ปลูกผัก ปลูกสติ “ทำสวนในใจตน” กิจกรรมดี ๆ ที่หมู่บ้านพลัม
หากรู้สึกว่าการนั่งสมาธิภาวนาเป็นเรื่องที่เข้าถึงแก่นธรรมแสนยาก ไม่ถูกจริต “การปลูกผัก” อาจเป็นอีกวิธีที่เข้าใจหลักปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย ปลูกผัก ปลูกสติ หนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำในหมู่บ้านพลัม ภายใต้โครงการตื่นรู้สู่สุขภาวะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คุณตุ้ง – สุภาพร พัฒนาศิริ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหมู่บ้านพลัม บอกว่า “เป็นกิจกรรมที่เต็มเร็วที่สุด เปิดรับเพียงสองวันก็เต็มแล้ว”
นอกจากเป็นคอร์สระยะสั้นใช้เวลาเพียง 2 – 3 วัน ขณะที่คอร์สภาวนาหลัก ๆ ของหมู่บ้านพลัมต้องปฏิบัติไม่ต่ำกว่าหนึ่งสัปดาห์ คุณตุ้งให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะเรื่องอาหารปลอดภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวและกำลังอยู่ในความสนใจของสังคม
“หลายคนรู้ว่าชีวิตที่ดีคือการกินอาหารปลอดภัย แต่ไม่เคยได้สัมผัสจริง ๆ ความสนใจแรกของผู้ร่วมกิจกรรมคือการปลูกผัก ปลูกอย่างไรโดยไม่ใช้สารเคมี เพราะเราทำสวนปลูกผักอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยหมักจากเศษผักเศษขยะที่คนไม่ต้องการ มาหมักเป็นอาหารให้พืชผักเติบโต”
ในหมู่บ้านพลัมมีสวนผักหลายแปลง กระจายตามอาคารพักของพระธรรมาจารย์ซึ่งแยกพื้นที่หญิงและชาย ผลผลิตจากสวนใช้ประกอบอาหารแต่ละมื้อ และทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านพลัมล้วนทำด้วยสติ นักบวชบอกวิธีการปลูกผักในหมู่บ้านพลัมว่า
“เวลาทำสวน ต้องตระหนักรู้ทุกส่วน รู้ว่ามือกำลังจับอะไร กำลังทำอะไร การทำสวนอย่างมีสติต้องให้ความสนใจเต็มที่กับสิ่งที่เราทำตรงหน้า เราก็จะอยู่กับปัจจุบันและกำลังสัมผัสกับชีวิตที่มีอยู่ตรงนี้จริง ๆ”
คุณตุ้ง – สุภาพร พัฒนาศิริ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหมู่บ้านพลัม
::ข้อคิดจากแปลงผัก::
“ถ้าเราเคยปลูกต้นไม้ ทำสวน เห็นธรรมชาติเกื้อกูล จะรู้สึกว่าทุกชีวิตมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ แต่หลายคนทำสวนแล้วรู้สึกเกลียดหนอนหรือศัตรูพืช แต่สังฆะในวิถีนักบวชฆ่าสัตว์ไม่ได้ เพราะมีศีลกำกับ ความสำคัญจึงอยู่ที่การดูแลภายใน คือใจของเราเอง”
คุณตุ้งอธิบายต่อว่า หมู่บ้านพลัมไม่ได้ทำสวนเพื่อผลผลิตเป็นหลัก แต่ทำสวนเพื่อหล่อเลี้ยงความเข้าใจเรื่องธรรมชาติข้างนอกกับธรรมชาติในตัวเรา
“เรามีธรรมชาติอย่างหนึ่งคือ เราชอบสิ่งนี้และเราไม่ชอบสิ่งนี้ การทำสวนทำให้เราเข้าใจได้ชัดมากว่า เมื่อธรรมชาติข้างนอกไม่ได้เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น เช่น ต้นไม้ไม่โต แล้วเราจะดูแลใจตัวเองอย่างไรให้ยังคงเบิกบานเป็นปกติซึ่งอาจไม่ง่ายเสียทีเดียว บางคนเกลียดหนอนที่มาราวีในแปลงมาก หายามาใช้สารพัด นั่นเป็นเพราะชุดความคิดที่ต้องการเอาชนะเพื่อให้ผักของเขารอด แต่หมู่บ้านพลัมมีชุดความคิดว่า ตอนนี้แมลงกินเยอะไม่แบ่งเรา เราก็ต้องกลับมาดูแลสวนในใจของเราเอง”
::บำรุงสวนในใจ::
ภิกษุณีนิรามิสาอธิบายเรื่อง การทำสวนในใจ ให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้าใจว่า
