นาธาน โวล์ฟ

นาธาน โวล์ฟ นักล่าไวรัสผู้ยิ่งใหญ่

คุณสมบัติสําคัญสําหรับการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้คือ “การปรับตัว” แม้แต่สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำอย่างเชื้อไวรัสก็ต้องอาศัยวิธีการนี้เช่นกัน

ทว่าการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อโรคให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นกลับกลายเป็นดาบสองคมสุดอันตราย เพราะเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายที่คร่าชีวิตทั้งคนและสัตว์มานักต่อนัก

หนทางเดียวที่มนุษย์จะอยู่รอดคือ ต้องรู้จักเชื้อโรคให้ได้ก่อนที่มันจะมาเยือนเรา!

หลังคว้าปริญญาตรีด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา นาธาน โวล์ฟ (Nathan Wolfe) บัณฑิตหนุ่มชาวอเมริกัน ตั้งใจจะศึกษาต่อปริญญาโทและเอกด้านมานุษยวิทยาและชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เพราะเขาเคยฝันไว้ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมให้ได้

นาธาน โวล์ฟ

แต่แล้วทริปที่เขาเดินทางไปเก็บข้อมูลเรื่องการป่วยของลิงชิมแปนซีที่ประเทศอูกันดา เมื่อค.ศ.1990 ก็ทําให้ฝันนั้นต้องสะดุดลง เมื่อโวล์ฟเกิดความสนใจเรื่องเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์และการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากสัตว์มาสู่คนเป็นอย่างมาก ยิ่งได้รู้ว่าบรรดาไวรัสที่เราไม่รู้จักมาก่อนมีพิษสงมากมายแค่ไหนและทําให้เกิดโรคร้ายชนิดใดขึ้นมาบ้าง โวล์ฟก็ยิ่งสนใจจะศึกษาหาความรู้ด้านนี้ให้มากขึ้นตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้เมื่อสิ้นสุดทริปที่อูกันดา โวล์ฟจึงตัดสินใจเบนเข็มชีวิตมาเรียนสาขาภูมิคุ้มกันวิทยาและการแพร่ระบาดของเชื้อโรคแทน พร้อมกับตั้งเป้าหมายที่จะทํางานด้านนี้ต่อไปในอนาคตด้วยความมุ่งมั่นว่า

“ถ้าเรารู้จักเชื้อไวรัสก่อนที่มันจะมาทําร้ายเราก็คงจะดีไม่น้อย เพราะเราจะได้หาวิธีป้องกันตัวให้ห่างจากโรคได้ รวมถึงสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดต่อไปได้อีก”

ทั้งที่รู้ดีว่าเส้นทางใหม่ที่เขาเลือกเดินไม่ได้เรียบหรูดูดี ที่ทํางานของเขาไม่ใช่ห้องแล็บทันสมัยมีชื่อเสียงระดับโลก หากแต่เป็นดินแดนที่เข้าถึงได้ยากลําบาก บางวันอาจต้องย่ำเดินในพื้นที่อันชื้นแฉะ ในขณะที่บางวันอาจต้องเผชิญกับอากาศร้อนที่แทบจะเผาไหม้ร่างกายให้เป็นจุล แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่อันตรายมากเท่ากับวิธีการทํางานของโวล์ฟที่เหมือนเอาชีวิตแขวนไว้บนเส้นด้ายอยู่ตลอดเวลา

นาธาน โวล์ฟ

นาธาน โวล์ฟ

ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเก็บตัวอย่างเลือดสัตว์ป่า การเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ที่สัมผัสเลือดสัตว์โดยตรง (ผู้ฆ่า ผู้ชําแหละ หรือผู้บริโภค) หรือการวิเคราะห์ตรวจสอบชนิดของเชื้อไวรัส เพราะหากพลาดพลั้งขึ้นมาในขั้นตอนใดแม้แต่นิดเดียว เขาก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสชนิดนั้น ๆได้ทันที

ทว่าแม้จะมีอุปสรรคมากมายแค่ไหน โวล์ฟก็ไม่เคยคิดที่จะ “หยุด” ทําภารกิจตรงหน้านี้เลยสักครั้ง แม้ว่าครั้งหนึ่งเขาจะเคยถูกมาลาเรียเล่นงานจนอาการปางตายมาแล้วก็ตาม

กว่า 10 ปีที่โวล์ฟออกเดินทางอย่างกล้าหาญเพื่อตามล่าหาไวรัสในเขตป่าฝนที่แคเมอรูน แอฟริกา เอเชียใต้ จีน ลาว มาเลเซีย ฯลฯ เขาไม่เคยเก็บความรู้ที่ได้เป็นส่วนตัว ตรงกันข้าม โวล์ฟพยายามนําความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับสถาบันวิจัยต่าง ๆ ตลอดจนเรียบเรียงเป็นบทความเชิงวิชาการออกเผยแพร่อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 50 ชิ้นมาแล้ว

นอกจากนี้โวล์ฟยังเป็นแกนนําในการจัดตั้ง “ศูนย์การพยากรณ์สถานการณ์ไวรัส (Global Viral Forecasting Initiative: GVFI)” ขึ้นเมื่อหลายปีก่อนที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ภายใต้ความร่วมมือด้านการเงินจากภาคเอกชน และความร่วมมือด้วยหัวใจจากนักวิจัยอุดมการณ์เดียวกันกว่า 100 คน

“ผมและทีมงานทุกคนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่พวกเราทําจะสามารถหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ตั้งแต่ระยะต้น ก่อนที่มันจะลุกลามต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของเราในอนาคต”

ข้อมูลทุกอย่างใน GVFI คงไม่สามารถเป็นประโยชน์ได้เลยหากปราศจากการคิดต่อยอด ด้วยเหตุนี้ GVFI จึงเปิดโอกาสให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้อย่างเสรี เพื่อนําไปสู่การคิดค้นหาแนวทางป้องกันโรคระบาดจากสัตว์สู่คนอย่างยั่งยืนต่อไป

นักล่าไวรัสผู้ยิ่งใหญ่วัย 49 ปีผู้นี้จะทําทัพผู้กล้าออกกู้โลกไปได้ไกลสักแค่ไหน ไม่มีใครรู้ เรารู้เพียงแต่ว่า “วีรบุรุษไม่ได้มีแค่ในเทพนิยาย เพราะนาธาน โวล์ฟ คือวีรบุรุษตัวจริงแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21”

 

นาธาน โวล์ฟ หรือ Virus Hunter ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนึ่งร้อยบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของนิตยสาร “ไทม์” ประจําค.ศ.2011 (The 2011TIME100)

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ปาปิรัส

ภาพ  Wall Street Journal, Stanford News – Stanford University, Esquire, Time Magazine, Wikiwand

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ผู้โดยสารใจบุญ! จ่ายค่าเล่าเรียนให้คนขับอูเบอร์ได้เรียนต่อจนจบปริญญา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.