กรรมของผู้ปฏิบัติธรรม

กรรมของผู้ปฏิบัติธรรม โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

กรรมของผู้ปฏิบัติธรรม โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

แม้การปฏิบัติธรรมจะเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อฝึกจิตให้พร้อมที่จะมีสติทุกเมื่อ แต่ก็มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนมากที่ยังปฏิบัติผิดทาง ทำให้แทนที่จะได้สติ กลายเป็นขาดสติยิ่งขึ้น

พวกที่หนึ่ง เป็นพวกชอบเผลอ เหม่อ เอ๋อ ใจลอย จับเจ่า จ๊กมก ซื่อบื้อ หลงดู หลงฟัง หลงกลิ่น หลงรส หลงสัมผัสทางกาย และหลงหรือไหลไปกับความคิด อยู่ในโลกแห่งความคิดจินตนาการเพ้อฝันต่าง ๆ การปฏิบัติแบบนี้จึงกลายเป็นทางไปสู่ภพภูมิของสัตว์เดรัจฉาน

พวกที่สอง เป็นพวกชอบบังคับกาย บังคับใจ เกร็ง เพ่ง บังคับทั้งกายและใจ ต้องการเอาชนะ ต้องการจะควบคุมให้ทุกอย่างอยู่ในอำนาจของตัวเอง แต่เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นตามที่ต้องการ ไม่อยู่ในอำนาจ ก็เกิดโทสะ หงุดหงิด โมโห อึดอัด ลนลาน ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย จิตใจกลัดกลุ้มรุ่มร้อน และเมื่อรู้ว่าโทสะเกิดก็จะพยายามเข้าไปบังคับโทสะเพื่อให้โทสะดับไป หายไป กลายเป็นเกิดโทสะกับโทสะที่เกิดขึ้นอีกทีหนึ่ง โมโหกับความโมโห หงุดหงิดกับความหงุดหงิด อึดอัดกับความอึดอัด เป็นต้น การปฏิบัติแบบนี้จึงกลายเป็นทางสู่ภพภูมิสัตว์นรก

พวกที่สาม คือพวกที่อยากปฏิบัติด้วยอำนาจแห่งโลภะ อยากดี อยากเด่น อยากดัง อยากมีคุณวิเศษ เช่น ได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้ใจคน ฯลฯ การปฏิบัติแบบนี้จึงเป็นทางสู่ภพภูมิของเปรตและอสุรกาย

นิสัยเหล่านี้น่ากลัว เพราะจัดได้ว่าเป็นทางสู่อบายภูมิสำหรับนักปฏิบัติ ยิ่งทำบ่อย ๆ ทำทุกวัน ยิ่งเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมาก ๆ กรรมก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น โดยหาได้เฉลียวใจว่ายิ่งปฏิบัติไป ๆ การปฏิบัติธรรมนั่นแหละที่จะกลายเป็น “อาจิณกรรม” นำตัวเองไปสู่อบายภูมิ

ทั้ง ๆ ที่ปฏิบัติธรรมมาชั่วชีวิต แต่เมื่อตายกลับไปสู่อบายภูมิเพียงเพราะปฏิบัติธรรมผิดวิธี

อีกปัญหาหนึ่งที่พบมากสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลายก็คือ เมื่อจะปฏิบัติธรรม หลายคนมักจะชอบตั้งท่า วางฟอร์ม วางมาดให้ดูขรึม ๆ เคร่ง ๆ จะได้ดูดี ดูน่าเลื่อมใส แล้วก็ปฏิบัติแบบเกร็ง เพ่ง บังคับ ทำกายทำใจให้ผิดธรรมดา ไม่เป็นปกติ เมื่อบังคับนาน ๆ เข้า จิตใจจึงแข็งทื่อ ผิดปกติไปหมด นี่คือทางที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” เป็นทางสายที่ตึงเกินไป

ทีนี้พอบังคับกายและใจจนเหนื่อย จนเมื่อยแล้ว ไม่ไหวแล้ว ก็จะเข้าสู่ภาวะใจลอย เผลอ เหม่อ คิดอะไรเรื่อยเปื่อย ไหลเลื่อนลอยไปเรื่อย ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ลืมเนื้อลืมตัว มีกายก็เหมือนไม่มี มีใจก็เหมือนไม่มี ซึ่งทางสายนี้พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” เป็นทางสายที่หย่อนเกินไป

เมื่อหย่อนได้ที่ เผลอเพลินปล่อยเวลาให้ผ่านไปนานพอสมควร หลงให้กิเลสกินรวบจิตจนสาแก่ใจแล้ว ก็ได้เวลาเริ่มตั้งท่าปฏิบัติใหม่ กลับเข้าสู่การวางมาด วางฟอร์มให้ขรึม ๆ ใหม่อีกครั้ง แล้วก็บังคับกายบังคับใจให้ผิดปกติ ผิดธรรมชาติต่อไป การปฏิบัติแบบนี้แทบกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับนักปฏิบัติจำนวนไม่น้อย

นี่คือทางสุดโต่งสองสายอันนักปฏิบัติไม่พึงเสพ ไม่พึงดำเนิน แต่ควรจะดำเนินตามทางสายกลาง คือ รู้กาย รู้ใจ ไปตามปกติธรรมดาตามที่เขาเป็น แบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “Let it be as it is…” กายเป็นอย่างไรก็รู้ว่ากายเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ใจเป็นอย่างไรก็รู้ว่าใจเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ใจลอยก็รู้ว่าใจลอย เผลอก็รู้ว่าเผลอ เพ่งก็รู้ว่าเพ่ง รู้ก็รู้ว่ารู้ ไม่รู้ก็รู้ว่าไม่รู้ ฯลฯ ไม่ต้องไปบังคับ ไปควบคุมอะไรทั้งนั้น

เพียงแค่รู้…เท่านั้น

 

ที่มา : จิตดวงสุดท้าย – พ.นวลจันทร์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

photo by pixels on pixabay

Secret Magazine (Thailand)

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.