ครูพงษ์

กระดาษทราย…ข้างถนน – ครูพงษ์ ธนะรัตน์ ธาราภรณ์

กระดาษทราย…ข้างถนน ครูพงษ์ ธนะรัตน์ ธาราภรณ์ – ท่ามกลางเสียงจ้อกแจ้กจอแจของผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมาในสถานีรถไฟหัวลำโพง มีชายหน้าตาเคร่งขรึมผู้หนึ่งนั่งเงียบๆ อยู่เพียงลำพัง ดวงตาของเขาสอดส่ายไปทั่วบริเวณนั้นเหมือนมองหาใครสักคน มองผิวเผินเขาดูไม่ต่างจากผู้โดยสารทั่วไปที่มานั่งรอรถไฟ แต่ใครจะรู้ว่าคนที่เขามานั่งรอกลับเป็นเด็กเร่ร่อนที่อยู่ตามหัวลำโพงแห่งนี้…

“เขา” ที่เราพูดถึงคือครูพงษ์ – ธนะรัตน์ ธารากรณ์ หรือที่คนในวงการครูเรียกเขาว่า “ครูข้างถนน” ผู้ซึ่งใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการพูดคุยและช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนและเด็กด้อยโอกาสให้พ้นจากสถานที่ที่อันตรายอย่างสถานีรถไฟหัวลำโพงและบริเวณใกล้เคียง

“หากเด็กๆ มีครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างดี คงไม่มีเด็กที่ไหนตัดสินใจมาตายเอาดาบหน้าด้วยการออกมาเร่ร่อนแบบนี้หรอก” ครูพงษ์ เปรยถึงความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวดขึ้นเบาๆ…

“ผมอยากช่วยเหลือเด็กๆ ให้ออกมาจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดเพราะเด็กที่ออกมาเร่ร่อนไม่มีวันรู้เลยว่าเขาต้องเจอกับอันตรายอะไรบ้าง ทั้งพวกหลอกใช้แรงงานเด็ก โดนเจ้าถิ่นรุมทำร้ายร่างกาย รวมถึงหลอกไปค้าประเวณี

“ที่หัวลำโพงจะมีแก๊งผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งคอยหลอกเด็กให้ไปทำงานบนเรือ พอผ่านไป 6 เดือน ได้เวลาเข้าฝั่ง เด็กพวกนั้นมักจะโดนถีบลงน้ำเพื่อให้จมน้ำตาย เพราะกลุ่มหลอกใช้แรงงานไม่อยากจ่ายเงินให้…

“ช่วงแรกที่ทำงาน ผมได้รู้จักกับเด็กค้าประเวณีคนหนึ่ง เลยชักชวนเธอให้ไปเรียน กศน. แต่เธอปฏิเสธมาตลอด จนวันหนึ่งเธอตัดสินใจว่าจะเรียน ผมเลยนัดให้มาที่โรงพยาบาลจุฬาฯเพื่อนำใบสมัครเรียนมาให้ พอไปถึงที่นัด กลับกลายเป็นว่าเด็กคนนั้นช็อกตายในห้องน้ำของโรงพยาบาล เพราะฉีดยาเสพติดเข้าร่างกายเกินขนาด…ตอนนั้นผมได้แต่โทษตัวเองที่ไปถึงช้าเกินไป”

เมื่อพบเจอปัญหาเหล่านี้มากเข้า ครูข้างถนนคนนี้จึงเริ่มต้นรุกเข้าไปช่วยเหลือเด็กด้วยการถามถึงปัญหาและสาเหตุของการออกมาเร่ร่อน ชวนวาดรูประบายสี เล่นโดมิโนเพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย สอนทักษะการใช้ชีวิตว่าควรทำตัวอย่างไรไม่ให้ทั้งตัวเองและสังคมเดือดร้อน ก่อนจะชวนเหล่าผ้าขาวไปอยู่ที่มูลนิธิบ้านสร้างสรรค์เด็กที่เขาทำงานอยู่ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของเด็กตัวน้อย

