สถาปนิกยุคใหม่ หัวใจเทวดา

สถาปนิก ยุคใหม่ หัวใจเทวดา

จินตนาการของหนูป่องกว้างไกลขึ้น เมื่อคุณแม่ยอมให้เธอใช้ฝาบ้านขีดๆ เขียนๆ ได้อย่างเต็มที่แทนกระดาษวาดรูป ให้สีกล่องใหญ่แทนดินสอไม่กี่แท่ง ให้เล่นหม้อข้าวหม้อแกงที่สามารถทำอาหารทานได้จริงแทนหม้อพลาสติกที่เป็นของเล่นของเด็กๆ รวมทั้งทำของเล่นให้หนูป่องเองแทนการไปซื้อของเล่นราคาแพง

เมื่อโตขึ้นมาหนูป่องจึงกลายเป็น สถาปนิก ที่คิด พูด ทำไม่เหมือนคนอื่น…เป็นนักร่างแบบและออกแบบชุมชนที่ผู้คนเรียกกันว่า สถาปนิก “สลัม”

และเป็นผู้หญิงที่มีชื่อว่า ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ หรือคุณป่อง ผู้ก่อตั้งกลุ่ม เคส (CASE – Community Architects for Shelter and Environment)

“พ่อแม่เป็นคนเปิดจินตนาการให้พี่…แม่ยกฝาผนังในบ้านให้พี่วาดเขียนได้หมด สมัยก่อนไม่มีมงกุฎพ่อก็ตัดกระดาษสีขาวทำเป็นมงกุฎให้ ส่วนแม่จะสอนวิธีทำดอกไม้จากกระดาษ” เมื่อโตขึ้นคุณป่องจึงต่อยอดความสามารถจากการ “เล่น” ในสมัยเด็กด้วยการเลือกเรียนปริญญาตรีในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วบินไปเรียนต่อปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการพัฒนาชุมชน ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษที่ช่วยเปิดหูเปิดตาของคุณป่องให้กว้างขึ้น

เมื่อกลับมา เธอจึงนำสิ่งที่เรียนมาต่อยอด เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนต่อไป…

IMG_9396
CASE – Community Architects for Shelter and Environment

“ตอนแรกแม่ของพี่ไม่เข้าใจ คิดว่าเมื่อลูกได้ปริญญาโทกลับมาจากเมืองนอกก็น่าจะได้ทำงานไฮโซ กลายเป็นว่าทุกคนอยู่กันแบบเน่าๆกินตามมีตามเกิด ทำงานพัฒนาชุมชน

“จนมาหลังๆ พอลงหนังสือเยอะ เริ่มเข้าไปสอนหนังสือเกือบทุกมหาวิทยาลัย แม่ก็เริ่มเข้าใจ จากที่เคยคิดว่างานที่เราทำน่าจะได้เงินเยอะๆ ตอนนี้เขาเปลี่ยนความคิดไปมองว่าเราทำความดีเพื่อสังคม เขาก็ภูมิใจ”

หลายคนมักมองว่าจ้างสถาปนิกไม่ได้ประโยชน์อะไร ทั้งยังคิดราคาแพงและให้บริการแต่คนรวยเท่านั้น แต่คุณป่องกลับทำให้ใครหลายคนมองอาชีพสถาปนิกในอีกมุมหนึ่งเพราะ…เธอลงไปคุยกับชาวบ้าน ลงแรงงานไปก่อร่างสร้างเติมชุมชน เดินย่ำเข้าไปในสลัมจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สถาปนิกชุมชน”หรือ “สถาปนิกสลัม”

“พี่ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งสถาปนิกเป็นแบบชุมชนกับไม่ชุมชน เพราะจริงๆ แล้ว สถาปนิก ทุกคนทำแบบพี่ได้หมด…แค่แตกต่างกันตรงรายละเอียดการทำงานเท่านั้น

“คนจบ สถาปนิก มาควรทำงานได้ตั้งแต่ระดับบนสุดถึงระดับล่างสุด แต่ส่วนมากเรียนกันมาแบบระบบสำเร็จรูป ปี 1 ออกแบบบ้านคหบดี ปี 2 สร้างบริษัท ส่วนใหญ่จึงคุ้นกับการออกแบบก่อสร้างให้แต่คนในระดับบนเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วเราควรเอาสิ่งที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่แค่เรียนมาให้สวยๆ เก๋ๆ”

ดังนั้นการทำงานของพี่ป่องจึงเริ่มต้นด้วยการใช้เวลายามเย็นหรือทุกเสาร์ – อาทิตย์เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เปิดใจรับฟังสิ่งที่ทุกคนต้องการ ให้ทุกคนร่วมคิด ร่วมสร้างสิ่งต่างๆ และพลิกแพลงขบคิดแก้ปัญหาร่วมกัน

“การทำงานแบบนี้เราต้องคิดว่าทุกคนเท่ากันก่อน ฉันรู้แค่ไหน เธอรู้แค่ไหน เอามารวมกัน ไม่ใช่เธอจบ ป.2 ฉันจบปริญญาโท เธอต้องฟังฉัน แบบนี้ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

IMG_9397
CASE – Community Architects for Shelter and Environment

“การให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งชาวบ้านและตัว สถาปนิก เอง ยกตัวอย่างเช่น เราเสนอว่าสะพานข้ามคลองน่าจะอยู่ตรงนี้ แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่ได้ เพราะบ้านที่จะวางสะพานเป็นบ้านที่เห็นแก่ตัวมาก ถ้าสร้างตรงนั้นคงไม่มีใครเดินผ่านได้

