ประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระสงฆ์สายอรัญวาสี (พระป่า)
หลวงปู่มั่น เป็นพระสงฆ์สายอรัญวาสี หรือที่เรียกกันทั่วไป ว่า “พระป่า” ผู้มีวัตรปฏิบัติงดงาม เด็ดเดี่ยว พิจารณาธรรมด้วย ความเพียรอย่างแน่วแน่จนสามารถล่วงทุกข์ตามแนวทางที่พระ- ศาสดาทรงสั่งสอน ในฐานะครู ท่านเปรียบเป็นต้นธารของพระ นักปฏิบัติจำนวนมาก ในแวดวงวิญญูชนคนศึกษาธรรมะนั้นล้วน เลื่อมใสศรัทธาในความเป็น “อัญชลีกรณีโย” หรือความเป็นผู้ควร กราบไหว้ของท่าน ด้วยเหตุนี้ ประวัติและเรื่องราวของอาจารย์ใหญ่ แห่งกองทัพธรรมจึงได้รับการเผยแพร่อย่างแพร่หลาย
คงไม่เกินเลยไปจากความจริงนัก หากจะอุปมาว่า การศึกษา ปฏิปทาของหลวงปู่มั่นมีค่าประหนึ่งการศึกษาธรรม การอ่านเรื่องราว ของท่านมีค่าประหนึ่งการสวดบูชาคุณพระสงฆ์ ผู้สืบทอดพุทธศาสนาให้ประดิษฐานอย่างมั่นคงและทรงคุณค่าผ่านกาลเวลาอัน ยาวนาน ชาวพุทธเราสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยเพื่อน้อมนำให้เกิด สมาธิและปัญญาฉันใด การศึกษาชีวประวัติของหลวงปู่มั่น เพื่อ กระตุ้นเตือนให้บุคคลใส่ใจในการปฏิบัติวิปัสสนาและขัดเกลากิเลส ของตน ย่อมให้ผลในทำนองเดียวกันฉันนั้น
อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ยังมีความสำคัญต่อ วงการพุทธศาสนาในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นบ้านเกิดของพระ- อริยสงฆ์ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนา และมี คุณูปการต่อลูกศิษย์ลูกหาประชาชนหลายต่อหลายรุ่น
ย้อนกลับไปกว่าร้อยปีก่อน ในวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ปี มะแม (ตรงกับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413) ทารกชายผิวขาวแดง ได้ถือกำเนิดขึ้นในตระกูล “แก่นแก้ว” นายคำด้วง ผู้เป็นบิดา และนางจันทร์ ผู้เป็นมารดา เรียกขานบุตรชายคนหัวปีด้วยชื่อ ที่เป็นมงคลว่า “มั่น” ต่อจากนั้นครอบครัวแก่นแก้วก็มีน้อง ๆ ของเด็กชายมั่นถือกำเนิดร่วมครรภ์มารดารวม 9 คนด้วยกัน
เมื่อร้อยกว่าปีก่อนวิถีชีวิตของชาวหมู่บ้านคำบง อำเภอ โขงเจียม ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย การงานในเรือกสวนนาไร่ ส่วนใหญ่จะพึ่งพาแรงงานของลูกหลานในครอบครัวเป็นหลัก ทารกน้อยเติบโตเป็นเด็กชายร่างเล็ก ทว่าประเปรียวแข็งแรง บุคลิกแคล่วคล่องว่องไว ไม่เกี่ยงงอนการงานไม่ว่าหนักหรือเบา เด็กชายมั่นจึงช่วยรับผิดชอบการงานในบ้านอย่างแข็งขัน ที่สำคัญ ยังเป็นเด็กว่านอนสอนง่ายและใฝ่ดี
นอกจากมีความกระตือรือร้นจนสามารถช่วยแบ่งเบาภาระ จากบิดามารดาได้มากแล้ว เด็กชายมั่นยังมีสติปัญญาดี เรียนรู้ สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเติบใหญ่จึงได้เล่าเรียนการเขียน การอ่านในสำนักวัดบ้านคำบง ผลจากสติปัญญาที่เฉียบแหลม มีสมาธิในการเรียน จดจำวิชาความรู้ได้แม่นยำ ในที่สุดเด็กชายมั่น ก็สามารถเรียนรู้การอ่านเขียนอักษรไทย รวมทั้งอักษรธรรมและ อักษรขอมจนมีภูมิรู้ บุคคลที่สามารถอ่านออกเขียนได้ในยุคสมัยที่ การศึกษายังไม่แพร่หลายนั้นนับว่าเป็นผู้ก้าวหน้าอย่างยิ่ง ยุคสมัย นั้นแม้ยังไม่มีโรงเรียนและไม่มีอาชีพครูสอน ก ไก่ ก กา กันอย่าง เป็นล่ำเป็นสัน แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคขัดขวางหนทางการเรียนรู้ของ ผู้ใฝ่ศึกษา ขอเพียงมีความมานะอุตสาหะเป็นอุปนิสัยพื้นฐาน
ผลจากการอ่านออกเขียนได้ทำให้เด็กชายมั่นรักการเรียน ชอบศึกษา หาความรู้อยู่เสมอ ซึ่งนอกจากหนังสือประวัติศาสตร์และนวนิยาย ต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่เด็กชายสนใจใคร่ศึกษาก็คือธรรมะนั่นเอง
