ฆ่าสัตว์ให้เรากิน

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: หากร้านอาหารฆ่าสัตว์ให้เรากิน เราจะบาปหรือไม่

หากร้านอาหาร ฆ่าสัตว์ให้เรากิน เราจะบาปหรือไม่

ถาม: ผมไปกินอาหารทะเลที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง แล้วรู้ภายหลังว่าเขานำกุ้งเป็นๆ มาเผาให้กิน การที่ร้านอาหาร ฆ่าสัตว์ให้เรากิน โดยที่เราไม่รู้มาก่อน เราจะบาปหรือไม่ครับ

หลวงตาญาณภาวัน (พระวิชิต ธัมมชิโต) ตอบปัญหาธรรมข้อนี้ไว้ว่า

ตอบ: เรื่องนี้แบ่งได้ 2 กรณี หากเราไม่ใช่ผู้สั่งอาหารจานนั้น ก็ไม่ถือว่าทำปาณาติบาต (การมีส่วนรู้เห็นในการฆ่าแล้วยังฉัน นั่นเป็นอาบัติของพระ) แต่หากเราไม่ใช่ผู้สั่ง แต่อยากกินอาหารทะเลสดๆ และรู้อยู่แล้วว่าร้านนี้เขานำสัตว์เป็นๆ มาปรุงขาย ถ้าเราสั่ง แม้ไม่เห็นว่าเขามีกรรมวิธีอย่างไร ก็ถือว่ามีเจตนาฆ่า จัดเป็นปาณาติบาต ผิดศีลแล้ว

แต่หากเราเพิ่งรู้จริงๆ ว่าเขาฆ่าสัตว์เป็นๆ ปรุงอาหาร ก็ควรห้ามเสีย แต่ถ้าห้ามไม่ทันก็ต้องพึงระวังในอนาคต

ทุกวันนี้เนื้อสัตว์หลายชนิดเขาเตรียมไว้พร้อมสำหรับทำอาหาร ไม่ต้องฆ่าเอง ทำให้รักษาศีลข้อ 1 ได้ง่ายขึ้น ของที่นำมาฆ่าสดๆ เหล่านั้น เลี่ยงได้ก็เลี่ยงเถิดนะ

 

ฆ่าอย่างไรไม่ให้บาป

ท่าน ว.วชิรเมธีได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

การฆ่าสัตว์ที่จะถือว่าเป็นการละเมิดศีล และเป็นบาปโดยสมบูรณ์ (ปาณาติบาต) ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 5 ประการ

(1) สัตว์มีชีวิต (2) รู้ว่าสัตว์มีชีวิต (3) มีจิตคิดจะฆ่า (4) พยายามฆ่า (5) สัตว์ตาย

การฆ่าสัตว์จะถือว่าบาปมากบาปน้อย มีเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาก็คือ “เจตนา” ถ้ามีเจตนาฆ่ารุนแรง ในลักษณะตั้งใจ หรือวางแผนไว้ก่อน บาปก็หนัก ผลกรรมก็รุนแรง ในทางกฎหมาย ก็ถือเช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่า “กรรมย่อมส่อเจตนา” แต่การฆ่าที่ไม่มีเจตนา ไม่ถือว่าเป็นบาป แต่เป็นเพียง “กิริยา” อย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น พระตาบอดรูปหนึ่ง เดินไปเหยียบแมลงเม่าตายเป็นเบือ มีคนไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วเจตนาฆ่าไม่มี ก็ไม่ถือว่าเป็นบาป

การที่เราฆ่าสัตว์ โดยอ้างเหตุผลว่า สัตว์นั้นเป็นอันตรายต่อเรา ถามว่าบาปไหม ก็ตอบได้ว่า “บาป” เหมือนกัน แต่จะบาปมากบาปน้อยขึ้นอยู่กับ “เจตนา” และองค์ประกอบห้าประการดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาเกณฑ์ต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น

– เป็นสัตว์ใหญ่หรือเป็นสัตว์เล็ก

ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ก็ถือว่าบาปมาก สัตว์เล็กก็บาปน้อย

– เป็นสัตว์มีคุณมากหรือมีคุณน้อย

ถ้ามีคุณมากอย่างคน ควาย วัว ก็มีบาปมาก แต่ถ้ามีคุณน้อยก็บาปน้อยลงตามส่วน (ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่าง เดี๋ยวสัตว์เล็ก ๆ ทั้งหลายจะเดือดร้อน)

การที่เราบอกว่าสัตว์บางชนิดเราจำเป็นต้องฆ่าเพราะเขาเป็นอันตรายต่อเรา นี่ก็เป็นทัศนะหนึ่งที่พอฟังได้ แต่หากมองในมุมกลับกัน บางทีสัตว์ก็อาจพูดถึงคนในทางกลับกันว่า คนเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อเขา ดังนั้นเขาก็จำเป็นต้องฆ่าคน เช่น งูเห่า งูจงอาง เห็นคนมาก็กัดจนถึงแก่ชีวิต บางทีถ้ามองในมุมของสัตว์ก็อาจกล่าวได้ว่า สัตว์ก็อาจมีความชอบธรรมในการฆ่าคนเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราจะอ้างว่าเราจำเป็นต้องฆ่าสัตว์เพราะสัตว์เป็นอันตรายต่อ เรา ก็ต้องพยายามมองในมุมกลับกันได้ อย่ามองในลักษณะ “เอาคนเป็นศูนย์กลาง” เสมอไป ถ้าเราลองมองอะไรหลายๆ มุมก็จะพบว่า บางครั้งเหตุที่เราอ้างขึ้นมาเพื่อฆ่าสัตว์นั้น เป็นเหตุอันไม่ควรอ้าง แต่เป็นเพราะเราเห็นแก่ตัวต่างหาก

คนที่มีอาชีพฆ่าสัตว์ก็บาปอยู่แล้ว จะบาปมากบาปน้อยก็ให้พิจารณาตามเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนเพชฌฆาต ถ้าไม่มีเจตนาฆ่าก็บาปน้อย แต่ถ้ามีเจตนาฆ่ามาเป็นตัวร่วม และทำการฆ่าอย่างสนุกสนาน มีความสุขจากการฆ่า ก็แน่นอนว่าบาป ยิ่งฆ่าคนไม่ผิดหรือฆ่าคนที่ชีวิตมีคุณค่ามาก ก็บาปมาก แต่ถ้าฆ่านักโทษอุกฉกรรจ์ที่เป็นคนผิดจริง ก็บาปน้อย จะไม่ให้บาปเลยนั้นหายากมาก ยกเว้นเพชฌฆาตที่มีใจบริสุทธิ์ ฆ่าเพียงเพราะเป็นหน้าที่ ไม่มีเจตนาฆ่าร่วมในการฆ่าเลยก็ไม่บาป แต่โดยมากคนอย่างนี้หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

 

photo by Free-Photos on pixabay


หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่  Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้:การ เล่นแชร์ ผิดศีลธรรมไหม

ปัญหาธรรมประจำวันนี้:รู้ว่าสัตว์จะถูกฆ่า แต่ช่วยอะไรไม่ได้ จะบาปไหม

ปัญหาธรรมประจำวันนี้:ฆ่าสัตว์ เพื่อการศึกษาบาปหรือไม่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.