ปวดกาย

“ปวดกาย แต่ไม่ปวดใจ” ธรรมะให้ใจวางเฉย โดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม

หากกายมีทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับกายนั้นต้องแก้ไขด้วยการบำบัด แก้ไขกันไปตามสถานการณ์ เช่น ความทุกข์จากดินฟ้าอากาศ หนาวไปบ้าง ร้อนไปบ้าง เราก็ต้องบำบัดทุกข์ด้วยการใช้เครื่องคลายหนาวคลายร้อนอย่างพัดลม ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว ฯลฯ หรือถ้าปวดเมื่อยตรงไหน เราก็เปลี่ยนอิริยาบถที่ตรงนั้น หากท้องหิวขึ้นมาก็ต้องกินในปริมาณที่ไม่ทำให้อิ่มจนเกินไป ทุกข์ทางร่างกายทุก ๆ แบบล้วนต้องว่ากันไปตามสถานการณ์  (ปวดกาย)

ส่วนความทุกข์ที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องดูสาเหตุว่าความเจ็บป่วยนั้นเกิดจากอะไร พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมไม่ใช่ต้องการที่จะขจัดโรคภัยไข้เจ็บแข่งกับอาชีพแพทย์ ดังนั้น หากปวดหัวเนื่องจากอาการของโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ต้องกินยาหรือไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

แต่ถ้าปวดหัวเพราะความเครียด ความเครียดนั้นเกิดจากใจและสามารถแก้ไขที่ใจได้ หากเราดูใจได้ทัน เราจะไม่เครียด จะหายปวดหัว

ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ แม้อาการปวดหัวจะมีสาเหตุมาจากโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่ใช่โรคเครียดก็ตาม อาการอย่างนี้แม้จะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการมองใจก็จริง แต่หากดูใจทัน ก็จะปวดเฉพาะที่กาย ใจไม่ปวดไปด้วย ใจจะไม่กังวล ว้าวุ่น และไม่มีปัญหา

ขอให้เข้าใจตรงกันว่า การดูใจไม่สามารถรักษาร่างกายได้ โรคภัยไข้เจ็บไม่ได้หายไป แต่ใจที่ผ่านการฝึกมาดีแล้วจะมั่นคงไม่เดือดร้อน ไม่ว่ากายจะเจ็บปวดแค่ไหน หรือแม้กระทั่งในเวลาที่ใจจะต้องจากร่างกายนี้ไปก็ตาม

เพราะอะไรใจจึงไม่เดือดร้อน

เราเคยโดนมีดบาดแล้วรู้สึกเจ็บปวดหรือเปล่า

เวลาที่เรารู้สึกเจ็บปวด ถ้าเราสังเกตดูใจ เราจะพบว่าใจของเราจะไปจดจ่ออยู่ที่แผล แต่ถ้าถามว่า ใจของเราจดจ่ออยู่ที่แผลตลอดเวลาหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” ถ้าเราติดตามดูความรู้สึกภายในกาย จะเห็นว่า ใจไม่ได้จดจ่ออยู่กับความรู้สึกปวดตลอดเวลา แต่จะแวบไปรู้สึกในเรื่องอื่น ๆ ด้วย

ยิ่งเราตามดูไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นเลยว่าในขณะที่ยังปวดแผล ใจของเราก็สั่งให้ร่างกายประคองตัวเดินไปทำแผล บางครั้งก็มีเสียงอะไรดังขึ้นมา ใจก็เปลี่ยนไปฟังเสียงนั้นแทน หรือหากมีกลิ่นอะไรโชยมาพอดี ใจก็เปลี่ยนไปสงสัยในกลิ่นนั้นอีกเหมือนกัน ในขณะนั้นใจได้ทิ้งบาดแผลที่เจ็บปวดไปเป็นขณะ ๆ เพื่อไปรับรู้เรื่องอื่น ๆ ถ้าเราสังเกตได้ทันแล้วจะเห็นว่า ใจอยู่กับบาดแผลที่เจ็บปวดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ไปรับรู้เรื่องอื่น ๆ เป็นเวลานานกว่า และในขณะที่ใจไปรับรู้เรื่องอื่น ๆ ใจก็ไม่เป็นทุกข์เพราะบาดแผลแล้ว

การตามสังเกตจะทำให้เราเห็นว่า ใจของเราแวบไปรับรู้เรื่องนั้นที เรื่องนี้ที แล้วค่อยกลับมาปวดแผลใหม่ บางครั้งแวบไปหาอีกหลายสิ่งหลายอย่างตั้งมากมายกว่าจะกลับมาปวดแผลอีกครั้ง

เมื่อเรารู้จักสังเกตความรู้สึกภายในใจ ใจก็จะเลิกจดจ่อกับแผลเพราะใจทิ้งแผลมาอยู่กับความรู้สึกของใจแทนเสียแล้ว เมื่อเราแยกใจออกจากแผลได้สำเร็จ การโดนมีดบาดจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องเดือดเนื้อร้อนใจอีกต่อไป เพราะเมื่อตามดูใจทัน ใจจะไม่ไปยึดมั่นในความทุกข์ที่เกิดจากบาดแผล เมื่อละอุปาทานที่บาดแผลนั้นได้ใจจึงวางเฉยได้

นี่คือ ประโยชน์ของการสังเกตใจได้ทัน คือทำให้ใจละการยึดมั่นในสิ่งที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ที่เกิดจากเรื่องใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความผิดหวังในบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่เราทุกข์ก็เพราะนึกถึงบุคคลที่ทำให้เราเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราตามสังเกตใจของเราทัน เราจะเห็นว่า จริง ๆ แล้วใจของเรานั้นไม่ได้คิดถึงคนที่ทำให้เราทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะนอกจากใจจะนึกถึงบุคคลคนนั้นแล้ว ใจก็ไปรับรู้เรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย และขณะที่ใจไปรับรู้เรื่องอื่น ๆ ใจก็ได้ทิ้งบุคคลที่ทำให้เราเป็นทุกข์ไปแล้วด้วย

นอกจากนี้ การตามดูใจอย่างต่อเนื่องยังทำให้เราไม่มีเวลาไปมองดูบุคคลที่ทำให้เราผิดหวังและเป็นทุกข์ เมื่อไม่ได้ไปตามดูเขา ใจจึงทิ้งบุคคลนั้นไปโดยปริยาย

อย่างนี้ทางพระเรียกว่า ถอนอุปาทานยึดมั่นในบุคคลได้สำเร็จ ใจก็เลยวางเฉย ไม่เป็นทุกข์

(ปวดกาย)

ที่มา  ใช้ทุกข์ดับทุกข์ โดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.