สังเกต

ฝึกฝนให้เป็นคนช่าง สังเกต โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ฝึกฝนให้เป็นคนช่าง สังเกต โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

• ได้ยินพระอาจารย์พูดเสมอว่า ให้สังเกตตัวเอง สังเกต ลมหายใจ แต่เป็นคนไม่ช่างสังเกตเลย ควรทำอย่างไรดีคะ

เหตุผลที่ว่าทำไมจิตหรือสัตว์ทั้งหลายยังไม่ไปวิมุตติเสียที เพราะว่าขาดการสังเกตนี่แหละ อะไรผ่านไปผ่านมาก็เฉย ๆ ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ดูเหมือนดี แต่ลึก ๆ แล้วมีโมหะคลุมจิตอยู่ โมหะเป็นอวิชชา ไม่รู้สภาพธรรมดาตามความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เฉย ๆ ที่ว่า นานเข้าจะเป็นแม่นางเอ๋อได้นะ (หัวเราะ) จะเดินไปไหนก็เฉย ใครทำอะไรกับใครก็เฉย บ้านเมืองจะเป็นอะไร โลกจะแตก น้ำจะท่วม ระเบิดลงก็เฉย ไม่รู้สึกอะไร สุดท้ายไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นเราต้องขุดร่องใหม่ สร้างนิสัยใหม่ เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการสังเกตขึ้นมา

นักวิทยาศาสตร์มีนิสัยหนึ่งที่เหมือนกันคือช่างสังเกต แต่เขาสังเกตนอกตัว พุ่งจิตส่งนอก สังเกต สิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ได้นวัตกรรมหรือการค้นพบใหม่ ๆ สำหรับนักปฏิบัติธรรมการเป็นนักสังเกตคือไม่ส่งจิตออกนอก วกเข้ามาสังเกตกายกับใจ เราหายใจมาตลอด ไม่เคยหยุดหายใจ แต่เรากลับไม่เคยสังเกตลมหายใจของตัวเองเลยนะ

เรามาสร้างนิสัยใหม่ ก็เหมือนเพาะเมล็ดพันธุ์ใหม่ ไหนลองสังเกตดูการหายใจแต่ละครั้ง กายเป็นอย่างไร ใจเป็นอย่างไร สังเกตดูแล้วก็ไปทำอย่างอื่นต่อ ไม่ต้องสังเกตต่อเนื่องยาวนาน สังเกตเป็นพัก ๆ เป็นคราว ๆ ไป แต่บ่อย ๆ เรื่อย ๆ เนือง ๆ เพื่อขุดร่องใหม่ จะทำอะไรก็วกเข้ามาขุดร่อง กลับมาสังเกตกายใจ

แต่ไม่ต้องไปสังเกตข้างนอกนะว่าใครทำอะไร คนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ขี้แมลงวันอยู่ตรงไหน ปากจมูกเป็นอย่างไร สระบุรีเลี้ยวขวาเลี้ยวซ้ายถูกไหม (หัวเราะ)

สังเกตข้างนอกมีแต่ฟุ้งซ่านไปเรื่อย สังเกตภายในจะเห็นไตรลักษณ์ เห็นความจริง เกิดความเข้าใจ สุดท้ายก็เข้าถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่าง ๆ ไปตามนั้นเลย

• ถ้ามีหน้าที่การงานที่ต้องติดต่อกับคนอื่น หากคอยแต่สังเกตกายใจ ก็อาจบกพร่องในการทำงานได้ ควรทำอย่างไรคะ

ในขณะที่เราต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เราก็ส่งจิตออกนอกไปทำหน้าที่ตามปกติ จนกว่าเราจะไม่เกี่ยวโยงเกี่ยวข้องกับใคร บัดนั้นจึงกลับมาสังเกตกายใจ มันจะสลับกันไป เป็นทางสายกลางพอดี ๆ เป็นการเจริญมรรค เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ต้องยกประโยชน์ส่วนตนออกไปก่อน หันมาสนใจเหตุการณ์เฉพาะหน้าก่อน สนใจกิจที่ต้องทำ ส่งใจออกนอกไป แต่ก็ต้องมีสติสมาธิด้วย คือตั้งใจทำตั้งใจดูอย่างมีสติ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พอจบกระบวนการแล้วจะมีช่วงที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใคร รอยต่อระหว่างนี้ก็กลับมาสังเกตกายใจของตัวเอง

ไม่ใช่ว่าพอว่างก็พักแบบไม่มีอะไรจะทำ มานั่งเอ๋อก่อน พักไปพักมาบ่อย ๆ ไม่ดู ไม่สังเกตอะไร ต่อไปจะกลายเป็นแม่นางเอ๋อแบบสมบูรณ์เลยนะ (หัวเราะ) เมื่อมีรอยต่อเวลาพัก ให้กลับมาสังเกตลมหายใจ ถึงเวลาก็ทำงาน สลับกันไปกันมาอย่างนี้แหละ ส่งนอกบ้าง ส่งในบ้าง ดูกายดูใจแล้วไปคุยกับลูกค้า สลับไปสลับมา ไม่เกี่ยวกับแอ๊กชั่นลีลาว่าต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม

ขอเพียงแต่ว่า ว่างเมื่อไหร่ก็ให้กลับมาสังเกตกายใจของตัวเองเสมอเท่านั้นเอง

 

ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 233

ผู้เขียน/แต่ง : พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : การดูจิต” ในการปฏิบัติธรรมคืออะไร

เหตุที่จิตไม่สงบ 8 ประการ ธรรมะจาก หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม

ทำงานด้วย จิตว่าง ทำอย่างไร พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ มีคำตอบ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.