ชีวิตสู่ความหลุดพ้นด้วย อมตธรรมคำสอน ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งชาวพุทธควรน้อมนำไปปฏิบัติ
อย่าเป็นใบลานเปล่า
“…ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอนคอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานเปล่า ๆ โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียวซึ่งเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า มาเป็นสมบัติของตน ด้วยความเข้าใจผิดว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย
“จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่า ๆ เรียนเปล่า และตายทิ้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย”
อย่าเมาวัฏสงสาร
“ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตาย ก็นับวันมากขึ้น นโยบายในทางโลกีย์ใด ๆ ก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคต เพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนาจะไม่วิเวกวังเวง ศาสนาทางมิจฉาทิฐิก็นับวันจะแสดงปาฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย
“ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรม ดังไฟที่กำลังไหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร ทั้งโลกภายในหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด
“ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์ ก็จะต้องได้รับแบบเย็น ๆ และแยบคายด้วย จะเป็นสัมมาวิมุตติและสัมมาญาณอันถ่องแท้ ไม่ต้องสงสัยดอก พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ทรงอยู่ในปัจจุบัน จิตในปัจจุบันที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่หน้าสติ หน้าปัญญา อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวกันนั้นแหละ”
คุณค่าของตน = คุณค่าของคนอื่น
“ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่นว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน”
อย่ากวนใจตนด้วยการตำหนิคนอื่น
“การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรมไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรองเป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง”
ใจมีทั้งกิเลสและธรรม
“กิเลสแท้ ธรรมแท้ อยู่ที่ใจ ส่วนเครื่องส่งเสริมและกดถ่วงกิเลสและธรรมนั้นมีอยู่ทั่วไปทั้งภายในภายนอก ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้หลบหลีกปลีกตัวจากสิ่งยั่วยวนกวนใจ อันจะทำให้กิเลสที่มีอยู่ภายในกำเริบลำพอง มีรูป เสียง เป็นต้น และสอนให้เที่ยวอยู่ในที่วิเวกสงัด เพื่อกำจัดกิเลสชนิดต่าง ๆ ด้วยความเพียรได้ง่ายขึ้น อันเป็นการย่นวัฏฏะภายในใจให้สั้นเข้า”
ปัจจุบันเท่านั้นที่ไม่สุดวิสัย
“สิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรไปทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งของที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง แม้จะทำความผูกพันและมั่นใจในสิ่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปมิได้ ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว โดยความไม่สมหวังตลอดไป อนาคตที่ยังไม่มาถึงก็เป็นสิ่งไม่ควรยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน ปัจจุบันเท่านั้นที่จะสำเร็จเป็นประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย”
เลิกฝึกตนต่อเมื่อตาย
“เราต้องการของดี คนดี ก็จำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นการฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกคน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่า ‘ดี’ จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน”
รากเหง้าของความเป็นมนุษย์
“…ทาน เป็นเครื่องแสดงน้ำใจ เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอนแทนใด ๆ
“ศีล เป็นเครื่องปัดเป่าความคิดของผู้มีกิเลส
“ภาวนา อบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลและความถูกต้อง ผู้เป็นหัวหน้างาน หรือมีภารกิจมาก ควรหันมาฝึกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการภาวนาช่วยแก้ความยุ่งยากลำบากใจทุกประเภทที่เป็นภาระหนัก หากปล่อยใจโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้งคงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง”
คนสักว่าคน ธรรมสักว่าธรรม
“คนไม่สนใจธรรม ธรรมก็ไม่เข้าถึงใจคน จึงกลายเป็นคนก็สักว่าคน ธรรมก็สักว่าธรรม ไม่อาจยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ แม้คนจะมีจำนวนมาก และแสดงธรรมให้ฟังทั้งพระไตรปิฎก จึงเป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมา มันสลัดออกเกลี้ยงไม่เหลือ ธรรมจึงไม่มีความหมายในใจของคน เหมือนน้ำไม่มีความหมายบนหลังหมา ฉันนั้น”
ธรรมะทุกหย่อมหญ้า
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ถามว่า “เธอเข้าไปอยู่ในป่า ไม่มีตำรา จะหาธรรมที่ถูกต้องได้อย่างไร”
พระอาจารย์มั่นตอบว่า “ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา” โดยอธิบายขยายความต่อว่า… “จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้น จะมองดูอะไรก็เป็นนิยายนิกธรรมทั้งสิ้น ส่วนผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้อง ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นธรรม เป็นยอดพระไตรปิฎกได้ ยกตัวอย่างเช่น สังกิจจสามเณรไปบิณฑบาต เห็นเขาไถนา เห็นเขาไขน้ำ นำเอามาเป็นอุบายจนเกิดปัญญา แล้วท่านก็สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ เพราะเหตุที่ท่านได้นำเอาดินที่ชาวนากำลังไถนามาเป็นอุบายว่า ดินไม่มีใจ ทำเขาจึงนำเอาไปตามประสงค์ได้ น้ำไม่มีใจ ทำไมเขาจึงทำเอาตามประสงค์ได้ เรามีใจ ทำไมไม่ทำใจให้เป็นไปตามประสงค์ เพราะเหตุนั้นธรรมจึงมีอยู่ทุกหย่อมหญ้ามิใช่หรือ”
ที่มา ชุดสุดยอดสงฆ์ 1 : หลวงปู่มั่น สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
ภาพ dhammajak.net
บทความน่าสนใจ