ย้อนรอยธรรมตามพระราชา วัดบวรนิเวศวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร หนึ่งในพระอารามหลวงชั้นเอกที่คนไทยรู้จักดี เป็นวัดสำคัญของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ ปัจจุบันประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร
วัดบวรนิเวศวิหารสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นที่ประทับในขณะทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10
พระพุทธชินสีห์
บรรจุพระบรมราชสรีรางคารกษัตริย์ 2 พระองค์
ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ประดิษฐานพระประธานองค์แรกคือ พระสุวรรณเขต มักเรียกหลวงพ่อโต หรือหลวงพ่อเพชรพระประธานองค์ใหญ่ ตั้งอยู่ด้านในสุด ส่วนด้านหน้าพระสุวรรณเขตประดิษฐาน พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย เป็นพระสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารองค์ที่สอง
ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ นอกจากบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังบรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468
(ปัจจุบันทางวัดเปิดอุโบสถให้ประชาชนกราบสักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา08.30 – 21.00 น โดยจัดระเบียบเป็นรอบ มีกฎเคร่งครัด เช่น ห้ามยืนถ่ายภาพ)
พระตำหนักปั้นหย่า
ที่ประทับเคร่งพระธรรมวินัย
ตึก 3 ชั้น อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวช และเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่เดิมเป็นเรือนในสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาตั้งที่วัดแห่งนี้ เพื่อสร้างเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวช
พระตำหนักปั้นหย่ามีป้ายจารึกชัดเจนว่า “สตรีห้ามขึ้น” ตามพงศาวดาระบุว่า ในรัชกาลที่ 4 ทรงปรับปรุงวางหลักเกณฑ์ความประพฤติ ปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ห้ามสตรีเข้าเขตสมณโดยเด็ดขาด รวมถึง สุนัขแมวและลิง ที่เป็นเพศเมียก็ห้ามเลี้ยงไว้ในบริเวณนี้
พระตำหนักเพ็ชร
สำนักพิมพ์ ห้องบัญชาการเผยแผ่ธรรม
เป็นพระตำหนักที่มีความงดงามวิจิตร สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ลายฉลุระเบียงดูคล้ายไม้ฉลุ แต่เป็นงานปูนปั้นทั้งสิ้น ปัจจุบันประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่กล่าวกันว่าเหมือนจริงที่สุด
ในอดีตที่ตั้งแห่งนี้เป็นโรงพิมพ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นสำหรับพิมพ์บทสวดมนต์ และหนังสือพุทธศาสนาอื่นๆ แทนหนังสือใบลานโดยใช้ตัวพิมพ์เป็นอักษรอริยกะที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อเผยแผ่ศาสนา (เป็นยุคเดียวกับ หมอบรัดเลย์ เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักเพ็ชร ถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่ทรงงานและที่ประชุมพระมหาเถระสมาคมเป็นเวลาช้านานหลายปี พระตำหนักแห่งนี้จึงเป็นที่ทรงงานสำคัญในการปฏิรูปศาสนานับแต่นั้น
พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและพระพุทธศาสนาอยู่เคียงข้างกันในการค้ำจุนแผ่นดินไทยมาโดยตลอด
ขอบคุณข้อมูล
งานเสวนาสัญจรย้อนรอยประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 5 “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”จัดโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และผศ.ดร.พีรศรี โพวาทองวิทยากรจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : คอลัมน์ Travel In Peace นิตยสาร Secret
เรื่อง : อุราณี ทับทอง
ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร
บทความน่าสนใจ
วัดอัมพวัน สร้างเกราะให้จิตใจด้วยการเจริญสติและปฏิบัติกรรมฐาน
7 เรื่องที่ควรรู้ไว้จะได้เข้าใจเมื่อไปวัด
ธรรมชาติ สอนธรรม ณ สถานปฏิบัติธรรม วัดทุ่งไผ่
สถานปฏิบัติธรรม บ้านไรวา จ.ชลบุรี สงบ สบาย ได้พระธรรม
คนเราเข้าวัดเพื่ออะไร? เรื่องน่าคิดจากพระไพศาล วิสาโล