การให้อภัย

“เอาอย่างนี้ดีมั้ย” บทความเพื่อ การให้อภัย โดย ครูหนุ่ย - งามจิต มุทะธากุล

เอาอย่างนี้ดีมั้ย กับ การให้อภัย โดย ครูหนุ่ย – งามจิต มุทะธากุล

เคยถามคนคนหนึ่งว่า “เชื่อว่ามีชาติหน้าไหม” คนถูกถามตอบว่า เชื่อสิ “แล้วเชื่อว่ามีชาติที่แล้วไหม” ก็ต้องเชื่อสิ ชาตินี้ก็คือชาติที่แล้วของชาติหน้าไม่น่าถาม คนถามยิ้มหลังโดนค้อนเสียหนึ่งที “แล้วเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมไหม” เชื่อ “เชื่อว่าอย่างไร” ก็ใครทำกรรมอะไรไว้ต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างที่เขาพูดกันว่า กรรมสนองกรรมนั่นแหละ

ความเชื่อแบบนี้มักถูกนำมาใช้เวลาที่คนคนหนึ่งถูกใครทำร้ายรังแก เอาเปรียบ ทำให้ต้องเจ็บช้ำน้ำใจ เมื่อหมดทางแก้ไข  คนส่วนใหญ่มักยอมจำนนปล่อยให้อีกฝ่ายทำร้าย โดยการคิดเสียว่าเราคงเคยทำกรรมกันมาก็ชดใช้กันไป ใช้ ๆ มันไปเสียให้หมดจะได้ไม่ต้องมาพบกันอีก บางคนก็ยกเอากฎแห่งกรรมขึ้นมาปลอบใจตัวเองว่า เดี๋ยวมันต้องถูกกรรมสนองเหมือนที่มันทำกับเรา บางทีก็คิดว่ามันจะต้องชดใช้กรรมที่มันทำเอาไว้ ต้องทุกข์ทรมานมากกว่าเรา

รากของความคิดแบบนี้มักแฝงไปด้วยความอาฆาตพยาบาท ไม่ใช่ความรู้สึกปลงจริง ๆ ความอาฆาตพยาบาทความโกรธแค้นที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก จะทำให้ทั้งสองฝ่ายผูกเวรจองกรรมกันต่อไปอีกหลายภพหลายชาติ สลับกันทำร้าย สลับกันแค้น หมุนกันไปวนกันมาอยู่อย่างนั้น กงล้อแห่งกรรมยังคงหมุนไปตามแรงเหวี่ยงของความโกรธแค้นความพยาบาทอาฆาตไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้

หากต้องการหักกงล้อแห่งกรรมนี้ลงก็ต้องหยุดแรงเหวี่ยง โดยการสลายความแค้นอาฆาตลงด้วยการเจริญเมตตา เมื่อเราเกิดความเมตตาต่ออีกฝ่ายที่ทำร้ายเราได้ การให้อภัยการอโหสิกรรมก็จะเกิดขึ้นได้ การให้อภัยคนที่ทำร้ายเรานั้นไม่ง่ายเลย ใช่ไม่ง่าย ต้องบอกว่ายากถึงยากที่สุดน่าจะถูกกว่า แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินวิสัยของมนุษย์ เพราะมันเป็นวิวัฒนาการของจิตมนุษย์ เป็นระบบของธรรมชาติที่มนุษย์จะต้องพัฒนาจิตวิญญาณผ่านกระบวนการของกรรม

