สังคมไทย

มองฝรั่งหยั่งถึง สังคมไทย – ว.วชิรเมธี

มองฝรั่งหยั่งถึง สังคมไทย – ว.วชิรเมธี

ตลอดเวลากว่าห้าปีมานี้ ผู้เขียนได้รับอาราธนาให้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสหรัฐอเมริกาและภาคพื้นยุโรปอย่างต่อเนื่อง

บางครั้งเดินทางอยู่ในต่างประเทศยาวนานถึง 6 เดือนต่อปีมีบางคนถามว่า การพระศาสนาในต่างแดนเป็นอย่างไร เท่าที่สังเกตโดยส่วนตัวในรอบยี่สิบปีมานี้ กระแสความสนใจในพุทธศาสนาของชาวตะวันตกพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะสูงอยู่อย่างนี้ต่อไปอีกหลายปี

บางทีการที่ชาวตะวันตกสนใจในพระพุทธศาสนามากอย่างนี้อาจไม่ใช่แฟชั่น แต่อาจเป็นอาการสะท้อนความจริงบางอย่าง ความจริงที่ว่านี้ก็คือ อาการขาดความสุขทางจิตวิญญาณ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการติดตันของอารยธรรมวัตถุนิยมที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงขีดสุด ครั้นวัตถุพรั่งพร้อม ชีวิตสะดวกสบายในทางกายภาพหมดแล้ว แต่กลับพบความจริงว่า ในใจยังว่างโหวง เป็นเหตุให้เกิดการแสวงหาแก่นแท้ทางจิตใจ หรือแสวงหาบ้านที่แท้จริงของชาวตะวันตก

เมื่อมองไปทั่วทิศานุทิศแล้ว ภูมิปัญญาตะวันออกดูเหมือนจะมีเสน่ห์เย้ายวนใจสำหรับชาวตะวันตกมากที่สุดในยามนี้ เสน่ห์ที่่ว่านี้ประกอบด้วย

1. วัฒนธรรมประเพณี

2. ภูมิปัญญา

3. ภูมิธรรม

วัฒนธรรมประเพณี เป็นเรื่องเปลือกผิวของชีวิต เช่นอาหารการกิน (เวลานี้อาหารไทยกลายเป็นอาหารหลักของหลายๆประเทศ ในอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ หรือสหรัฐอเมริกาอาหารไทยขึ้นชื่อลือชามาก ใครเปิดร้านอาหารไทย ถ้าบริหารจัดการให้ดีแล้ว มีโอกาสรอดมากกว่าร่วง) เสื้อผ้าอาภรณ์ดนตรี ศิลปะ ธรรมชาติ วิถีชีวิต เป็นต้น

ภูมิปัญญา เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ เช่น ภูมิปัญญาจีน ภูมิปัญญาอินเดีย ภูมิปัญญาทิเบต (โดยเฉพาะทิเบตเป็นที่รู้จักมากที่สุด) เล่าจื๊อ ขงจื๊อ คัมภีร์เต๋าเต็กเก็งหรือภควัทคีตา เป็นที่สนใจทั่วไปในหมู่ฝรั่งนักแสวงหาชาวตะวันตก

ภูมิธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาตะวันออก เช่น พุทธศาสนานิกายเซนที่โด่งดังตั้งแต่ยุคบุปผาชนหรือยุคฮิปปี้ (ช่วงสงครามเวียดนาม) ที่นำไปสู่สหรัฐอเมริกา โดย ดี.ที. ซุซุกิล่าสุดกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่งหลังจากสตีฟ จ๊อบส์ อดีตซีอีโอแอปเปิล เปิดเผยรสนิยมการใช้ชีวิตและการออกแบบนวัตกรรมว่า ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนานิกายเซนหริกฤษณะ มหาฤ าษี กูรู (เช่น โอโช) และพุทธศาสนาแบบวัชรญาณ โดยการนำขององค์ทะไลลามะ การเจริญสติแบบหมู่บ้านพลัม โดยการนำของท่านติช นัท ฮันห์ และพุทธศาสนาแบบเถรวาทแท้ โดยการนำของหลวงพ่อชา สุภัทโท และศิษยานุศิษย์ชาวตะวันตก

นอกจากนั้นก็มีศูนย์วิปัสสนาของอาจารย์โกเอ็นก้าที่กระจายไปทั่วโลก ในส่วนของศูนย์วิปัสสนานั้น เดี๋ยวนี้พบว่าวิปัสสนาจารย์ที่เป็นคฤหัสถ์มีมากมายกระจายกันอยู่ทั่วไปทั้งในอเมริกาและยุโรป

นอกจากภูมิธรรมจะมาจากแหล่งทางศาสนธรรมโดยตรงแล้ว ปัจจุบันนี้ก็ยังมีีที่มาจากการประยุกต์พุทธธรรมเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ เช่น การเจริญสติกับจิตวิทยา การเจริญสติกับการศึกษา การเจริญสติกับการดูแลสุขภาพ ฯลฯ

