” หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต ” ศิษย์สายหลวงปู่มั่น ธรรมทายาทหลวงปู่ขาว ละสังขารแล้ว
หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต พระภิกษุผู้เป็นธรรมทายาทของหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ได้ละสังขารอย่างสงบแล้ว วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เวลา 01.57 น. ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น สิริอายุ 88 ปี 1 เดือน 5 วัน 68 พรรษา
ประวัติปฏิปทาหลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต
หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต นามเดิม บุญเพ็ง จันใด จำนวนพี่น้อง 6 คน โดยองค์ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ครอบครัวมีอาชีพทำนา ท่านเป็นบุตรของนายคูณ และนางมา จันใด ถือกำเนิดตรงกับวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2472 แรม 3 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง ณ บ้านศรีฐาน ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
ท่านศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนศรีฐาน ซึ่งเป็นโรงเรียนวัด จึงทำให้ท่านมีความผูกพันกับศาสนา ครั้นอายุ 12 ปี บวชเป็นผ้าขาวเพื่อศึกษาและปฏิบัติข้อวัตรของผู้ทรงศีล และบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีธรรมาราม อ.เมืองยโสธร ในเวลาต่อมาบรรพชา เป็นสามเณรที่วัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร
ท่านเข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมีพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระอาจารย์มหาไพบูลย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อาจาริยธรรม
หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต ในขณะที่ท่านเป็นสามเณรอายุ 16 ปี ท่านได้เดินทางด้วยเท้าพร้อมด้วยท่านพระอาจารย์สอ และสามเณรลี จากวัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร ไปบ้านหนองผือนาใน ต.นาใน อ.อพรรณานิคม จ.สกลนคร
โดยใช้เวลาในการเดินทางเป็นระยะเวลา 15 วัน และท่านพร้อมคณะได้พักอยู่ห่างจากวัดป่าบ้านหนองผือประมาณ 12 กิโลเมตร โดยผลัดกันครั้งละรูป เดินทางเข้ามากราบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ เพราะถ้าไปพร้อมๆ กันก็เกรงว่าจะไม่งาม อาจจะมีความวุ่นวายและขาดความสงบได้
โดยหลวงปู่บุญเพ็ง เป็นรูปแรกที่ท่านเข้าไปก่อน ท่านได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่นว่า…
“แรกๆ นะตัวเย็นเฉียบเลยนะ หยิกไม่รู้เรื่อง มันตื่นเต้นมาก เพราะเคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่านพระอาจารย์มั่น ว่ามีระเบียบ เรียบร้อยมาก เป็นพระผู้มีความเคร่งครัดต่อพระวินัยมาก”
“ครั้งนั้นอาตตมายังจำได้ดีว่ามันตื่นเต้นมาก เมื่อเข้ากราบนมัสการ ก็เห็นความเป็นพระผู้มีปฏิปทาสูงมาก ยากที่จะมีใครทำได้เช่นท่าน งามจริงๆ แม้ท่านจะนั่งอยู่ในที่อันควรแล้ว ผิวพรรณของท่านเปล่งปลั่ง มองไม่เบื่อ เพราะเราไม่เคยเห็นอย่างนี้ สมกับคำล่ำลือจริงๆ ” ท่านพระอาจารย์มั่นท่านนั่งเฉยอยู่ มองพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง ท่านจึงเอ่ยขึ้นว่า “พอบอกได้สอนได้” หลังจากนั้นก็มีพระนำไปที่พัก ชึ่งก็เป็นป่าดงไม้ไผ่และรอบๆ บริเวณนั้นแหละ จิตใจของอาตมานั้นปีติดีใจมาก คิดว่า นี้เป็นโอกาสของเราแล้ว เราจะปฏิบัติศึกษาให้เกภูมิปัญญามากเท่าที่จะมากได้ทีเดียว”
เมื่อหลวงปู่บุญเพ็ง ได้เข้ามาอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ สมความตั้งใจแล้ว ได้รับหน้าที่อันเป็นกิจวัตรประจำวัน คือคอยดูแลและทำความสะอาดกุฏิ จัดสิ่งต่างๆ ภายในกุฏิของท่านพระอาจารย์มั่น
และต่อมาได้อยู่ใกล้ชิด โดยได้รับหน้าที่ปรนนิบัติช่วยครูบาอาจารย์ในยามชรา ชึ่งในเวลานั้นท่านพระอาจารย์มั่นท่านชราภาพแล้ว
หลวงปู่บุญเพ็งท่านเล่าอีกว่า…
