ท้าวทองกีบม้า (ตองกีมาร์) นางผู้เอาชนะต่อชะตาชีวิต
“เมื่อชีวิตไม่สิ้น ก็จงต่อสู้ให้ถึงที่สุด ไม่มีคำว่าโชคร้าย
ไม่มีคำว่าโชคดี แล้วจะเรียกว่าชีวิตได้อย่างไร”
ท้าวทองกีบม้า (ตองกีมาร์) นางผู้เอาชนะต่อชะตาชีวิต
ตอนนี้ผู้คนทั่วแผ่นดินสยามกำลังอินกับละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นละครที่อิงประวัติศาสตร์ชาติไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคทองของการค้าของกรุงศรีอยุธยาเลยก็ว่าได้
ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสมีตัวละครที่อ้างอิงกับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เช่น ออกญาโหราธิบดี ออกขุนศรีวิสารวาจา และ คอนสแตนติน ฟอลคอน และนางทองกีบม้า ภรรยาของคอนสแตนติน ที่เป็นชาวต่างชาติ
ครั้งนี้จะขอพูดถึงเรื่องราวของ นางทองกีบม้าถูกบังคับแต่งงานและต้องทนใช้ชีวิตขมขื่นมาโดยตลอด
นางทองกีบม้า มีชื่อเต็มว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา เป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ นางเป็นธิดาคนโตของฟานิก กูโยมาร์ กับ นางอูร์ซูลา ยะมะดะ บิดาของนางมีเชื้อสายโปรตุเกส ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว
มารี กีมาร์ ได้สมรสกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกผู้เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะนั้นนางมีอายุได้ 16 ปี หลังการสมรส นางก็ไม่ยึดถือยศถาบรรดาศักดิ์และยังชักชวนให้สามีให้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในศาสนาขึ้นกว่าเดิม
ชีวิตอันรุ่งโรจน์ของนางก็ดับวูบลงเมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน วันที่ 30 พฤษภาคม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชโองการเรียกตราประจำตำแหน่งสามีนางคืน วันที่ 31 พฤษภาคม ริบอาวุธเอกสาร และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ต่อมาได้ตีตราประตูห้องทุกห้องแล้วจัดหายามมาเฝ้าไว้ วันที่ 2 มิถุนายน ขุนนางผู้หนึ่งนำไพร่ 100 คนมาขนเอาเครื่องแต่งบ้านและจินดาภรณ์ไป
นางมารีกีมาร์แอบแบ่งทรัพย์สินและเครื่องเพชรออกเป็นสามกล่อง สองกล่องแรกฝากไว้กับบาทหลวงเยสุอิต ส่วนอีกกล่องนางมารีกีมาร์ฝากไว้ที่ทหารฝรั่งเศสชั้นร้อยโทไป แต่บาทหลวงเยสุอิตกลัวว่าตัวเองจะไม่ปลอดภัยจึงไปฝากไว้กับนายพันโบช็อง เมื่อถึงเวลาคืนทรัพย์สินของฟอลคอนแก่ออกญาโกษาธิบดีผู้แทนของไทย ทรัพย์สินที่เหลือมีแค่หนึ่งกล่องเท่านั้น ด้วยเหตุนี้มารีกีมาร์จึงมีสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว นางต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับการคุมขัง ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนางได้ลักลอบให้ความสะดวกบางอย่างแก่นาง
แต่ถึงอย่างนั้นนางต้องประสบเคราะห์กรรม เมื่อหลวงสรศักดิ์ พระโอรสของสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลในรูปโฉมของนาง และประสงค์ที่จะนำนางมาเป็นภริยา โดยส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง แต่นางกลับปฏิเสธ เมื่อหลวงสรศักดิ์ไม่สมดั่งใจจากรักจึงกลายเป็นเกลียดและขู่อาฆาต
ในเวลาเดียวกันนั้นนางพยายามที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ไม่สำเร็จ นางต้องทนทุกข์ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว อดข้าว อดน้ำ หายไปสักพักหนึ่ง จนสุดท้ายนางมารีกีมาร์เขียนจดหมายส่งไปยังบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2249 เพื่อให้บาทหลวงกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฝรั่งเศสที่สามีเคยเป็นผู้อำนวยการแก่นางบ้าง ในปี พ.ศ. 2262-2267 หลังสิ้นราชการพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นตามลำดับ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าฯ ให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บภูษาฉลองพระองค์ ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต จนเป็นที่โปรดปราน ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมาย หลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด และถึงมรณกรรมในปี พ.ศ. 2265
ชีวิตคนเราก็เปรียบเหมือนดั่งสะพานมีทั้งขาขึ้นและขาลง เราต้องเข้าใจสัจธรรมของชีวิต อย่าจมปลักอยู่กับความทุกข์ อย่าหลงระเริงกับความสุขให้มากเกินไป เพราะวันพรุ่งนี้คือวันที่ไม่แน่นอน จงทำวันนี้ให้ดีที่สุด และอย่ายอมแพ้และท้อถอยกับโชคชะตาชีวิต เพราะในโลกใบนี้ยังมีทางสว่าง มีทางออกให้เราเสมอ
เรียบเรียงโดย: จักรินทร์ คำราช
ขอบคุณที่มาของเรื่อง: Wikipedia, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาราชวิทยาลัย
ขอบคุณรูปภาพ: channel 3, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาราชวิทยาลัย และ Dailymotion
บทความน่าสนใจ
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต กล่าวถึงบุพเพสันนิวาสในทางพระพุทธศาสนา
6 พฤติกรรม ที่มิควรเอาแบบอย่าง จากละครบุพเพสันนิวาส