การให้อภัย
Image by OpenClipart-Vectors from Pixabay

ยังมีมนุษย์ส่วนหนึ่งที่เมื่อชีวิตของเขาต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก หรือต้องเจ็บปวดจากการกระทำของคนบางคน เขาเหล่านั้นเฝ้าแต่โกรธแค้นอาฆาตสาปแช่งอีกฝ่ายโดยลืมนึกถึงเรื่องกฎแห่งกรรม หรือเรื่องกรรมสนองกรรมว่า ความทุกข์ที่เรากำลังได้รับอยู่นี้แท้จริงแล้วคือผลของกรรมหรือการกระทำของเราในอดีต เราต้องเคยทำให้ใครบางคนเป็นทุกข์อย่างนี้มาก่อน ถ้าเรามั่นใจว่าชาตินี้เราไม่เคยทำผิดคิดร้ายกับใครอย่างนี้มาก่อนเลย ถ้าเช่นนั้นคงเกิดจากอดีตกาลนานโพ้นคือในอดีตชาติที่เราจำไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ เรื่องราวหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราทั้งสุขและทุกข์เป็นผลของกรรมหรือวิบากกรรม เราเป็นผู้สร้างเหตุแห่งกรรมนั้นด้วยตัวเอง ถ้าเรายอมรับเรื่องกฎแห่งกรรมด้วยใจที่เป็นกลางแล้วพิจารณาลึกลงไปว่า ตอนที่เราเป็นผู้สร้างเหตุหรือเป็นฝ่ายทำร้ายเขาให้ได้รับความทุกข์และความเจ็บปวดเช่นที่เรากำลังได้รับอยู่นี้ เขาคนนั้นคงเจ็บปวดทุกข์ทรมานน่าสงสารไม่ต่างจากเราในตอนนี้ ควรเปลี่ยนจากความรู้สึกสงสารตัวเองไปสงสารอีกฝ่ายที่เคยถูกเราทำร้าย เฮ้อ นี่เราสลับกันแค้นสลับกันอาฆาตมากี่ภพกี่ชาติแล้วนี่ พอหรือยัง ทันทีที่จิตเกิดสลดสังเวชเห็นโทษของกรรมนั้น ๆ จิตเกิดปัญญาขึ้นแล้ว  เมื่อจิตมีปัญญา การให้อภัยการอโหสิกรรมก็ทำได้ง่าย กงเกวียนกำเกวียนที่หมุนเวียนมานานกี่ภพกี่ชาติไม่รู้ ก็ถึงกาลหักสะบั้นลงอย่างสิ้นเชิง ไม่มีอีกแล้วความโกรธ ไม่มีอีกแล้วความแค้นอาฆาตพยาบาท มีเพียงเมตตา เมตตา เมตตาเท่านั้นที่งอกงามขึ้นในจิตดวงนี้

แต่ถ้าความโกรธแค้นอาฆาตยังมีอำนาจเหนือจิตใจ ยังตะโกนก้องว่า ยัง ยังไม่พอ กงล้อแห่งกรรมนี้ก็จะยังคงหมุนต่อไปอีกนานแค่ไหนไม่มีใครรู้ จนกว่าจิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเกิดปัญญา มีดวงตาเห็นธรรมมองเห็นทุกข์โทษของผูกเวรจองกรรม เปิดใจยอมรับกฎแห่งกรรมเรียนรู้และพัฒนาจิตอย่างแท้จริง จนในที่สุดสามารถปล่อยวางความอาฆาตพยาบาทลงได้ กรรมนั้นก็เป็นอันยุติเพราะกฎมันเป็นเช่นนั้น เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ธรรมโอสถที่ใช้รักษาโรคแค้นโรคอาฆาตมีชื่อว่า อภัย

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วยังจะแค้นกันต่อไปทำไมให้เสียเวลา อโหสิกรรมกันเสียชาตินี้เลยดีกว่าไหม

(การให้อภัย)

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง ครูหนุ่ย - งามจิต  มุทะธากุล

บทความที่น่าสนใจ

7 ขั้นตอนเริ่มต้นสำหรับมือใหม่หัด “ให้อภัย”

อโหสิกรรม นำสุข อโหสิมงคล พ้นทุกข์ บทความจาก พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ) 

วิธีให้อภัย และ ปล่อยวาง ความโกรธ เมื่อรู้สึกโกรธเกลียดใครสักคน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.