เจริญมรณสติ วิถีสู่นิพพาน โดย พระไพศาล วิสาโล
ภาษิตทิเบตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ระหว่างวันพรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะมาถึงก่อน” นี่คือความจริงที่เราต้องตระหนักว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน อาจจะเป็นคืนนี้ วันนี้ หรือเดี๋ยวนี้…ชีวิตเราอาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้ก็ได้ เจริญมรณสติ
การเจริญมรณสติอยู่เสมอมีส่วนเกื้อกูลให้บรรลุนิพพานได้ทางหนึ่ง เพราะการเจริญมรณสติทำให้เราไม่ประมาท แทนที่จะเพลิดเพลินในความสุข ลุ่มหลงในการทำงานหาเงินหาทอง ยึดติดในทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ ก็จะหันมาใส่ใจสิ่งอื่นที่สำคัญกับชีวิตมากกว่า
คำว่าสิ่งอื่นในที่นี้หมายถึงการทำบุญกุศล การทำความดี การทำหน้าที่ต่อคนที่เรารักและผูกพัน เช่น พ่อแม่ ลูกหลาน ตลอดจนผู้คนในชีวิต ที่เรามักละเลยเพราะมัวแต่คิดว่าตอนนี้ฉันขอทำงานก่อน ขอหาเงินก่อน ขอสนุกก่อน มรณสติจะทำให้เราหันมาสนใจคนเหล่านี้ ใส่ใจในหน้าที่ของเรา รวมทั้งหันมาใส่ใจกับการภาวนาเพื่อฝึกฝนจิตใจให้พร้อมรับความตายที่จะต้องมาถึงอย่างแน่นอน ในแง่หนึ่งหมายถึงความพร้อมที่จะปล่อยวางทุกสิ่ง เพราะนอกจากจะเอาอะไรไปไม่ได้สักอย่างแล้ว มันยังสามารถหน่วงเหนี่ยวจิตใจให้เป็นทุกข์จนอาจทำให้ตายอย่างทุรนทุรายหากยึดติดถือมั่นจนปล่อยวางไม่ได้
สำหรับคนที่มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ มรณสติจะช่วยให้เราจดจ่อแน่วแน่อยู่กับการปฏิบัติ ไม่มัวสาละวนกับสิ่งอื่นจนลืมตัว เช่น พระบางรูปอาจวุ่นอยู่กับการสร้างวัดสร้างโบสถ์จนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม พอเจริญมรณสติก็คิดขึ้นมาได้ว่า “เอ…เราจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ฉะนั้นต้องหันมาขวนขวายปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ให้จริงจังมากขึ้น”
มรณสติจะคอยเตือนสติไม่ให้เราเพลินกับสิ่งอื่น ช่วยให้เราแน่วแน่และตั้งมั่นในความเพียรพยายาม พระพุทธเจ้าทรงเตือนพระสาวกอยู่เนือง ๆ ว่าให้หมั่นพิจารณามรณสติเพื่อความไม่ประมาท เพราะโลกมีสิ่งดึงดูดความสนใจให้เผลอไผลได้มากมายเหลือเกิน ฉะนั้นจึงต้องหมั่นเจริญมรณสติเตือนตนอยู่เสมอ ให้ตระหนักว่า ความตายนั้นอยู่ใกล้ตัวมาก ชนิดที่ว่าเราเคี้ยวอาหารอีกเพียง 4 -5 คำ หรือหายใจเข้าหายใจออกในอีกอึดใจเดียวเท่านั้น เราก็อาจจะตายได้
กล่าวสำหรับคนทั่วไป การเจริญมรณสติจะช่วยให้เราไม่ละเลยการทำความดี หลีกหนีความชั่ว ช่วยเตือนให้เราทำหน้าที่ต่อผู้อื่นและต่อตนเองโดยไม่ผัดผ่อน รวมทั้งกระตุ้นเตือนให้หันมาปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา
บางคนแม้ไม่เคยสนใจปฏิบัติธรรมเลย แต่พอนึกถึงความตายขึ้นมาก็กลัวตาย หรือกลัวว่าจะตายอย่างทุรนทุราย ไม่สงบ ก็อาจจะหันมาให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรม ยิ่งมานึกถึงความจริงที่ว่าตอนใกล้ตายนั้นจะต้องเจอกับทุกขเวทนาอันแรงกล้า โดยเฉพาะจากความเจ็บปวด ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกใจให้สามารถรับมือกับเวทนานั้นได้ เช่น มีสติหรือสมาธิเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เมื่อปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องก็จะเห็นว่าชีวิตเกิดมามีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่ทุกข์แต่เฉพาะตอนใกล้ตายเท่านั้น ทำให้เห็นว่าเราต้องเร่งขวนขวายปฏิบัติเพื่อนิพพานหรือเพื่อความพ้นทุกข์ จะได้ไม่ต้องมาเกิด ไม่ต้องมาเป็นทุกข์อีก
มรณสติช่วยเกื้อกูลต่อการปฏิบัติเพื่อนิพพานได้มากทีเดียว
ที่มา นิพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
5 วิธีอินกับความตาย เข้าใกล้นิพพาน โดย พระไพศาล วิสาโล
ตักบาตร ห้อยพระ ทอดผ้าป่า…แต่ไม่ปรารถนานิพพาน บทความดี ๆ โดย พระไพศาล วิสาโล
จงปล่อยวาง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ธรรมะสอนใจ จากพระไพศาล วิสาโล
โลกิยนิพพาน แตกต่างกับโลกุตตรนิพพานอย่างไร โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