“หรืออย่างแปลงที่ดินในสลัม 5 10 6 8 เมตร เราต้องไปคุยว่าพื้นที่ที่เขาต้องการใช้เท่าไร ต้องมีพื้นที่จอดซาเล้ง รถขายบะหมี่เท่าไร นี่คือสิ่งที่สถาปนิกปกติไม่เคยรู้ แต่เราต้องรู้ หรืออย่างตอนทำสึนามิ จั่วต้องหันลงทะเลตามความเชื่อของชาวประมง แต่หลายบ้านที่รัฐสร้างให้กลับหันจั่วขึ้นบก สุดท้ายก็ไม่มีใครอยู่เลย”

ค่าใช้จ่ายในการทำงานแต่ละครั้งนั้น สมัยก่อนกลุ่มเคสเคยได้มาจากองค์กร สถาบัน และมูลนิธิต่างๆ แต่บางครั้งนโยบายขององค์กรก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้การทำงานมีปัญหา คุณป่องจึงหันมาให้ชาวบ้านลงขันกันแทน

“พี่ตั้งใจให้ชาวบ้านเป็นคนจ่าย เพราะไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ เช่นถ้ามีชาวบ้านสัก 2,000 คนในชุมชน จ่ายคนละ 5 บาทต่อการประชุม เดือนหนึ่ง 4 – 5 ครั้ง ก็จะได้เงินราว 4 – 5 หมื่น

“วิธีการทำงานของเราชัดเจน คือ มีบาทใช้บาท จะไม่ไปกู้เงินเอามาใช้ แต่จะใช้วิธีดูปัญหาและเอาความสามารถมาแก้ปัญหา อย่างเราเข้าไปในสลัมแล้วคิดว่าความสกปรกกับกลิ่นเหม็นคือปัญหา แต่พอไปถามชาวบ้านเขาบอกว่าความยากจนคือปัญหา เพราะฉะนั้นเราจะไปตีความจากสิ่งที่เราเห็นไม่ได้ ต้องวางแผนร่วมกัน”

สิ่งที่คุณป่องหนักใจจึงไม่ใช่ปัญหาเรื่องงานที่ค่อนข้าง แปลก กว่าคนอื่น เรื่องเงินที่ ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่กลับเป็น “คน” ไม่ว่าจะเป็นคนในวงการเดียวกันหรือนอกวงการก็ตาม

“คนที่เคยเจอส่วนมากเหมือนในละครเลย มีตัวอิจฉาคอยสร้างข่าว คอยเลื่อยเก้าอี้ ดิสเครดิตตลอดเวลา โดยเฉพาะคนในวงการเดียวกัน บางคนหาว่าเราบ้าก็มี…แต่ถ้าเป็นชาวบ้านพี่ไม่ค่อยหนักใจ เพราะจะร้ายแค่ไหนก็อยู่ในพื้นที่ทำงาน”

หากเป็นเมื่อก่อน เมื่อรู้ว่าข่าวมาจากใคร เธอจะเดินเข้าไปชี้หน้าด่ากลับตามประสาคนไม่กลัวใคร แต่เมื่อเจอมรสุม โดนสร้างข่าวใส่ร้ายบ่อยครั้งเข้า คุณป่องก็เริ่มเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง ดังนั้นทุกวันนี้…เธอจึงมีความสุขมากขึ้น

นอกจากนี้ คุณป่องยังเคยถูกโกงจนแทบล้มละลาย ปิดบริษัทกลับไปอยู่บ้าน แต่เธอก็พยายามเข็นให้บริษัทได้ขับเคลื่อนต่อไป เพราะรู้ว่ายังมีอีกหลายชุมชนรอให้เธอไปช่วยสร้างและร่างแบบแผนให้ชุมชนของพวกเขาน่าอยู่ยิ่งขึ้น

IMG_9398
CASE – Community Architects for Shelter and Environment

“ไปทำงานกับชาวบ้านส่วนมากจะสบายใจ กลับบ้านทีไรพี่ก็จะได้ปลาทูเค็ม กะปิ น้ำปลา ปูม้าต้ม เสื่อ ติดมือมาเยอะแยะไปหมด… มีอยู่ครั้งหนึ่งลุงคนหนึ่งต้มปูสดๆ ใส่ลังมาให้เราหิ้วขึ้นเครื่องบินหรือถ้าเกิดมีใครมาชี้หน้าด่า ทุกคนจะกันเราไปไว้ข้างหลังทันที”

คนดีที่เสียสละเพื่อสังคม นักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาชุมชน…คือคำชมเชยที่เธอเคยได้ยินได้ฟัง และ รางวัลศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม ปี 2553 คือสิ่งที่เคยได้รับ แต่ทั้งหมดนี้คุณป่องกลับมองว่าสิ่งที่เธอทำไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นแต่อย่างใด เพราะเธอแค่ทำงาน“ตามหน้าที่” เท่านั้น

“จริงๆ แล้วทุกคนมีหน้าที่ทำงานเพื่อสังคมกันทั้งนั้น ถ้าทุกคนเข้าใจว่าบทบาทของตัวเองคืออะไร แล้วทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด รับผิดชอบงานที่ทำและมีจริยธรรมในการทำงาน…นี่ก็ถือเป็นการทำงานเพื่อสังคมแล้ว”

จินตนาการของคนจำนวนมากอาจเป็นเพียงแค่จินตนาการ…แต่สำหรับคุณป่อง เธอกลับนำจินตนาการที่มีมาก่อร่างสร้างประโยชน์ให้สังคมต่อไปอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย…

 

เรื่อง ณัฐนภ ตระกลธนภาส

ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.