พุทธศาสนา

“ดุ๊ก ภาณุเดช วัฒนสุชาติ” พบ “แก่นแท้ของชีวิต” หลังบวชอุทิศตนให้ พุทธศาสนา

“ดุ๊ก ภาณุเดช วัฒนสุชาติ” พบ “แก่นแท้ของชีวิต” หลังบวชอุทิศตนให้ พุทธศาสนา

หลังจากที่ ดุ๊ก ภาณุเดช วัฒนสุชาติ ได้เข้าพิธีอุปสมบท อุทิสตนให้ พุทธศาสนา ไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9, ในหลวงรัชกาลที่ 10 และเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ และขัดเกลาตัวเอง ณ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม  ได้ฉายาทางธรรมว่า “อคฺคเตโช” (อัคคะเตโช) แปลว่า ผู้มีอำนาจอันยิ่งใหญ่

ทั้งนี้ พระดุ๊กได้มีการเขียนถึงความประทับใจต่อสิ่งต่างๆรอบตัว รวมไปถึงหลักธรรมะที่ตนได้ศึกษา หรือพบเจอมาในแต่ละวัน โดยได้โพสต์ไว้ในอินสตาแกรมส่วนตัว duke_bhanudej ถึงเรื่องราวต่างๆมาว่า…

“ผมได้เข้าอุปสมบทที่วัดราชบพิธ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงวันที่15 กุมภาพันธ์เป็นเวลา 32 วัน นับเป็นบุญเหลือเกินที่จะบรรยายได้

ผมได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานทรงบาตรในตอนเช้าของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีแห่งการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชยังได้เฝ้ากราบพระบาทหลายครั้ง และได้รับพระเมตตาในการอบรมสั่งสอน เพื่อให้สามารถน้อมนำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถดำรงตนให้อยู่ในศีลในธรรม

และเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิดแบบชาวพุทธ ตลอดจนสามารถเผยแพร่และบอกต่อทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ผู้พบเห็นได้เรียนรู้และนำไปปฎิบัติให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นพุทธศาสนิกชน”

“การบวชครั้งนี้ผมยังได้มีโอกาส ไปศึกษาปฎิบัติธรรมยังวัดถ้ำขาม จ.สกลนคร พร้อมกับพระอาร์ตและพระเต้ ที่บวชพร้อมกัน ผมกับอาร์ตเราจำวัดที่นั่นเป็นเวลา 10 วัน วัดถ้ำขามเป็นวัดป่าอยู่บนยอดเขาสูงภายใต้การดูแลของ ครูอาจารย์โจ้ ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

ในวันที่ผมไปที่นั่นมีพระอาจารย์และครูบาประมาณ 15 รูป รวมพระใหม่จากกรุงเทพฯ ทั้ง 3 รูป และยังมีแม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่นส่วนหนึ่ง ผมได้สัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตพระป่าโดยแท้ ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว มีชาวบ้านขึ้นมาใส่บาตรข้าวเหนียวถึงในศาลาในเวลา 8 โมงเช้า อาหารที่ฉันจะเน้นหนักไปทางข้าวเหนียว ปลาร้า ปลาแห้ง และกับข้าวพื้นบ้านมากมาย แม้อาหารหลายอย่างจะไม่คุ้นเคยแต่ก็อยู่ท้องได้ทั้งวัน

ในวันที่ 3 ได้เห็นการอบบาตรอันเป็นภูมิปัญญาที่มีพระไม่กี่รูปที่จะทำได้ในปัจจุบัน การใช้ฟืนเผาบาตรเหล็กด้วยเทคนิคแบบภูมิปัญญาพระป่า เป็นเวลา 13-15 ชั่วโมง เรียกว่าต้องนั่งเฝ้ากันทั้งคืนถึงตี 3.30 ในรุ่งเช้านั้น สามารถเปลี่ยนเหล็กธรรมดาให้เป็นบาตรสีดำเงามีเกร็ดสะท้อนราวเพชรประดับระยิบระยับ เพิ่มคุณภาพความแข็งแกร่งทนทานไม่เป็นสนิทนานนับร้อยปีอย่างน่าอัศจรรย์”

“ยังได้หัดทำไม้กวาดเพื่อปัดกวาดใบไม้ในลานวัดด้วยตนเองอีกด้วย และที่สำคัญธรรมชาติที่นั่นสอนให้ได้มีสติในทุกย่างก้าว นอกจากไฟในกุฏิที่จำวัดกันกุฏิละองค์และห่างไกลกันอยู่ในป่าแล้วนั้น ทางเดินที่นั่นไม่มีไฟฟ้าเลย มีเพียงไฟฉายส่องทางที่ต้องเดินผ่าน เราต้องส่องอยางมีสติและละเอียดทั้งด้านบนและด้านล่างก่อนจะก้าวเท้าไปแต่ละก้าว เพื่อไม่ให้ไปเผลอเหยียบสัตว์มีพิษโดยเฉพาะงูที่มีอยู่ชุกชุม

การได้อยู่กับตัวเองเวลากวาดลานวัดก็ทำให้ได้คุยกับตัวเองและพิจารณาได้ว่าใบไม้แห้งเหล่านี้ก็เหมือนกิเลสที่ต้องหมั่นสะสางออกไป เพราะมันพร้อมจะเพิ่มพูนขึ้นใหม่เสมอหากเราปล่อยไว้ก็จะยิ่งสะสมจนทวีคูณ

