ปฏิภาณในการเทศน์ของ สมเด็จโต พรหมรังสี เรื่องเล่าที่หลายคนยังไม่เคยได้ยิน
พุทธศาสนิกชนหลายคนคงเคยท่องคาถาชินบัญชรอันศักดิ์สิทธิ์ และทราบดีว่าผู้ที่ค้นพบคาถาชินบัญชรนี้ ก็คือ สมเด็จโต พรหมรังสี จอมปราชญ์ผู้ฉลาดหลักแหลมแห่งวงการพุทธศาสนาเมืองไทย นอกจากนี้ชาวไทยทุกคนยังรู้จักผีนางนาค และก็รู้อีกเช่นกันว่า สมเด็จโต คือผู้ปราบ…แต่เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ซีเคร็ตเชื่อว่า หลายคนอาจยังไม่เคยได้ยิน
ปฏิภาณในการเทศน์
ครั้งหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯได้ถวายเทศนาในพระราชฐานติดกัน 3 วัน วันแรกท่านเทศน์ได้เรียบร้อย ไม่ยาวไม่สั้นจนเกินไปวันที่สองพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระราชประสงค์จะสดับพระธรรมเทศนาแต่เพียงย่อ ๆ ด้วยทรงกำลังกระวนกระวายพระทัย (นัยว่าเจ้าจอมประสูติ) แต่ทรงเกรงอัธยาศัย จึงคงประทับฟังจนจบ วันนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯกลับถวายเทศน์พิสดารยืดยาวมาก ครั้นวันที่สามทรงมีพระราชประสงค์จะสดับพระเทศนานานเท่าใดก็ได้แต่เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถวายศีล บอกศักราช ถวายพระพรแล้วกลับกล่าวเพียงว่า
“ไม่ว่าจะถวายพระธรรมเทศนาหมวดใดๆ มหาบพิตรก็ทรงทราบหมดแล้ว…เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้” แล้วท่านก็ลงจากธรรมาสน์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสงสัยจึงตรัสถามว่า
“ขรัวโต! เมื่อวานเทศน์ยาว วันนี้เทศน์สั้น เพราะเหตุประการใดหรือ” เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรว่า
“เมื่อวานมหาบพิตรทรงมีพระราชหฤทัยกังวลขุ่นมัวเป็นอันมากจะดับเสียได้ก็โดยทรงสดับพระธรรมเทศนาให้มาก แต่วันนี้เห็นว่าทรงมีพระราชหฤทัยผ่องแผ้วแล้ว จะไม่ทรงสดับเสียก็ยังได้”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล และไม่ได้ตรัสถามอะไรอีก
อีกคราวหนึ่ง มีผู้นิมนต์ท่านไปเทศน์คู่กับพระราชาคณะองค์อื่น ขณะที่ใกล้จะจบ พระราชาคณะองค์ที่เป็นคู่เทศน์หยอดท้ายเป็นปริศนาว่า
“พายเถอะนะพ่อพาย ตะวันจะสายตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า”
เจ้าประคุณสมเด็จฯเทศน์แก้ออกไปโดยทันทีว่า “ก็โซ่ไม่แก้ ประแจไม่ไข จะพายไปไหวหรือพ่อเจ้า”
คำเทศน์ที่เป็นปริศนาธรรมประโยคแรกมีความหมายว่า อันชีวิตของมนุษย์เรานี้นับวันมีแต่จะร่วงโรยไปทุกวัน ให้เร่งสร้างบุญสร้างกุศลและปฏิบัติตามหลักธรรมเข้าไว้เถิด มิฉะนั้นจะเป็นการสายเกินไปเพราะความตายใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว
ส่วนคำแก้ของเจ้าประคุณสมเด็จฯนั้นมีความหมายว่า เพราะเหตุที่มนุษย์ทุกคนมีแต่กิเลสตัณหาอยู่แน่นหนาทั้งนั้นถ้าไม่ขจัดสิ่งเหล่านี้เสียก่อนแล้วจะกระทำ (สร้างบุญกุศล) ไปได้อย่างไร
นอกจากการเทศน์ซึ่งเป็นไปตามทำนองที่นิยมเทศน์กันแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯยังสามารถเทศน์โดยอาศัยหลักวิชาทางอื่นเป็นส่วนประกอบ เช่น อาศัยหลักวิชาโหราศาสตร์เทศน์เรื่องนักษัตร ด้วยความเก่งกล้าสามารถอย่างเอกอุ ชื่อเสียงของท่านจึงขจรไปไกล ถึงขนาดได้รับนิมนต์ให้เดินทางไปเทศน์โปรดพระเจ้าแผ่นดินเขมร จึงถือได้ว่าเป็นพระธรรมทูตองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่เดินทางไปเชื่อมสันถวไมตรีที่นั่นอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
ชีวประวัติ – อภินิหาร พระคาถาชินบัญชร ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง รวบรวมโดย บุษยเทพย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เรียบเรียงโดย ชัย บัญชร
เรื่อง เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
บทความน่าสนใจ
วัดระฆัง วัดสมเด็จโต พรหมรังสี วัดที่ใครๆ ก็อยากไป
“เมื่อสมเด็จโตเข้าฝันผม” เรื่องราวอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจริง