ในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปรียบมนุษย์ดัง ดอกบัว
ดังนั้นการที่พุทธมามกะนำดอกบัวไปไหว้พระ หรือถวายพระ จึงนับเป็นเครื่องแสดงการสักการะว่า พร้อมที่จะเป็นบัวที่เบ่งบาน พร้อมที่จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่เสมอ และด้วยเหตุสอดคล้องเช่นนี้เอง ที่ทำให้คนสมัยโบราณเลือกที่จะนำดอกบัวบาน เน้นว่าดอกบัวบาน ไปถวายพระ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เพราะบ้านเมืองยุคนั้นยังอุดมด้วยคู หนอง คลอง บึง แต่ละที่แต่ละแห่งก็มีบัวน้อยลอยชูช่อให้เด็ดดึงไปถวายพระอย่างง่ายๆ
แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมเมืองขยายตัวพร้อมกับการรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ บึงน้ำหดหาย อยากได้บัวก็ต้องไปตลาด ข้างฝ่ายแม่ค้าขายดอกบัว เพื่อให้สินค้าอยู่คงทนจึงเลือกบัวตูมมาวางขายแทนบัวบาน แต่ใดๆ ล้วนมีทางออก ชาวพุทธอย่างเราๆ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงผู้มีฝีมือจับจีบเลยคิดค้นวิธีพับดอกบัวขึ้นมา
เพื่อสื่อนัยยะว่า ดอกบัวพับกลีบ = ดอกบัวบาน = คติธรรมเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่เสมอ” โดยมีเคล็ดลับว่าควรพับให้ถึงกลีบสุดท้าย ถึงใจเกสร
และเนื่องจากการพับ ดอกบัว เป็นงานละเอียดอ่อน ต้องอาศัยสมาธิที่ประกอบไปด้วยใจที่หยุดนิ่ง ผ่องใส ประณีต เบาสบาย จึงนับเป็นการฝึกสมาธิตื้น หรือ เจริญสติ ไปในตัว
สำหรับการจัดดอกบัวใส่แจกันถวายพระ นิยมจัด 5 ดอก แทนการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ หรือ “ภัทรกัป” อันประกอบด้วย พระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโกนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถ้าบัวที่ได้มามีความสั้นยาวไม่เท่ากัน ก็ให้เรียงตามความสูง โดยดอกที่ก้านยาวที่สุด จัดอยู่บนสุด แล้วลดหลั่นลงมาเป็นดอกที่ 2, 3, 4 และ 5
นอกจากการพับดอกบัวจะเป็นการเจริญสติแล้ว ว่ากันว่ายังก่อให้เกิดอานิสงส์ 7 ประการ ดังนี้
1.ทำให้เกิด ในตระกูลบัณฑิตนักปราชญ์
2.เป็นที่สักการะ เคารพรัก เลื่อมใสของชนทั้งหลาย
3.ได้ทรัพย์สมบัติที่น่าปลื้มใจ
4.มีผิวพรรณวรรณะผ่องใส กลิ่นกายหอม
5.จิตใจผ่องใส นึกถึงบุญได้ง่าย จึงทำให้ตัดโอกาสพลัดไปสู่อบายภูมิ มีแต่สุคติเป็นที่ไป
6.ได้เกิดในปฏิรูปเทส ดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง
7.ได้โอกาสพบ พระพุทธเจ้า พระอริยบคคล ได้ฟังธรรมและบรรลุธรรมโดยง่ายโดยทันที
รู้อย่างนี้แล้ว ชาวพุทธทั้งหลายก็มาพับดอกบัวถวายพระกันเถอะค่ะ
ภาพประกอบ : www.pexels.com
เรื่องราวเกี่ยวกับดอกไม้ในพุทธศาสนาที่น่าสนใจอื่นๆ