เวลาที่ต้องอยู่ในกุฏิองค์เดียวบังคับให้เราอยู่กับตัวเอง รู้ทันความคิดตัวเอง เสียงสัตว์ป่าที่เหยียบใบไม้ดังเหมือนคนเดินไปมา เสียงลมแรงที่ผัดพาใบไม้ กิ่งไม้ร่วงลงบนหลังคา เสียงลมพัดประตูไม้ทำให้ดังเหมือนใครมาเคาะ มีมาตลอดทั้งคืนพร้อมจะทำให้เราคิดมโนเป็นเรื่องน่ากลัวได้ตลอดเวลา

เราต้องฝึกที่จะบอกตัวเองให้ตั้งสติ พิจารณา งดมโน ข่มความกลัว ด้วยการสวดมนต์ ภาวนา พุธโธ ในที่สุดการเจริญสติก็สามารถสะกดให้เราชนะตัวเอง 10 วันที่นั่นได้ให้บทเรียนอย่างมากมาย

โดยเฉพาะการได้อยู่กับตัวเอง ฟังตัวเอง คุยกับตัวเอง แต่อย่าเข้าข้างตัวเองนะครับ ใช้สติพิจารณาอย่างละเอียด แล้วคุณจะได้ใช้ชีวิตดีๆ อย่างมีสติต่อไป”

“การได้มาอยู่วัดป่า ทำให้ผมมีเวลาได้ทบทวนเรื่องความคิดของตัวเอง และได้ลองนึกย้อนไปดูว่าที่ผ่านมาเราจัดการกับความคิดได้เหมาะสมมากน้อยเพียงใด สิ่งสำคัญสิ่งแรกเลยคือ

เราจะต้องคิดแต่เรื่องดีๆ เพราะจะทำให้ใจเราไม่เป็นทุกข์ ไม่เครียด ช่วยให้ใจเรามีความสุข สิ่งสำคัญต่อมาคือ เราจะต้องคิดอย่างมีเหตุผล ไม่ด่วนสรุป ไม่ด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ เราจะต้องพยายามใช้เหตุผลตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นไปได้ การคิดแบบมีเหตุผลยังช่วยให้เราตัดความกังวลใจเล็กๆ น้อยๆ ไปได้อีกด้วย

สิ่งสำคัญต่อมาคือ เราจะต้องคิดหลายๆ มุม ลองมองหลายๆ ด้าน เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนมีข้อดีข้อเสียประกอบกันทั้งสิ้น เราไม่ควรมองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งสำคัญรองลงมาคือ เราจะต้องมีความคิดที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น ต้องรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา อย่าเอาจริงเอาจังตัดสินถูกผิดตัวเองหรือผู้อื่นตลอดเวลา

สิ่งสำคัญสุดท้ายคือ เราจะต้องหัดคิดหัดมองในมุมของคนอื่นด้วย อย่างที่เขาเรียกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะช่วยให้เรามองอะไรได้กว้างไกลกว่าเดิม คิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง เปิดใจให้กว้างรับรู้ความรู้สึกและความเป็นไปของคนใกล้ชิดและคนอื่นๆ ใส่ใจที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้อื่นบ้าง

บางครั้งปัญหาหรือความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่นั้นอาจเป็นเรื่องเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับปัญหาของผู้อื่น คิดได้แบบนี้ก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีสติและมีความสุขครับ”

“คนเราถ้าไม่ฝึกขัดเกลาจิตใจ ก็จะสะสมความคิดที่ทำให้เกิดทุกข์ได้โดยไม่รู้ตัว เปรียบได้กับบาตรพระที่ต้องหมั่นขัดหมั่นล้าง ชำระเอาเศษอาหารที่เหลือติดออกให้หมด แม้อาหารจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ให้สะสมก็จะแห้งกรัง สกปรกกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ในที่สุด

ธรรมะจึงสอนให้คนเรารู้จักปล่อยวาง ทั้งความสุขและความทุกข์ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งใดจนกลายเป็นความยึดติด เหมือนบางคนที่รักรถมากยินดีที่ได้มาแต่พอรถเกิดรอยขีดข่วนเพียงนิดเดียวก็เกิดความเครียด จากความสุขกลายเป็นความทุกข์ไปทันที กิเลสความโลภความยึดมั่นถือมั่นต้องยอมรับว่ามีในธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน

หากเปิดใจใช้ธรรมะฝึกขัดเกลาเอาออกจากใจได้ก็จะทุกข์น้อยลง เปรียบเหมือนบาตรพระที่สะท้อนความเงางามเพราะหมันดูแลทุกวัน ชีวิตของคนเราล้วนมีปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา เราต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไขเรื่องที่คาใจนั้นๆ ให้ได้ออกไปเสียก่อน”

 

ขอขอบคุณที่มา AMARIN TVHD

-รูปภาพ http://news.tnews.co.th


บทความน่าสนใจ

ดุ๊ก ภานุเดช – อาร์ท พลังธรรม อุปสมบท แล้วเมื่อวานนี้ (13 มกราคม 2561)

ชีวิตแสนสุขบนถนนสายศิลปะ ของ ภาณุเดช วัฒนสุชาติ

ชีวิตหลังการอุทิศตนให้กับพุทธศาสนา ของ ดุ๊ก ภาณุเดช วัฒนสุชาติ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.