ฝังลูกนิมิต

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ฝังลูกนิมิต ได้บุญมากกว่าทำบุญอย่างอื่นหรือไม่

ฝังลูกนิมิต ได้บุญมากกว่าทำบุญอย่างอื่นหรือไม่

หลวงตาญาณภาวัน (พระอาจารย์วิชิต ธัมมชิโต) ตอบปัญหาธรรมเรื่อง ฝังลูกนิมิต นี้ไว้ว่า

ถาม: การทำบุญฝังลูกนิมิต ได้บุญพิเศษกว่าทำบุญอย่างอื่นหรือไม่ครับ เห็นมีคนกล่าวว่าก่อนตายต้องได้ทำสักครั้ง

ตอบ: ความจริงแล้วอานิสงส์ก็ไม่ได้ต่างจากการทำสังฆทานอื่น ๆ หรอก เพียงแต่เรามีโอกาสทำยาก วัดหนึ่งมีโบสถ์เพียงหลังเดียว กว่าจะสรา้งเสร็จก็นาน แล้วต้องใช้ไปนับร้อยปี พิธีผูกพัทธสีมาจึงถือเป็นพิธีสำคัญ เป็นเครื่องหมายว่าโบสถ์เสร็จด้วย

แต่ก็ไม่ถึงขนาดว่า “ก่อนตายต้องทำให้ได้สักครั้ง” เพราะพระพุทธศาสนาไม่มีคำสอนแบบสั่งให้ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าฝ่าฝืนจะบาป หรือไม่ได้ขึ้นสวรรค์ โดยเฉพาะเรื่องข้างนอก เช่น ต้องบวช ต้องไปสักการะสังเวชนียสถาน ต้องฝังลูกนิมิต ฯลฯ แต่ท่านเน้นให้ฝึกจิต พัฒนาใจตนเองมากกว่า ความเชื่อที่ว่าเป็นบุญใหญ่ ต้องทำสักครั้งในชีวิตมักเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อของผู้ที่รับจ้างจัดงานให้วัด หวังว่าจะให้มีคนมางานมาก ๆ ก็เพียงเท่านั้นเอง


บุญกิริยาวัตถุ 10 เป็นหนทางสู่บุญแท้ในทางพุทธศาสนาที่เอ่ยถึงกันอยู่บ่อย ๆ ได้แก่

1. การแบ่งปันเกื้อกูลผู้อื่น (ทานมัย)

2. การทำความดี ละเว้นความชั่ว (สีลมัย)

3. การพัฒนาจิต – ปัญญาให้สูงขึ้น (ภาวนามัย)

4. การอ่อนน้อมถ่อมตน (อปจายนมัย)

5. การช่วยเหลือเกื้อกูล (เวยยาวัจจมัย)

6. เฉลี่ยความดีให้ผู้อื่นชื่นชม (ปัตติทานมัย)

7. อนุโมทนา ชื่นชมความสุขของผู้อื่น (ปัตตานุโมทนามัย)

8. ฟังเรื่องดีมีสารประโยชน์ (ธัมมัสสวนมัย)

9. แนะนำสารประโยชน์ให้ผู้อื่นรับรู้ (ธัมมเทสนามัย)

10. การทำความเห็นให้ถูกต้อง (ทิฏฐุชุกัมม์)

หลักการทำบุญให้ได้บุญแท้อย่างง่าย ๆ สรุปได้เป็น 3 ประการสำคัญ ได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา พึงระลึกไว้ว่า “บุญจาก การให้ทาน แม้มากมายเพียงใด ก็ไม่มากเท่าบุญจาก การรักษาศีล แต่บุญอันเกิดจากการรักษาศีล ก็เทียบไม่ได้กับบุญที่เกิดจาก การเจริญภาวนา


หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)

Image by Benjamin Balazs from Pixabay


บทความที่น่าสนใจ

Q: ถวายสังฆทานเพียงอย่างเดียวก็ได้ผลบุญมากพอแล้วใช่ไหมคะ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : เวลา กรวดน้ำ ใครบ้างที่จะได้รับผลบุญที่อุทิศไป

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: พระธาตุ ต่าง ๆ เป็นของแท้ที่ควรแก่การสักการบูชาหรือไม่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.