อาจเป็นเพราะวาสนาบุญบารมีซึ่งสั่งสมมาหลายภพชาติ ที่ เกื้อหนุนให้เด็กชายมั่นมีโอกาสได้ลิ้มชิมรสพระธรรมครั้งแรกในวัย ๑๕ ปี ครั้งนั้นเด็กชายบรรพชาเป็นสามเณรน้อยในสำนักวัดบ้าน คำบง เวลา 2 ปีใต้ร่มกาสาวพัสตร์ นอกจากเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม จากกางเกงและผ้าขาวม้ามาเป็นสบงและจีวรตามพระธรรมวินัยแล้ว สามเณรมั่นยังใช้เวลาที่เด็กคนอื่นวิ่งเล่นยิงนกตกปลามาศึกษา ความรู้เบื้องต้นทางศาสนา สามารถจดจำบทสวดมนต์ต่าง ๆ ได้อย่าง รวดเร็ว สร้างความภูมิใจให้แก่บรรพชาจารย์เป็นอย่างมาก
นอกจากใส่ใจศึกษาตำราธรรมแล้ว ในแง่พระวินัย สามเณร มั่นก็ประพฤติตนตามครรลองของศีลอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สามเณรน้อยมีกิริยาสำรวมเรียบร้อย คู่ควรแก่สถานะบรรพชิตเป็น อย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เมื่อโยมพ่อขอให้ลาสิกขาไปช่วยงานบ้านในอีก สองปีต่อมา สามเณรมั่นจึงยังอาลัยในสมณเพศอยู่ไม่เสื่อมคลาย แต่กระนั้นท่านก็สนองคุณบุพการีด้วยความเข้าใจและเต็มใจ
หลังจากลาสิกขาและกลับมาอยู่บ้านในฐานะลูกชายคนหัวปี เด็กหนุ่มช่วยแบ่งเบาภาระจากบิดามารดาอย่างขันแข็งเช่นเคย ราวกับจะรู้ว่าชีวิตฆราวาสของตนมีเวลาจำกัด นายมั่น แก่นแก้ว รับผิดชอบงานของตนอย่างเต็มที่ ไม่หยิบโหย่งหรือเกี่ยงงอน
แต่กระนั้นตลอดเวลา 5 ปีที่ครองตนเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ก็ไม่ได้ทำให้เด็กหนุ่มหลงใหลไปกับวิถีที่ฆราวาสส่วนใหญ่ปรารถนา หนุ่มน้อยไม่มีแก่จิตแก่ใจใฝ่การมีเหย้ามีเรือน ไม่ขวนขวายสะสม ทรัพย์สมบัติให้พอกพูนแต่อย่างใด ตลอดเวลาที่ห่างไกลจากองค์ พระพุทธรูปและกลิ่นธูปควันเทียน เด็กหนุ่มมีคำปรารภของผู้เป็น ยายที่เลี้ยงดูตนมาคอยเตือนใจอยู่เสมอว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายได้เลี้ยงเจ้ายาก” ด้วยวิถีแห่งจิตที่ไม่เคยออกจากครรลองของศีลและธรรมเลย วันหนึ่งเมื่อภาระต่อครอบครัวเบาบางลง โอกาสที่ชีวิตจะได้ก้าวเดินบนมรรคาวิถีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จึงเปิดขึ้นอีกครั้ง
หลังจากได้รับความยินยอมพร้อมการอนุโมทนาจากบิดา มารดาแล้ว นายมั่นได้เข้าไปเล่าเรียนธรรมกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ วัดศรีทอง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรม- วาจาจารย์ พระครูประจักษ์ อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
นับจากการตัดสินใจครั้งนั้น ความสำคัญมั่นหมายในฐานะ ฆราวาสผู้มีนามว่า “นายมั่น แก่นแก้ว” จึงสิ้นสุดลงในทันทีที่ กล่าวคำสมาทานสิกขาบทเป็นผู้บวชในพระธรรมวินัย จากนี้ไป จะมีเพียง “พระมั่น ภูริทัตโต” ผู้ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะในการ ออกแสวงหาครูอาจารย์และแสวงหาทางดับทุกข์ ตลอดจน “เป็นผู้แจกจ่ายปัญญา” สอดคล้องกับฉายา “ภูริทัตโต” ซึ่งพระอุปัชฌาย์ ตั้งให้ ราวกับหยั่งรู้อนาคตว่าภิกษุที่ตนบวชให้จะแกล้วกล้าในธรรม จนกลายเป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้แจกจ่ายปัญญาแก่ชาวโลกอย่างแท้จริง
ข้อมูลจากหนังสือ หลวงปู่มั่น สำนักพิมพ์ Amarin Dhamma
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความน่าสนใจ
สู่ความหลุดพ้นด้วย อมตธรรมคำสอน ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
สมาธินิมิต อันน่าอัศจรรย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลวงปู่มั่นเทศน์ถึงความมหัศจรรย์ของ พระแก้วมรกต