อย่าตกหลุมพรางของ กิเลสตัณหา โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
คำว่าหลุมพรางนั้นคือ ความหลอกลวงของกิเลสที่ใช้นโยบายหลอกจิต ทำให้จิตหลงเชื่อตามมารยาสาไถยอันแยบยล เพราะกิเลสหลอกจิตด้วยอุบายต่าง ๆ นี้เอง จิตจึงหลงเชื่ออุบายที่เอามาหลอกจิตนั้น กิเลสจึงได้เลือกคัดจัดสรรหาเอาสิ่งที่จิตชอบใจมาเป็นชนวน เพื่อให้จิตได้ไปตามแผนที่ กิเลสตัณหา ได้วางไว้ อาศัยสมมติและสังขารเป็นเครื่องมือ
สังขารภายในคือ จิตสังขาร สังขารภายนอกคือ รูปสังขาร สังขารภายในก็ต้องอาศัยสมมติภายนอกมาประสานกัน ขยายมโนภาพไปตามสมมตินั้น ๆ ออกไปให้วิจิตรพิสดาร ให้เกิดเป็นวิมานในอากาศ วาดมโนภาพเหมือนกับความฝัน เหมือนกับว่าจะเป็นความจริงจนจิตเกิดความหลงใหลใฝ่ฝัน เช่น ลาภคือความร่ำรวย ก็ยังเข้าใจว่าจะถูกหวยแต่ละงวดครั้งละหลายล้าน จึงได้ทุ่มเทซื้อกัน คิดว่าจะได้ตามความปรุงแต่งของกิเลส แม้ฝันเล็กฝันน้อยก็ตีเป็นเลขเป็นหวยไป หรือได้ยินข่าวว่าอาจารย์ดังอยู่ที่ไหน จะอยู่ไกลไปลำบากสักเท่าไร ไม่สำคัญ ต้องตามให้ถึงที่ นี้คือกิเลสหลอกจิต มิหนำซ้ำพระเกิดความรำคาญก็บอกส่งเดชไป กิเลสเข้าใจว่าจริงก็ทุ่มเทเต็มที่ นี้ก็คือหลุมพรางของกิเลสตัณหา เช่น ยศ สรรเสริญ และความสุขในโลกีย์ที่มีในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส ก็เข้าใจว่าจะมีความสุขแต่อย่างเดียว จิตจึงจมดิ่งปักลงไปจนถอนตัวไม่ขึ้น และไม่มีสติปัญญาพิจารณาดูมุมกลับบ้างเลย
จิตจึงไม่รู้ไม่เข้าใจว่าความสุขในกามคุณนี้เป็นเหตุแห่งความทุกข์ จิตจึงได้ตกหลุมพรางของกิเลสตัณหาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ถ้านักภาวนาจะปล่อยจิตให้หลงระเริงในกามคุณดังความเป็นอยู่ในขณะนี้ จิตก็จะถูกกิเลสตัณหาหลอกให้ตกหลุมพรางต่อไปในอนาคต จะเกิดอีกในโลกนี้กี่ชาติกี่ภพก็จะตกหลุมพรางของกิเลสอยู่ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด
นี้ก็เพราะจิตขาดความรอบคอบ จิตไม่มีปัญญา จิตไม่มีความฉลาด จึงได้พลาดท่าให้กิเลสตัณหาอย่างไม่มีประตูที่จะแก้ไข ทั้งจำเป็นและทั้งจำใจอดทนต่อความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น นี้ก็คือผลแห่งความสุขของกามคุณ ที่จิตมีความเข้าใจว่าเป็นความสุข ดังคำว่า
ถ้าต้องการในความสุขจะพบความทุกข์ที่ตอนปลาย ถ้าจิตชอบความสบายจะพบร้ายตอนปลายมือ
ที่มา ทวนกระแสโลก พบกระแสธรรม โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
วิธีกำจัดกิเลสออกจากใจ บทความธรรมะสอนให้รู้เท่าทันกิเลส โดย พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
กิเลส และความทุกข์ 3 ระดับ บทความดี ๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี
เหตุผลที่นักปฏิบัติธรรมยังคงพ่ายแพ้กิเลส บทความจาก พระไพศาล วิสาโล