รู้จัก "ให้"

รู้จัก “ให้” สุขใจกว่ารู้จัก “รับ” ธรรมะโดย พระมหาสุภา ชิโนรโส (ส. ชิโนรส)

เคยคุยกับพระรูปหนึ่ง ท่านเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านบอกว่า แต่ก่อนนิสัยท่านไม่ดีอย่างหนึ่ง  คือ มักอิจฉาคน เห็นคนอื่นดีกว่าตัวเองจะรู้สึกหมั่นไส้ อิจฉาตาร้อน แต่ไม่ถึงกับลงมือทำอะไรให้เขาได้รับความเดือดร้อน ตัวท่านเองมักจะรู้สึกกระวนกระวายใจ จิตใจไม่สงบเมื่อเกิดความอิจฉา (รู้จัก “ให้”)

ท่านรู้ว่าการอิจฉาคนอื่นไม่ดี มีแต่ทำจิตใจให้เร่าร้อนวุ่นวาย พระพุทธองค์ทรงตำหนิ แต่ก็ไม่รู้จะจัดการกับความอิจฉาของตัวเองได้อย่างไร พยายามคิดถึงผลร้ายของความอิจฉาก็ไร้ผล ความรู้สึกอิจฉายังคงลอยนวลอยู่ในใจ

วันหนึ่งท่านจึงลองวิธีใหม่ หนามยอกเอาหนามบ่ง ท่านรู้ว่าความอิจฉาเกิดจากการไม่อยากเห็นคนอื่นดีกว่าตัวเอง ท่านจึงทำสิ่งตรงกันข้าม คือ หาสิ่งของไปให้แก่คนที่ท่านอิจฉา ต้องเป็นสิ่งของที่เขาชอบ หรือทำให้เขามีความสุขมากขึ้น

ท่านบอกว่า ขณะที่ให้สิ่งของแก่คนที่ท่านอิจฉาไป จิตใจท่านพลันเกิดความสดชื่นเบิกบาน มีความเอิบอิ่มอย่างบอกไม่ถูก จิตใจสงบเยือกเย็นลง ความคิดอิจฉาริษยาที่เคยมีหายไปทันที ไม่กลับมารบกวนจิตใจท่านอีกเลย

การให้จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการทำจิตใจให้สงบ เพราะขณะที่ให้ เท่ากับเพิ่มความสำคัญให้แก่คนอื่น ความสำคัญเกี่ยวกับตัวเองจะน้อยลง พลันที่ความสำคัญเกี่ยวกับตัวตนลดลง จิตใจก็จะเปิดกว้างเบิกบานแจ่มใส จิตจะสงบลงอย่างอัตโนมัติ

การปฏิบัติตามแนวนี้ ผู้ปฏิบัติควรคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 ประการในการให้ ดังนี้

1. ผู้รับดี ผู้รับมีผลอย่างสูงต่อจิตใจผู้ให้ หากผู้ให้รู้ว่าผู้รับเพียบพร้อมด้วยศีล สมาธิ และปัญญา จิตใจผู้ให้ก็จะมีความเอิบอิ่มมีความสุข และสงบได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีความภูมิใจว่าการให้แก่คนที่มีศีล สมาธิ และปัญญา มีผลดีต่อชีวิตผู้ให้อย่างมหาศาล ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้

2. สิ่งของดี สิ่งของที่ให้นั้นได้มาด้วยความบริสุทธิ์หรือไม่ ได้มาด้วยความยากลำบากมากน้อยเพียงใด สิ่งของที่ผู้ให้ได้มาด้วยความบริสุทธิ์และด้วยความยากลำบาก แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ก็มีคุณค่าทางจิตใจมหาศาล การกล้าเสียสละสิ่งของนั้นทำให้เกิดกำลังใจมหาศาล มีปาฏิหาริย์ที่น่ามหัศจรรย์ เปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้ทันที

3. วางจิตดี การให้ที่ดีควรวางจิตให้ถูกใน 3 ระยะ คือ ก่อน-ระหว่าง-หลัง

ก่อนให้ ผู้ให้ควรทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่มีความโลภ ความโกรธและความหลง มีความเชื่อในกรรมและผลของกรรม ระหว่างให้ควรให้ด้วยความเคารพ ให้ด้วยความหวังว่าผู้รับจะมีความสุข ให้ด้วยใจที่บริสุทธิ์จริง ๆ หลังจากให้แล้วก็ไม่เสียดาย ไม่ติดใจอะไรอีก

ผู้ให้ที่ได้องค์ประกอบทั้งสามครบถ้วน ควรหาที่สงบเงียบแล้วน้อมนึกถึงการให้ของตัวเองว่า

“คนทั่วไปมีความตระหนี่ถี่เหนียวหวงแหนทรัพย์สิน ไม่ต้องการเสียสละให้คนอื่น ต้องการรับมากกว่าให้ เห็นแก่ตัวเอง แต่เราไม่มีความตระหนี่ถี่เหนียว มีจิตใจกว้างขวาง เสียสละสิ่งที่ตัวเองหวงแหนเพื่อให้คนอื่นมีความสุข มีความสบาย”

นึกอย่างนี้แล้วจะรู้สึกว่า จิตใจมีความเอิบอิ่ม มีความสุขและสงบนิ่ง รู้จักให้จึงทำให้ใจสงบสุขมากกว่ารับ

(รู้จัก “ให้”)

ที่มา  สมาธิ : กุญแจไขความสุข โดย พระมหาสุภา ชิโนรโส (ส. ชิโนรส) สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

เพราะชีวิตสมดุลได้ด้วย “การให้ทาน”  บทความธรรมะจาก พระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.