ปัญญา คืออะไร จะทำอย่างไรให้เกิดปัญญา และการอบรมปัญญาหมายถึงอะไร
ปัญญา คืออะไร มีท่านผู้อ่านถามว่า “นัตถิ ปัญญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” ถ้าเช่นนั้นอยากทราบว่าปัญญา คืออะไร จะทำอย่างไรให้เกิดปัญญา และการอบรมปัญญาหมายถึงอะไร
พระครูธรรมธร ดร.สาคร สุวฑฺฒโน ตอบปัญหาเรื่องนี้ว่า
ในหลักทางพระพุทธศาสนา ปัญญาจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ โลกียปัญญา และโลกุตตรปัญญา
โลกียปัญญา หมายถึง ปัญญาทางโลกซึ่งเป็นแสงสว่างที่จะนำพาตนเองและครอบครัวดำเนินไปตามทางแห่งความสุขความเจริญ เป็นทางของผู้ประพฤติธรรมรักษาศีล ทำบุญทำทานเป็นปกติ มีสติรักษาตน ครองตนโดยธรรมเปรียบประหนึ่งบุรุษผู้มีแผนที่ชี้ทาง ทางใดปฏิบัติแล้วเป็นสุขพึงปฏิบัติ ทางใดปฏิบัติแล้วทุกข์ก็ควรละ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาทางโลก
ประเภทที่สองคือ โลกุตตรปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เป็นแสงสว่างอย่างแท้จริงในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเครื่องออกจากทุกข์ ละจากกามคุณทั้งปวง
เมื่อกล่าวถึงบ่อเกิดแห่งปัญญา กล่าวได้ว่า ปัญญาเกิดจากการภาวนาตามรู้กำหนดอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะ 6) อันจะทำให้เกิดปัญญาสูงสุด
การอบรมปัญญา หมายถึง การเจริญภาวนา คนเราจะสามารถมองเห็นแสงสว่าง เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงได้ด้วยปัญญา ทั้งโลกียปัญญาและโลกุตตรปัญญา หากบุคคลประพฤติตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขจัดความไม่รู้ ความหลงในสมมุติ ความเป็นตัวตนบุคคล มองเห็นรูปนามต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่น บุคคลเหล่านี้ย่อมได้ดวงตาเห็นธรรม และสามารถเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น
ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่กล่าวไว้ว่า นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
ท่านผุู้อ่านอาจมีคำถามต่อ “ผู้มีปัญญากับผู้ไม่มีปัญญาแตกต่างกันตรงไหน”
สำหรับคำถามนี้ พระไพศาล วิสาโล เคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง สุขด้วยปัญญา ไว้ตอนหนึ่งว่า
ข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือผู้มีปัญญานั้นย่อมหาความสุขได้แม้ประสบทุกข์ ส่วนผู้ไม่มีปัญญามัวแต่เป็นทุกข์ ทั้ง ๆ ที่พบสุข
ความทุกข์ไม่ได้มีแต่ด้านลบยังมีด้านบวกที่ปัญญาเท่านั้นจะช่วยให้มองเห็น
เมื่อความเจ็บป่วย ความสูญเสียหรือความล้มเหลวเกิดขึ้นกับผู้มีปัญญา เขาไม่เอาแต่บ่นหรือตีโพยตีพาย แต่ยอมรับว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว อีกทั้งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่ากับใครก็ตาม ดังนั้นจึงหันมาใคร่ครวญว่าจะแก้ไขหรือจัดการกับมันอย่างไร หากแก้ไขไม่ได้ ก็ยอมรับความจริงและมองไปข้างหน้า ไม่มัวเสียดายหรือเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นอดีตไปแล้ว เพราะรู้ดีว่าความเสียใจนั้น เป็นการซ้ำเติมตัวเอง ป่วยกายก็พอแล้วทำไมต้องป่วยใจด้วย เสียทรัพย์ก็พอแล้วจะเสียใจไปอีกทำไม หาไม่อาจทำให้เสียสุขภาพและเสียงานเสียการตามมา เท่านั้นไม่พอ อาจเสียสัมพันธภาพอีกด้วย เพราะเผลอระบายอารมณ์ใส่คนใกล้ชิด เช่น ลูกหรือคู่รัก
