บรรลุธรรมจากธรรมชาติ บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
ธรรมชาติคือทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ก่อเกิดของสรรพชีวิตเท่านั้น ธรรมชาติยังเลี้ยงดูสิ่งมีชีวิตทั้งหลายให้ดำรงอยู่ได้ เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และแหล่งความรู้ต่างๆ ให้มนุษย์ได้ศึกษา
ในบรรดาสรรพความรู้ทั้งหลายล้วนมีรากฐานมาจากการเรียนรู้จากธรรมชาติทั้งสิ้น
จีนซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก ภาษาเขียนของจีน ก็มาจากการเลียนแบบสัญลักษณ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
สถาปัตยกรรมของมนุษย์ ก็เช่นกัน ได้อาศัยการเรียนรู้จากการสร้างรังอยู่อาศัยของสัตว์ และการยึดโยงของสิ่งต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันอยู่ตามธรรมชาติ
งานจิตรกรรมหรือภาพวาด ก็อาศัยการเรียนรู้จากธรรมชาติ ทั้งด้านการใช้สีสันและโครงสร้างของภาพ
ดนตรี ก็อาศัยการเรียนรู้เสียงสูงต่ำที่มีอยู่ในสายน้ำ สายลม ต้นไม้ที่เสียดสีกัน และเสียงร้องของสัตว์ เป็นต้นแบบในการสร้างท่วงทำนองของบทเพลง
ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ก็มีรากฐานมาจากธรรมชาติ อาทิ ผลแอ๊ปเปิ้ลที่หล่นลงมาบนพื้นดิน จุดประกายความคิดให้ เซอร์ไอแซก นิวตัน ค้นพบกฎของความโน้มถ่วง
ฟ้าแลบทำให้ เบนจามิน แฟรงกลิน สนใจศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เป็นผลให้ค้นพบประจุไฟฟ้าในบรรยากาศ
นกบิน เป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์ใฝ่ฝันอยากจะบินได้อย่างนกที่สุด วิลเบอร์ และ ออร์วิลล์ ไรต์ สองพี่น้องตระกูลไรต์ก็สร้างเครื่องบินบินได้จริงๆ
และ…อีกหลายต่อหลายอย่างที่มนุษย์เรียนรู้จากธรรมชาติ
การเรียนรู้ดังกล่าวทำให้เกิดปัญญาทางโลก แต่ต่อให้รู้มากเก่งกาจสักเท่าใด ก็ไม่สามารถพาตนให้พ้นทุกข์ได้
หากนำธรรมชาติมาเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้เกิดปัญญาทางธรรม ก็สามารถเข้าสู่อริยธรรม บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เป็นต้นว่า
ภิกษุณีอุบลวรรณา ขณะจุดดวงประทีปรอบศาลา ได้สังเกตเห็นประทีปแต่ละดวงสว่างไม่เท่ากัน บางดวงอยู่ในที่ที่ไม่มีลมพัดผ่าน ก็สว่างโชติช่วง แต่บางดวงที่มีลมพัดผ่าน เปลวไฟก็ไหวเอนไปมาจะดับมิดับแหล่ ส่วนบางดวงที่โดนลมพัดแรงก็ดับไปทันที ภาพที่เห็น ทำให้อุบลวรรณาเถรีนำมาเปรียบกับชีวิตของคนเราว่าสั้นยาวไม่เท่ากัน บางคนตายตั้งแต่วัยเยาว์ เหมือนเปลวประทีปที่วูบดับลงทันที่ที่ต้องแรงลม บางคนตายในวัยกลางคน เหมือนเปลวประทีปที่วับๆ แวมๆ บางคนตายเมื่อวัยชรา เหมือนประทีปที่ไม่ต้องแรงลม สว่างโชติช่วง และดับเมื่อหมดไส้หรือหมดน้ำมัน
เธอนำเปลวประทีปมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน น้อมเข้ามาหาตนเพื่อเตือนสติมิให้ประมาทต่อชีวิต อันใดที่ยังยึดมั่นสำคัญผิดก็ปล่อยวางลง มิได้แบกให้เป็นภาระของใจอีกต่อไป และด้วยบารมีที่ถึงพร้อม วิปัสสนาญาณจึงเกิดขึ้น เธอจึงได้บรรลุอรหัตตผลในคราวนั้น
ยังมีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งพากันเจริญกรรมฐานอยู่ในป่า แม้เร่งความเพียรเพียงใดก็ยังไม่บรรลุธรรม จึงพากันเดินทางจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ เชตวันวิหาร ระหว่างทางฝ่าเปลวแดดที่แผดร้อน มองไปเบื้องหน้าเห็นพยับแดดระยิบระยับ เป็นภาพต่างๆ ตามที่จิตปรุงแต่ง ครั้นเดินไปถึงกลับมีแต่ความว่างเปล่า พระภิกษุกลุ่มนั้นก็นำเอาภาพลวงตาจากพยับแดดมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน
เมื่อเดินทางต่อไปจนเหนื่อยล้า ถึงศาลาแห่งหนึ่งจึงพากันเข้าไปพักเหนื่อยหลบร้อน ฝนที่ตั้งเค้าก็ตกลงมาอย่างหนัก พระภิกษุกลุ่มนั้นเห็นเม็ดฝนที่หล่นลงมากระทบพื้นก็นำมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ครั้นฝนซาลง ละอองฝนลอยขึ้นไปในอากาศ พระภิกษุกลุ่มนั้นก็นำมาเป็นอารมณ์กรรมฐานอย่างต่อเนื่อง ได้สังเกตเห็นละอองฝนลอยขึ้นไม่ทันไรก็แตกไป เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ต่างไปจากชีวิตของคนเรา เกิดดับเป็นธรรมดา มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ดังปรารถนาภาพที่เห็นโดนใจภิกษุในที่นั้นอย่างแรง อารมณ์กรรมฐานอันเกิดจากการนำเอาพยับแดด เม็ดฝน และละอองฝนมาพิจารณา มีกำลังก่อให้เกิด อาสวักขยญาณ ขึ้น อันเป็นญาณที่ดับตัณหาให้หมดไปได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้น
ยังมีอีกหลายกรณีที่พระอรหันต์หลายท่านบรรลุธรรมจากการนำธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่เฉพาะหน้า เมื่อมากระทบประสาทสัมผัสแล้วโดนใจ ก็น้อมเอามาพิจารณาเป็นอารมณ์กรรมฐาน เป็นเหตุปัจจัยให้บรรลุธรรมได้
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นมีหลายวิธี อย่าไปสำคัญผิดว่าต้องปฏิบัติวิธีนี้แบบนี้เท่านั้นจึงจะบรรลุธรรมได้การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็คือ การปฏิบัติตามแนวทาง สติปัฏฐาน 4 หรือ สัมมาสติ (1 ในมรรคมีองค์ 8)
สติปัฏฐาน 4 นั้นมี ฐานกาย โดยกำหนดรู้ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของอิริยาบถ (เช่น การเดินจงกรม) การพิจารณาธาตุ การพิจารณาร่างกายว่าเป็นของสกปรก (ปฏิกูล) และการพิจารณาร่างกายว่าเป็นของไม่สวยงาม (อสุภะ)
ฐานเวทนา ได้แก่ การพิจารณาความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกาย เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ปวด เมื่อย คัน เป็นต้น
ฐานจิต ได้แก่ การรู้อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดกับจิต เช่น จิตมีราคะหรือไม่ มีโทสะหรือไม่ มีโมหะหรือไม่ เศร้าหมองหรือไม่ ฟุ้งซ่านหรือไม่ เป็นต้น
ฐานธรรม เป็นฐานที่กว้างมาก ครอบคลุมถึงฐานกาย เวทนา จิต (ซึ่งเป็นขันธ์ 5) เข้าไปด้วย นอกจากนี้ยังมีธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล เช่น กิเลสกาม ความคิดร้าย ความพยาบาทต่อผู้อื่น ความลังเลสงสัยที่เป็นอกุศล เป็นต้น ธรรมเหล่านี้ควรละเสีย ส่วนธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ควรที่จะเจริญ นอกจากนี้ สิ่งใดที่กระทบประสาทสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็นำมาพิจารณาเป็นกรรมฐานได้ ดังเช่น การนำเอาเปลวประทีป พยับแดด เม็ดฝน และละอองฝนมาพิจารณา เป็นต้น
หลักสำคัญของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็คือ เห็นสิ่งทั้งหลายตกอยู่ใต้กฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
และที่ขาดไม่ได้ก็คือการวางใจเป็นอุเบกขาต่อสิ่งนั้น
การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันควรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกล่าวคือ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบหรือมีสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายใจ ก็ให้รู้ตัว (สติ สมาธิ) มีความเข้าใจว่าไม่เที่ยง เป็นเช่นนั้นเอง (ปัญญา) วางใจให้เป็นอุเบกขา เพื่อฝึกใจให้คลายความยึดมั่นที่ต้องการให้ได้ดังใจ แม้จะยังไม่บรรลุธรรม แต่ก็เบาบางจากความทุกข์ ช่วยให้ใจร่มเย็นเป็นสุขได้
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต
บทความน่าสนใจ