“นิ่งได้ด้วยใจสงบ” เรียนรู้วิธี นิ่งสงบ แต่ตื่นตัวอยู่เสมอ บทความจาก พระไพศาล วิสาโล
กบที่พบเห็นตามทางเดินในสวนหรือสำนักอันร่มรื่นกลางดึกดูเผิน ๆ เหมือนนั่งหลับ เพราะแน่นิ่งไม่ไหวติง แต่ที่จริงมันมีความตื่นตัวอย่างยิ่ง หากมีแมลงโฉบบินมาใกล้ ๆ มันจะตวัดลิ้นจับแมลงเคราะห์ร้ายใส่ปากทันที แล้วก็นั่ง นิ่งสงบ เหมือนเดิมไม่แสดงอาการลิงโลดดีใจแม้แต่น้อย
ครูบาอาจารย์บางท่านเปรียบนักภาวนาผู้เจนจบว่าเป็นเหมือนกบ คือนิ่งสงบ แต่ตื่นตัวอยู่เสมอ ถึงคราวทำหน้าที่การงานก็กระฉับกระเฉง ไม่เฉื่อยเนือย ครั้นทำเสร็จก็กลับมานิ่งเหมือนเดิม ไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว ก็ไม่มีอาการดีใจหรือเสียใจ ตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน พร้อมที่จะทำงานได้ทุกเมื่อ
ภาพเช่นนี้อาจตรงข้ามกับความเข้าใจของหลายคน ซึ่งมองว่าผู้ปฏิบัติธรรมที่ดีต้องเนิบนาบเชื่องช้า เพราะเป็นเครื่องหมายของความสงบสำรวม ถ้าทำอะไรเร็ว ๆ ก็ไม่ถูกต้อง หลวงพ่อชา สุภทฺโท ก็เคยมีความเข้าใจเช่นนี้สมัยเป็นพระหนุ่มเห็น พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล ศิษย์หลวงปู่มั่นฉันอาหารเร็วมาก ทำอะไรก็ฉับไวไปหมด แต่กลับสอนศิษย์ให้ฉันช้า ท่านจึงขุ่นเคืองใจมาก แต่ภายหลังจึงรู้ว่าพระอาจารย์ทองรัตน์นั้นเป็นผู้ที่เป็นอยู่อย่างรู้แจ้งและมีสติตลอดเวลา
ผู้มีสติตื่นรู้นั้น ในยามทำงาน ภายนอกดูว่องไว ไม่หยุดนิ่ง แต่ภายในนั้นนิ่งสงบจิตไม่กระเพื่อม นอกจากไม่กังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และปล่อยวางสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ยังรักษาใจไม่ให้ขึ้นลงตามอารมณ์ที่มากระทบ ครั้นเสร็จกิจก็สงบทั้งภายนอกและภายในอยู่นิ่ง ๆ ได้ด้วยใจที่เป็นสุข
คนทั่วไปนั้นอยู่นิ่งได้ยากมาก แม้ตัวจะนิ่ง แต่ใจฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย สุดท้ายก็นิ่งได้ไม่นาน ต้องออกไปคุยกับผู้คน ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวห้าง เสพรับอารมณ์ใหม่ ๆ ที่เร้าใจ อย่างน้อยก็ขอให้มีอะไรทำสักอย่าง อย่าต้องอยู่นิ่งก็แล้วกัน อากัปกิริยาเหล่านี้ดูเหมือนเป็นการแสวงหาความสุข แต่แท้จริงคือการหนีทุกข์ต่างหาก
ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับการเที่ยวเตร่สนุกสนาน แสวงหาสิ่งเสพใหม่ ๆ อยู่เสมอ ดูเผิน ๆ เหมือนเขามีความสุข แต่ที่จริง เป็นเพราะเขาถูกความทุกข์ผลักดันต่างหาก จึงอยู่เฉยไม่ได้ จำต้องมีพฤติกรรมอย่างนั้น
สิ่งที่เขาเรียกว่าความสุขนั้น แท้จริงก็คือ ปลอดจากทุกข์เพียงชั่วคราวเท่านั้น จะว่าไปแล้วความสุขของคนส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้สถานที่ที่ใช้ปลดทุกข์ เราจึงเรียกว่า “ห้องสุขา” คนทุกวันนี้แค่อยู่นิ่งก็เป็นทุกข์แล้ว แม้อยู่ในสถานที่ที่สะดวกสบาย มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ก็ตาม
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเบื่อหน่าย รู้สึกซ้ำซากจำเจ ไม่พอใจในสิ่งที่มีและเป็น ในส่วนลึกจะมีแรงผลักให้ต้องออกไปเสพรับอารมณ์ใหม่ ๆ หรือมีอะไรที่ต่างจากเดิม หาไม่จะกระสับกระส่าย พอได้เปลี่ยนที่เปลี่ยนทางหรือหลุดจากสภาพเดิม ๆ จึงรู้สึกเป็นสุข แต่ที่จริงแล้วมันเป็นแค่การคลายทุกข์เท่านั้น ไม่ต่างจากคนที่นั่งหรืออยู่ในอิริยาบถใดนาน ๆ แม้นเป็นท่าที่คิดว่าสบายที่สุดแล้ว แต่ไม่นานก็จะรู้สึกเมื่อย ทำให้อยากเปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อได้เปลี่ยนอิริยาบถสมใจก็รู้สึกสุขสบาย แต่ถ้าดูให้ดี มันเป็นเพราะความปวดเมื่อยจางคลายไปต่างหาก
อย่างไรก็ตาม ความปวดเมื่อยจะหายไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากเปลี่ยนอิริยาบถแล้วอยู่ในท่านั้นนาน ๆ มันก็จะกลับมาเยือนอีก ทำให้ต้องเปลี่ยนท่าอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไป ใช่หรือไม่ว่า การแสวงหาความสุขของผู้คนก็เช่นกัน คือ เป็นการหนีทุกข์เพียงเพื่อจะมาเจอทุกข์อีก แล้วก็ต้องหนีต่อไป แม้ได้เสพอารมณ์ที่น่าพอใจ ได้ครอบครองวัตถุสมปรารถนา แต่ไม่ช้าไม่นานก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายจำเจ เกิดแรงผลักภายในให้อยู่เฉยไม่ได้ ต้องขวนขวายไปหาอารมณ์หรือสิ่งเสพใหม่ ๆ เพียงเพื่อจะเจอกับความเบื่อหน่ายอีก แล้วก็ต้องดิ้นรนออกไปแสวงหาสิ่งใหม่ไม่รู้จบ
ชีวิตที่เอาแต่หนีทุกข์ ย่อมเป็นชีวิตที่หาความสุขได้ยาก เพราะนอกจากจะเหนื่อยกับการหาทางหนีทุกข์แล้ว ยังต้องหนีทุกข์ไม่หยุดหย่อน จนกว่าจะหมดลม จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราหันมาเผชิญหน้ากับทุกข์ หันมารับมือกับแรงผลักจากภายในที่ทำให้เราต้องดิ้นรนไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะความเบื่อ ความฟุ้งซ่าน ความกระสับกระส่ายรวมทั้งความอยากได้ใคร่ดีทั้งหลาย
ลองกลับมาดูใจของตน และรู้ทันอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เห็นมันด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ผลักไสกดข่ม ก็จะพบว่าอารมณ์เหล่านี้เหมือนสายลม มาแล้วก็ผ่านเลยไปที่สุดเราจะพบกับความสงบนิ่งที่กลางใจ ซึ่งสามารถนำพาความสุขมาหล่อเลี้ยงจิตใจของเราได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเสาะแสวงหาความสุขจากสิ่งเสพใด ๆ ภายนอกตัว
จวงจื๊อ ปราชญ์จีนเมื่อ 2,300 ปีที่แล้วเล่าว่า มีชายคนหนึ่งรำคาญเงาของตัวเองมาก อีกทั้งยังทนรอยเท้าของตัวเองไม่ได้ เขาจึงพยายามวิ่งหนีจากทั้งสองสิ่งนี้ แต่ไม่ว่าจะวิ่งไปไหน เงาและรอยเท้าก็ยังติดตามเขาไป เขาคิดว่าเขาวิ่งเร็วไม่พอ จึงเร่งฝีเท้าไม่ยอมหยุด วิ่งแล้ววิ่งเล่า ในที่สุดก็หมดแรงล้มลงและถึงแก่ความตาย แล้วจวงจื๊อก็ตบท้ายว่า “เขาหารู้ไม่ว่า ถ้าเพียงแต่เขาเข้าร่ม เงาก็จะหายไป และถ้าเขานั่งนิ่ง ๆ ก็จะไม่มีรอยเท้าเลย”
คนทุกวันนี้ไม่ต่างจากคนหนีเงา พยายามทำทุกอย่างเพื่อหนีทุกข์ โดยคิดว่าเป็นความสุข แต่ทุกข์ก็ยังตามมาไม่หยุดเขาหารู้ไม่ว่า ความทุกข์จะหมดไป เมื่อเขาหันเข้าหาร่มแห่งธรรมและทำใจให้นิ่งสงบ ถึงที่สุดแล้ว ใครจะมีความสุขหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาออกไปตักตวงแสวงหาทรัพย์สมบัติและชื่อเสียงเกียรติยศได้สำเร็จหรือไม่ แต่อยู่ที่เขามีความสงบนิ่งได้มากน้อยเพียงใดต่างหาก
ที่มา จากคอลัมน์ Joyful Life & Peaceful Death นิตยสาร Secret
บทความน่าสนใจ