สอนธรรมะ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: พี่ชาย สอนธรรมะ จนดิฉันรู้สึกรู้สึกแย่ ทำอย่างไรดีคะ

พี่ชาย สอนธรรมะ จนดิฉันรู้สึกรู้สึกแย่

พี่ชาย สอนธรรมะ จนดิฉันรู้สึกรู้สึกแย่ เขาสวดมนต์นั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน เมื่อดิฉันไปอยู่ด้วยจึงได้ฟังธรรมทั้งจากเทปและจากปากพี่ชายตลอดเวลา จนทำให้รู้สึกเหนื่อย

ผู้อ่านถาม : ตอนนี้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ดิฉันเป็นชาวพุทธคนหนึ่งค่ะ ตั้งแต่เด็กก็จะตามแม่ไปไหว้พระสวดมนต์ถือศีล พอโตขึ้นมามีงานทำก็จะลาพักร้อนไปปฏิบัติธรรมทุกปี ซึ่งต้องบอกก่อนว่าดิฉันไม่ใช่นักปฏิบัติตัวยง เพียงแต่การที่หาเวลาไปปฏิบัติก็เพื่อให้ตนละจากความชั่วบ้าง หากอยู่บ้านและที่ทำงานก็เป็นเหมือนคนอื่น ๆ มีสังคม มีชีวิตทางโลกเป็นปกติ เพียงแต่มีหลักธรรมพื้นฐานคือศีล 5 ในการดำรงชีวิต

ชีวิตของดิฉันคงจะเป็นปกติ จนไปพักอาศัยกับพี่ชายคนโต ซึ่งเขาสนใจธรรมะมาก เพราะเคยบวชเรียนมา พี่ชายเป็นคนที่ฟังธรรมทุกวัน ทุกเวลา  เขาสวดมนต์นั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน เมื่อดิฉันไปอยู่ด้วยจึงได้ฟังธรรมทั้ง จากเทปและจากปากพี่ชายตลอดเวลาจนทำให้รู้สึกเหนื่อย เพราะพี่จะถามเสมอว่าที่ฟังไปนั้นคิดอย่างไร เข้าใจแค่ไหน และมักจะถกปัญหาธรรมให้ฟังตลอด อีกทั้งยังชอบเตือนเสมอว่าจิตคนเรานั้นเกิดดับเร็วมาก เกิดภพชาติได้ทุกขณะจิต การที่ต้องอยู่กับพี่ทำให้ดิฉันรู้สึกเหนื่อย รู้สึกแย่ รู้สึกว่าธรรมะเป็นเรื่องยากและไกลตัว และยังทำให้รู้สึกว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยทำดีหรืออยู่ในหลักธรรมเลย ดิฉันไม่อยากเป็นอย่างนี้เลย จะทำอย่างไรดีคะ ช่วยหาหนทางให้เจอความคิดที่ถูกต้องด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ขอไขปัญหาข้อนี้ว่า

พี่ชายของคุณปรารถนาดีต่อคุณ แต่ก็ดูเหมือนจะ “ร้อนวิชา” ด้วย จึงอยากพูด อยากสอนธรรมะ คุณควรรับรู้ถึงความปรารถนาดีของพี่ชาย ขณะเดียวกันก็ควรตระหนักว่า ความเหนื่อยใจของคุณนั้นเป็นเพราะรู้สึกรำคาญการกระทำของพี่ชายยิ่งกว่าอะไรอื่น คนเราเมื่อใจรู้สึกต่อต้านสิ่งใด พอเจอสิ่งนั้นก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ปัญหาจึงมิได้อยู่ที่มีสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับคุณ แต่เป็นเพราะใจไม่ชอบสิ่งนั้นต่างหาก คุณลองทำใจยอมรับหรือเฉย ๆ กับการกระทำของพี่ชาย หรือจะขอบคุณเขาในใจก็ได้ คุณจะพบว่าความทุกข์ในใจคุณจะลดลง บางครั้งหากมีความรู้สึกไม่พอใจเกิดขึ้น ก็ให้รู้ว่ามีอารมณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในใจ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน เพียงแค่น้อมจิตมาที่ลมหายใจ หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สัก 5 - 10 ครั้งก็จะรู้สึกดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากคุณพยายามแล้วแต่ยังมีความทุกข์อยู่ ควรหาโอกาสพูดคุยกับเขา ขอความช่วยเหลือจากเขา โดยเลือกเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม แล้วบอกเขาว่าคุณขอบคุณในความปรารถนาดีของเขา จากนั้นก็บอกเขาว่า สิ่งที่เขาทำกับคุณหรือทำให้คุณนั้น คุณรู้สึกไม่สบายใจ เหน็ดเหนื่อย สุดท้ายก็บอกความต้องการของคุณว่าอยากให้เขาทำอะไรที่จะช่วยให้คุณสบายใจ หรืออยู่บ้านอย่างมีความสุขมากขึ้น ควรพูดกับเขาด้วยเหตุผลและด้วยวาจาที่สุภาพ อย่าใช้อารมณ์ อาตมาเชื่อว่าเขาจะฟังคุณ

 

ที่มา  นิตยสาร Secret คอลัมน์ Dhamma Daily


บทความที่น่าสนใจ

ฟังธรรม: ทำใจให้เป็นบุญ และธรรมะ ธรรมชาติ โดย พระโพธิญาณเถร ( ชา สุภทฺโท )

ก้าวผ่านทุกข์ ด้วย 7 คำสอนหลวงปู่ขาว อนาลโย พระนักวิปัสสนาสายหลวงปู่มั่น

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.