“สิ่งสำคัญของการเป็นครูคือ ต้องทำหน้าที่เป็นเกราะกำบัง แสดงให้เขาเห็นว่าเราสามารถปกป้องพวกเขาในวันที่เกิดปัญหาได้ เด็กเหล่านั้นจะได้รู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นใจที่มีคนคอยอยู่เคียงข้าง “เราพยายามสอนว่าสิ่งไหนดี ไม่ดี เช่น บอกเขาว่าการลักขโมยไม่ดีนะ เสี่ยงถูกตำรวรจับ ถ้าเขาอยากเลิก ขอให้บอก จะพาไปฝึกอาชีพ ผมพยายามทำตัวเป็นเพื่อนกับเขา พอวันหนึ่งเขามีปัญหา เขาจะเข้ามาหาผมเอง”

ปัญหาที่เด็กๆ เจอนั้นไม่ได้ต่างกับที่ครูพงษ์เคยเจอ เพราะครอบครัวของเขาเองก็ยากจน มีพ่อแม่เป็นกรรมกรก่อสร้างไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ต้องตามพ่อแม่ไปอยู่ไซต์งานตลอดจนวันหนึ่งเขาได้มาอยู่ที่มูลนิธิฯ มี “โอกาส” เรียนจนจบปริญญาตรี และได้เป็นผู้ช่วยครู ด้วยเหตุนี้ ครูพงษ์จึงตั้งปณิธานว่าจะช่วยเหลือและให้โอกาสกับเด็กเหล่านี้ให้ถึงที่สุด

“ตอนเด็กๆ รู้สึกว่าทำไมชีวิตเราถึงลำบากขนาดนี้ ทำไมไม่สุขสบายเหมือนคนอื่น อยากใส่ชุดนักเรียนก็ไม่เคยได้ใส่ไม่เคยวางแผนชีวิตว่าจะได้เรียนหรือคิดถึงอนาคตเลย แต่พอได้รับโอกาส ได้ทำงานเป็นครู มีเงินเดือน ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็รู้สึกดีใจ

พงษ์-ธนะรัตน์ ธาราภรณ์
ความสุขใจของครูข้างถนน ครูพงษ์-ธนะรัตน์ ธาราภรณ์

“เมื่อก่อนฝันอยากเป็นตำรวจ แต่พอโตขึ้นมาอยากเป็นครู เพราะคิดว่ายังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ไม่ได้รับการศึกษา กลายเป็นเด็กด้อยโอกาสหรือเด็กเร่ร่อน

“เริ่มแรกของการทำงานเป็นครูข้างถนน ยังไม่มีใครยอมรับ เพราะคิดว่าอาชีพครูไม่น่าจะมาเกลือกกลิ้งอยู่ข้างถนนแบบนี้ แต่ตอนหลังๆ เราทำให้เขาเห็นความตั้งใจของเรา และเด็กๆ ได้รับการช่วยเหลือจริงๆ หลายๆ คนก็เข้าใจ และให้ความร่วมมือมากขึ้น”

แม้ถนนที่ ครูพงษ์เดินจะเต็มไปด้วยควันพิษและฝุ่นละอองและมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบที่สวยงาม ทว่าครูข้างถนนผู้เป็นดั่งกระดาษทรายคนนี้ ก็ยังคงทำหน้าที่ขัดเกลาจิตใจและช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนอย่างไม่ท้อถอย เพื่อผลักดันให้ไม้ที่เขาขัดเกลาเปล่งประกายอย่างสวยงามด้วยตัวเอง…

เพียงเท่านี้ก็เป็นความสุขใจอย่างไม่มีประมาณของกระดาษทรายข้างถนน…แผ่นนี้

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

เรื่อง เพ็ญศิริ แสงสิริ, ธัญชนก จิตรการุณรัตน์ ภาพ สุรเดช สมศรี


บทความน่าสนใจ

บนเส้นทางธรรมไม่มีทางลัด ครูหนุ่ย – งามจิต มุทะธากุล

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.