ผู้มีปัญญานั้นนอกจากจะไม่ปล่อยให้ใจเป็นลบแล้ว ยังรู้จักมองหาข้อดีหรือประโยชน์จากเหตุร้ายที่เกิดขึ้น เช่น ได้เห็นสัจธรรมว่าสังขารนั้นไม่เที่ยงเลย พบกับพราก เจอกับจากเป็นของคู่กัน ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง มันแค่มาอยู่กับเราเพียงชั่วคราวเท่านั้น ถ้ายึดติดถือมั่นว่าเป็นของเราเมื่อใด ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตยังเตือนใจให้ไม่ประมาทและฝึกใจให้เข้มแข็ง ทำให้มีภูมิต้านทานต่อความทุกข์และอดทนต่อความผันผวนปรวนแปรในชีวิตได้มากขึ้น
ความทุกข์ไม่ได้มีแต่ด้านลบ ยังมีด้านบวกที่ปัญญาเท่านั้นจะช่วยให้มองเห็น
หลายคนพบว่า ความเจ็บป่วยทำให้เขาได้สัมผัสกับความรักอย่างลึกซึ้งของพ่อแม่ หรือรู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่รักและห่วงใยเขา ขณะที่จำนวนไม่น้อยขอบคุณโรคร้ายที่ช่วยให้เขาได้พบธรรมะและความสงบเย็นในจิตใจ ส่วนคนที่ล้มละลายก็ได้เห็นน้ำใจของมิตรแท้และรู้ว่าทรัพย์สินเงินทองหาใช่สรณะที่แท้ไม่ ใช่แต่เท่านั้น เขายังมองเห็นว่า ถึงจะเจอเรื่องร้ายเพียงใด ก็ยังดีที่มันไม่ร้ายไปกว่านี้
การมองด้านบวกยังหมายถึงการมองเห็นสิ่งดี ๆ ที่ยังมีอยู่กับตัว ไม่มัวใส่ใจกับสิ่งที่เสียไปหรือสิ่งแย่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น แทนที่จะอาลัยแขนขาที่พิการหรือตาที่มืดบอดก็หันมาชื่นชมอวัยวะต่าง ๆ อีกมากมายที่ยังดีอยู่ และใช้อย่างเต็มศักยภาพจนทดแทนสิ่งที่เสียไป ดังนั้นจึงพบกับความสุขได้ไม่ยาก ทำนองเดียวกัน แทนที่จะคะนึงถึงทรัพย์ที่เสียไป ก็หันมาตระหนักว่าตนเองยังมีทรัพย์อีกมากมายที่สามารถให้ความสุขแก่ตนได้ ใช่แต่เท่านั้น สุขภาพก็ยังดีอยู่ อีกทั้งมีพ่อแม่และคนรักอยู่ใกล้ตัว ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งทรงคุณค่าที่เงินซื้อไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ ทั้ง ๆ ที่ประสบทุกข์ ผู้มีปัญญาก็ยังสามารถมองเห็นและเก็บเกี่ยวความสุขที่มีอยู่รอบตัว อีกทั้งยังสามารถสัมผัสความสุขจากภายใน อันเกิดจากใจที่ปล่อยวางและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรมดา รวมทั้งความสงบเย็นจากสมาธิภาวนา
อ่านต่อ … สุขด้วยปัญญา โดย พระไพศาล วิสาโล
คำถามใกล้เคียง
20 คำขอพรแบบชาวพุทธแท้ๆ และเป็นปัญญาชน โดยท่าน ว.วชิรเมธี
ละครสอนธรรม: ทศบารมี ตอน ปัญญาบารมี
Q: เราจะทำให้จิตของเราเกิดความรอบรู้หรือปัญญาได้อย่างไรคะ
วิธีง่าย ๆ วางใจอยู่เหนือคำนินทาทั้งปวง บทความดีๆ จาก ปิยสีโลภิกขุ