ดารา บุคคลสาธารณะ ทีมฟุตบอล นักการเมืองหลายคนหันมาสนใจพุทธศาสนาและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนตามแนวทางแห่งพุทธธรรมเป็นการใหญ่ ถามว่า นอกจากความอิ่มตัวทางวัตถุแล้ว มีอะไรเป็นปัจจัยร่วมให้ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธธรรมและภูมิปัญญาตะวันออก คำตอบประการหนึ่งซึ่งผู้เขียนมองเห็นก็คือ เพราะโลกตะวันตกกำลังวิกฤติ เมื่อหาทางออกในบ้านตัวเองไม่พบ ก็ต้องมองออกไปนอกบ้านนอกจากนั้นแล้ว ภูมิปัญญาตะวันออกหลายอย่างมีลักษณะ “มององค์รวม” (เช่น เต๋า พุทธ) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติมากกว่ามุ่งพิชิตธรรมชาติยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คน มุ่งสันติ เน้นการดูแลกายและใจในลักษณะองค์รวมของชีวิตมากกว่าการมองชีวิตแยกส่วนแบบกลไก ฯลฯ เหล่านี้คือด้านที่ขาดหายไปในภูมิปัญญาตะวันตก ครั้นหาสิ่งเหล่านี้พบในโลกตะวันออก

พวกเขาก็จึงรีบสมาทานความเป็นตะวันออกกันยกใหญ่ ผลงานชื่อ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ และ เต๋าแห่งฟิสิกส์ ที่เขียนโดยนักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย คือตัวอย่างหนึ่งของการมองหาภูมิปัญญาจากตะวันออกเพื่อเยียวยาตะวันตกที่ได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง ในส่วนของพุทธศาสนาเองนั้น จุดเด่นที่ชาวตะวันตกสนใจ

นอกจากการเป็นศาสนาที่ไม่เสียเวลาถกเถียงเรื่องสถานภาพของพระเจ้า การไม่มีประวัติของการทำสงครามศาสนา จุดเน้นที่สำคัญก็คือ การเป็นศาสนาแห่งปัญญาที่มีลักษณะสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ที่เน้นความมีเหตุผล การมีลักษณะเป็นประจักษ-นิยม (พิสูจน์ได้ ท้าทายได้ ทดสอบด้วยตัวเองได้ อยู่เหนือกาล-เวลา) และแก้ปัญหาชีวิตได้จริง โดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ที่เมื่อชาวตะวันตกหันมาปฏิบัติตามแล้วก็แก้ปัญหาชีวิตได้จริงๆ จนเห็นผลประจักษ์ด้วยตนเอง ประโยชน์ที่เห็นด้วยตาในชีวิตนี้ หรือในปัจจุบันนี้ เหล่านี้เอง ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นศาสนาที่เนื้อหอมที่สุดในตะวันตกเวลานี้

พุทธศาสนากำลังขึ้นสู่ยุคทองของความรุ่งโรจน์ในฝั่งตะวันตกอย่างน่ายินดี แต่เมื่อมองย้อนกลับมาในประเทศไทยแล้ว บางทีก็อดเป็นห่วงไม่ได้ ประเทศไทยที่คนไทยชอบอ้างว่าเป็นเมืองพุทธนั้น กลับมากไปด้วยความรุนแรง ความโลภ ความโกรธ ความหลงในยศ ทรัพย์อำนาจ มากด้วยหมอผี มากด้วยไสยศาสตร์ ทั้งเป็นไสย-ศาสตร์ที่ไม่ต้องมิดเม้นอีกต่อไป เพราะในเวลานี้ผีทั้งหลายสามารถมาปรากฏตัวในรายการทีวีสดๆ เข้าทรงเข้าสิงกันเห็นๆโดยที่ไม่มีหน่วยงานไหนออกมาติงมาเตือน หมอดูหมอเดาก็ทำท่าว่าจะมีบทบาทยิ่งกว่าปัญญาชนนักวิชาการ เพราะเกลื่อนบ้านเกลื่อนจอกันไปหมดในเวลานี้ นอกจากนั้นแล้วเครื่องรางของขลังก็แผ่คลุมแก่นพุทธศาสน์เสียจนยากจะแหวกออกมาให้เห็นเนื้อแท้แห่งคำสอนของพระพุทธองค์

ชาวพุทธไทยจะยังเป็น “กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว” อยู่อย่างนี้ไปอีกนานเท่าไรก็ไม่รู้ ของดีแท้ๆ ที่กำลังบูมอยู่ในเมืองฝรั่งนั้นมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ในบ้านเมืองของเราเอง แต่ทำอย่างไรหนอเราถึงจะมองเห็น ทำอย่างไรหนอ เราถึงจะ “ตื่น” ขึ้นมาตระหนักรู้ ทำอย่างไรหนอ วัฒนธรรมแห่งการ “เจริญสติ” จะกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักแทนวัฒนธรรมแห่งการคอร์รัปชันที่แผ่คลุมไปทั่วทุกวงการ 

 

photo by nuttanart on pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

อานิสงส์ของการเจริญสติ โดย ท่านว.วชิรเมธี

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.