเด่นอย่างการร้องหมอลำทำให้ชาวบ้านนำมารวมกันและสร้างสรรค์เป็นลวดลายของผ้าทอประจำชุมชนนั่นเองค่ะ
ยังมีอีกหนึ่งสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวสายบุญคือ วันศรีโพธิ์ชัยซึ่งไม่ควรพลาด เพราะนอกจะมีโบราณสถานที่สำคัญแล้ววัดแห่งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนกับวัดที่มีความผูกพันธ์กันมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังมีวิหารที่ประดิษฐานพระพุทรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอำนาจเจริญอีกหนึ่งองค์ ก็คือพระเจ้าใหญ่ศรีโพธิ์ชัย นอกจากวิหารจะเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และสวยงามของชุมชนแล้วภายในวัดยังมีศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เก็บรวบรวมของใช้โบราณและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงวิหารญวณที่เคยสร้างด้วยไม้ ซึ่งโครงสร้างรวมไปถึงประตูไม้ก็ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาโบราณเพื่อให้นักท่องเที่ยวและคนทั่วไปได้มาศึกษาเรียนรู้นั่นก็คือการจารใบลาน และตัวอักษรที่ถูกจารลงในใบลานเรียกว่าอักษรธรรมล้านช้างซึ่งส่วนใหญ่จะเอาไว้บรรทึกพระธรมคำสั่งสอน วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ รวมไปถึงการรวบรวมตำรายาโบราณไว้ค่ะ และที่นี่นักท่องเที่ยวยังจะได้ของที่ระลึกอย่างนามบัตรจากใบลาน กลับไปอีกด้วยค่ะ
หลังจากเที่ยวทั่วหมู่บ้านแล้วก็ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างการขุดปู จับปลา รวมไปถึงการสอยไข่มดแดง เพื่อทำอาหารมื้อพิเศษที่ชาวบ้านจัดเตรียมไว้สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะสนุกไปกับการหาอยู่หากินของชาวบ้านแล้วยังจะได้อร่อยไปกับเมนูแซบๆ ตามฤดูกาลที่ชาวบ้านจัดเต็มเรื่องรสชาติกันทุกเมนู
ครั้งนี้ทางทีมงานชื่นใจไทยแลนด์จึงร่วมมือกับคุณอรพรรณ วัจนะเสถียรกุล พิธีกรและกองบรรณาธิการนิตยสาร MY HOME เพื่อสร้างสรรค์พวงกุญแจซึ่งเป็นของที่ระลึกร่วมกับชาวบ้านโดยมีถึง 4 แบบ อย่างพวงกุญแจปลาเล็ก พวงกุญแจปลาใหญ่ พวงกุญแจชุดหมอลำและพวงกุญแจดอกสะแบง ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของบ้านปลาค้าวและที่สำคัญราคาไม่แพงและสามารถซื้อกลับบ้านกันได้ทุกเทศทุกวัยอีกด้วย
การมาท่องเที่ยวชุมชนบ้านปลาค้าว จังหวัดอำนาจเจริญ ครั้งนี้สมแล้วที่ได้ชื่อว่าเป็นหมูบ้านหมอลำ เพราะไม่ว่าจะไปทางไหน ไปทำอะไร เราก็มักจะได้ยินเสียงแคน เสียงกลอง และเสียงร้องกลอนหมอลำเหมือนเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตของคนที่นี่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสุขที่แทรกซึมในตัวศิลปินทุกคน ความสุขที่สะท้อนออกมาให้เห็นถึงความภูมิใจและพร้อมที่จะถ่ายทอดให้กับคนทั่วไปได้เห็นถึงเสน่ห์และความสวยงามของวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เรียกว่าหมอลำค่ะ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากอมรินทร์ทีวี ร่วมกับโครงการพลังประชารัฐและไทยเบฟเวอเรจ
ขอบคุณภาพสวยๆ จากรายการชื่นใจไทยแลนด์ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 21:30 น. ช่อง 34 อมรินทร์ทีวี
ติดต่อเยี่ยมชุมชน
กลุ่มโฮมสเตย์บ้านปลาค้าว โทร. 081-878-7833
กลุ่มการเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต โทร. 098-621-3013
กลุ่มจักสานกระติบข้าว โทร.062-345-8895
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง บ้านปลาค้าว โทร. 087-262-2796