“ขณะบวชที่ฝรั่งเศส ยังมีกิเลสเก่า ๆ ที่สะสมมา ก็ต้องใช้เวลาในการขัดเกลา ช่วงแรกหลวงพี่รู้สึกอึดอัดหงุดหงิด เพราะเราไม่มีปัญญารู้แจ้งในเรื่องนั้น พยายามนั่งสมาธิแต่คิดไม่ออก ยิ่งคิดยิ่งแย่ จึงหันไปทำสวน ตัดหญ้า อยู่กับดิน อยู่กับสิ่งรอบข้าง ผ่านไปสักพัก อยู่ดี ๆ เราก็อ๋อ มันเป็นอย่างนั้นเอง เกิดปัญญารู้แจ้ง ทำให้หลวงพี่เข้าใจว่า ความคิดที่เกิดจากปัญญาและการพยายามทำความเข้าใจนั้นแตกต่างกัน เมื่อเราปล่อยจากความคิด มีสติอยู่กับสวน อยู่กับการทำงาน จึงเกิดจุดอิ่มตัวของมัน นั่นคือการมีสมาธิในจิตใจของเรา ทำให้เราหยุดคิด หยุดเศร้าโศก น้อมใจกลับมาสู่กายที่กำลังทำงานอยู่ รวมใจกับกายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ได้
“การอยู่กับปัจจุบันขณะทำให้เราได้อยู่ตรงนั้นอย่างเต็มร้อย แม้แต่เวลาอยู่กับคนที่เรารัก ถ้าเรารู้ว่าใครอยู่ตรงหน้า รู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เราก็พร้อมที่จะเปิดใจรับ มอบเวลากายและใจทั้งหมดให้กันอย่างเต็มร้อย หากเขามีปัญหา เราสามารถนั่งฟังตามลมหายใจ โดยที่ไม่ตัดสินไม่ว่า ไม่โกรธ ภาวะนั้นคือภาวะของการมีสติ เป็นพลังแห่งความตระหนักรู้ ดังนั้นเวลาที่เราฝึกสติก็เหมือนกับเราเป็นคนทำสวน เราพยายามรดน้ำพรวนดิน ให้ได้แสงพอน้ำพอ ในฐานะที่เราเป็นคนปฏิบัติ เราก็คือคนทำสวนในใจของเรา เมื่อมีสติ จิตเป็นสมาธิมากขึ้น ต้นไม้แห่งปัญญาก็จะงอกงามเอง”
::สัจธรรมจากปุ๋ยหมัก::
ท่านติช นัท ฮันห์เคยสอนว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเป็นความมหัศจรรย์ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตสามารถเจริญสติได้” ชีวิตในหมู่บ้านพลัมทุกแห่งจึงทำงานไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติ ไม่เว้นแม้แต่การหมักปุ๋ย
“การทำปุ๋ยในคอร์สปลูกผักปลูกสติเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้สำคัญว่าผักต้องการปุ๋ย แต่สำคัญที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากเศษอาหาร จากขยะเหม็น ๆ ที่คนไม่ต้องการแล้วให้กลายเป็นปุ๋ยที่ต้นไม้ต้องการ ให้มันมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสอนเราว่า สิ่งที่เราไม่ชอบเพราะมันสกปรกไม่มีอะไรน่าจรรโลงใจ น่าขยะแขยงมาก ทั้ง ๆ ที่มันก็มาจากเรา เมื่อมันแปรสภาพตามกระบวนการ เปลี่ยนกลิ่นเหม็นที่เราไม่ชอบจนเป็นกลิ่นอีกแบบหนึ่ง กองเศษอาหารยุบตัวลง กลายเป็นปุ๋ยไปใส่ต้นไม้ให้งอกงาม
“การเห็นกระบวนการแปรเปลี่ยนแบบนี้ทำให้ตระหนักรู้ว่า ความขยะแขยงที่เราเคยมีในตอนแรกมันไม่จริง มันเรียกว่าเป็นจิตปรุงแต่งของเราเอง หลวงปู่ติช นัท ฮันห์เคยใช้คำว่า ดอกกุหลาบกับขยะเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะขยะไปเลี้ยงกุหลาบให้เติบโตและมีกลิ่นหอม” คุณตุ้งอธิบาย
จึงเกิดเป็นคำถามที่ต้องย้อนกลับมาถามตัวเราเองว่า เราจะจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตัวเราได้อย่างไร
ออกไปสวนปลูกผักสักพักอาจพบคำตอบ
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 229
เรื่อง : อุราณี ทับทอง, เชิญพร คงมา, อิศรา ราชตราชู
ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร, สรยุทธ พุ่มภักดี
บทความน่าสนใจ
สติชนะทุกสิ่ง อาโป ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์