วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

“ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ” วัดต้นแบบแห่งความพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

“ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ”

วัดต้นแบบแห่งความพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

ท่ามกลางความเจริญรุ่งเรืองของเมืองหลวง เรามองเห็นรถราวิ่งกันขวักไขว่ บ้านเรือนของผู้คนที่มีความเป็นชุมชนเมือง และแหล่งท่องเที่ยวยาม ราตรีติดอันดับยอดนิยมของคนกรุง แทรกตัวอยู่ บนถนนพระราม 9 แม้สภาพแวดล้อมภายนอกจะเต็มไปด้วยแสงสีและความวุ่นวาย แต่ภายใน วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กลับให้ความรู้สึกสงบ บริสุทธิ์ สะอาด ร่มเย็น และเรียบง่าย จนแทบไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง

ยิ่งเมื่อได้รู้ว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยแล้ว ก็ทำให้เราอยากรู้ความเป็นมามากขึ้น

 

วัดพระราม 9 : วัดในหลวงทรงสร้าง

พระศรีญาณโสภณ (ปิยโสภณ) พระนักเผยแผ่ธรรมะแห่งวัดพระราม 9 พาเราเดินชมสถานที่ต่างๆของวัด พร้อมเล่าให้ฟังว่า

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เกิดขึ้นจากพระราชดำริเริ่มแรกของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัติย์ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ทำการทดสอบการบำบัดน้ำเน่าเสียที่ไหลมาตามคลองลาดพร้าวส่วนหนึ่งให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยวิธีการเติมอากาศลงไปในน้ำ แล้วปล่อยให้น้ำตกตะกอน และปรับสภาพน้ำก่อนระบายลงสู่คลองตามเดิม จากแนวพระราชดำรินี้เองทำให้ชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม 9 มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ต่อมาพระองค์ท่านได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายโครงการในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และบริเวณข้างเคียง โดยให้ทำการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 และดำเนินการจัดตั้ง “วัด” เพื่อเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่างๆ

จากนั้นในปี 2533 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้ นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี เข้าเฝ้าฯ เพื่อน้อมเกล้าฯถวายที่ดินจำนวนกว่า 8 ไร่สำหรับดำเนินการสร้างวัดในนามมูลนิธิชัยพัฒนา โดยได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้จัดสร้างวัด มี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส

หลังจากนั้นจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ในปี 2538 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดแห่งนี้เป็นแบบอย่างของวัดขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของชุมชนในบริเวณใกล้เคียง และเพื่อให้ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ในการเผยแผ่ศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนต่อไป

วัดแห่งความพอเพียง

เมื่อเข้าไปในวัดแห่งนี้จะสังเกตได้ว่ามีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัดอื่นอยู่หลายประการที่เห็นได้ชัดคือ เป็นวัดที่มีขนาดเล็ก ใช้งบประมาณในการก่อสร้างอย่างประหยัด คำนึงถึงความเรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอยสูงสุด และที่เป็นเอกลักษณ์คือ อาคารทุกหลังจะใช้สีขาว ซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม พระศรีญาณโสภณเล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการสร้างวัดแห่งนี้ว่า

“ตอนแรกคณะอนุกรรมการฝ่ายออกแบบได้ออกแบบอาคารศาสนสถานในวัดแห่งนี้ และประมาณราคาการก่อสร้างอยู่ในวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อให้สมพระเกียรติ แต่เมื่อนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลับมีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับแบบพระอุโบสถและอาคารอื่นๆ ให้มีขนาดเล็กลงจากเดิม มีพระราชประสงค์ให้อาคารศาสนสถานมีขนาดเล็ก ไม่โปรดให้สร้างวัดขนาดใหญ่ และให้ใช้งบประมาณไม่เกิน 10 ล้านบาท ทรงเน้นว่ามีวัดก็เพื่อให้พระได้สั่งสอนชาวบ้านในบริเวณนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นวัดใหญ่โต แต่เน้นให้สามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้เป็นสำคัญ”

ด้วยเหตุนี้ ภายในวัดจึงมีเพียงพระอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระจำนวน 5 หลัง ห้องสมุด โรงครัว สระน้ำที่มีกังหันน้ำชัยพัฒนา และบ่อบำบัดเท่านั้น

สำหรับพระประธานด้านในพระอุโบสถ พระศรีญาณโสภณเล่าว่า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบ และได้ทรงแก้ไขแบบอีกเล็กน้อยด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งได้พระราชทานนามว่า “พระพุทธกาญจนธรรมสถิต”

และมีการก่อสร้าง สถานปฏิบัติธรรม เฉลิมพระเกียรติ ร.9 เพิ่มเติม เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมกลางเมืองให้บุคคลทั่วไปที่กำลังมีความไม่สบายใจหรือความเครียดต่างๆ มาหา “ความสุขทางใจ” ได้ด้วยตนเอง

“วัดทุกวัดควรมีศูนย์ฝึกอบรมจิตที่ได้มาตรฐานประจำวัด ประจำชุมชน เพราะการฝึกจิตเป็นการเผยแผ่ที่ดีที่สุด เช่น การจัดฝึกอบรมเข้ม 7 คืน 8 วันของคุณแม่สิริ กรินชัย ที่ยุวพุทธิก-สมาคม เพชรเกษม 54 หรือหลักสูตรครูสมาธิ ของหลวงพ่อวิริยังค์ วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 หรืองานอบรมวิปัสสนากรรมฐานตามแบบอย่างที่หลวงพ่อจรัญ จังหวัดสิงห์บุรี ฝึกอบรม เพราะเป็นวิธีการที่ขัดสนิมใจคน และเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนได้จริง” พระศรีญาณโสภณกล่าว

ด้วยเหตุนี้ นอกจากวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก จะเป็นแบบอย่างของวัดพอเพียงแล้วยังถือเป็นวัดตัวอย่างในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่เหมาะกับชีวิตคนเมืองในยุคปัจจุบัน เป็นอย่างมากอีกด้วย

 

สถานที่ติดต่อ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก 999 ซอย 19 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทร. 0-2318-5926 – 7 สนใจติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ได้ที่ www.rama9temple.com, www.piyasophon.org, www.mcu.ac.th

เรื่อง เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ

ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความน่าสนใจ

ทำงาน เป็นหน้าที่ ส่วนความดีให้คนชม บทความให้ข้อคิดจากท่านปิยโสภณ

เกิด แก่ เจ็บ ตาย การเดินทางของชีวิต บทความชวนคิด จากท่านปิยโสภณ

คุณมอง “อดีต” เป็นตราสัง หรือพลัง บทความชวนคิด จาก ท่านปิยโสภณ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.