“นับเป็นลาภของอาตมาที่ได้มีโอกาสอันสำคัญนี้ และเป็นช่วงที่ได้อยู่ปรนนิบัติท่านด้วย อย่างไรก็ตามการได้อยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ ซึ่งในครั้งนั้นได้มีครูบาอาจารย์มาอยู่จำพรรษษมากองค์ด้วยกัน และแต่ละองค์ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณวิเศษมีข้อวัตรปฏิบัติธรรมอย่างละเอียดอ่อน เป็นกำลังในกองทัพธรรมเจริญรุ่งเรือง”
“ครั้งพอตกเวลาเย็น อาตมาก็ได้ไปปรนนิบัติต้มน้ำร้อนน้ำดื่มถวายท่าน บีบนวดบ้างในบางคราว พอทำกิจของตนเสร็จก็เข้าไปนั่งรวมกับหมู่คณะ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ก็เทศน์คำสอนให้อุบายธรรมะที่กำลังติดขัดอยู่นั้นแหละ”
“ท่านบอกแก้ไขให้โดยไม่ได้เอ่ยขอกราบเรียนเลย อย่างนี้ละคิดอย่างไร วาระจิตของท่านสงบมากแค่ไหน ทำไมท่านถึงรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งเช่นนั้น คนเราสมัยนี้พอพูดถึงปาฏิหาริย์บ้าง เรื่องฤทธิ์บ้าง มันชอบใจ ติดหลงไปไม่รอด กำลังไม่พอแต่อยากเหาะได้นะ เอาเป็นว่าท่านพระอาจารย์มั่น ท่านดักใจได้ถูก แล้วท่านยังได้สอนธรรมะให้คลายสงสัยได้ยอดเยี่ยมอีกด้วย”
“อาตมาเคยได้อยู่รับใช้ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นเป็นเวลารวม 4 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.2489 ถึง พ.ศ. 2492 สิ่งที่ภาคภูมิใจก็คือ ได้อยู่ปรนนิบัติท่าน ได้อยู่ใกล้ชิดท่าน”
“เมื่อติดขัดในปัญหาอันใดก็จะสามารถถามแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ยิ่งในวัยชราของท่าน อาตมาและหมู่คณะได้ปรนนิบัติท่านพยายามเยียวยารักษาท่าน เพราะท่านเป็นพ่อแม่ที่ให้สิ่งที่มีคุณค่าทั้งสิ้น ไม่เคยสอนให้เสียคน ท่านคอยกล่าวตักเตือน ท่านว่า “เวลาไม่รอใคร ความตายอยู่เบื้องหน้า จงอย่าประมาทเลย”
“ปีสุดท้ายคือ พ.ศ.2492ท่านพระอาจารย์มั่นท่านอาพาธ อาการเจ็บป่วยนั้นแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ คณธศิษย์ทุกคนก็พยายามกันมาก ช่วยกันดูแลจัดเวรยาม คอยดูแลอาการเจ็บป่วยท่านพระอาจารย์ใหญ่ด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง”
“ภายหลังจากท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพและถวายเพลิงศพท่านไปแล้ว คณะศิษย์ทั้งหลายต่างแยกย้ายกันออกไป ในระยะ 4 ปี อาตมาคิดว่าได้เหตุผลในทางธรรม ได้รับจากหลวงปู่ครูบาอาจารย์มากมายพอควรทีเดียว”
ปี พ.ศ.๒500 หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโตเข้ามอบตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และขอโอกาสจากองค์หลวงปู่ออกธุดงค์หาประสบการณ์บริเวณเทือกเขาป่าภูพาน
ปี พ.ศ.2503 เดินทางไปกราบหลวงปู่ขาว ขณะองค์หลวงปู่กำลังสร้างวัดถ้ำกลองเพล อ.เมืองหนองบัวลำภู โดยรับภาระดูแลการก่อสร้าง และอยู่รับใช้หลวงปู่ขาวในเวลาเดียวกัน จนท่านละสังขาร
ทั้งนี้หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต เคยให้โอวาฒธรรมคำสอนไว้ว่า
“..คนเรามีแต่กระดูก ให้พิจารณากระดูก ให้ดูรูปกระดูก แล้วภาวนาให้เห็นกระดูก ถ้ายังไม่เห็นให้ลืมตาดู แล้วหลับตา แล้วภาวนาอีกทำไปเรื่อยๆ จนเห็นกระดูกได้ตลอดเวลา เราจะได้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดคลายโลภโกรธ หลง เพราะสมบัติในโลกไม่มีอะไร รูปร่างก็มีแต่กระดูก สมบัติต่างๆก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีอะไรเป็นของเราสักอย่าง..”
ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก “ศิษย์หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต” ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน และ http://www.dhammajak.net
ขอบคุณรูปภาพจาก ลานธรรมจักร
บทความน่าสนใจ
ตนบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย
คำสอนที่ไม่มีวันตาย ของ พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
สังขาร เป็นของไม่เที่ยง หลักธรรมคำสอนจากพระครูสันติธรรมวิเทศ (ปรีชา ชุตินธโร)