บทเรียนจากความผิดพลาด ของสตีฟ จ็อบส์ ที่จะทำให้คุณหันมาใส่ใจสมดุลชีวิตตัวเอง บทความดี ๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี
เหตุผลประการหนึ่งที่นักธุรกิจส่วนใหญ่หันมาปฏิบัติธรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ พวกเขาเหล่านั้นสูญเสีย “สมดุลชีวิต” อันเนื่องมาจากการทำงานอย่างหนัก จนตกอยู่ในสภาพลืมกิน ลืมนอน ลืมป่วย ผลก็คือ เมื่อทำงานไป ๆ กำไรซึ่งเป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่พวกเขา (บางคน) กลับขาดทุนสุขภาพย่อยยับ บทเรียนจากความผิดพลาด
การจากโลกนี้ไปอย่างปุบปับของไมเคิล แจ๊คสัน ก็ดี วิทนีย์ ฮิวสตัน ก็ดี หรือ สตีฟ จ็อบส์ ก็ดี ล้วนเป็นตัวอย่างบ่งชี้ว่าชีวิตที่ขาด “สมดุลงาน สมดุลชีวิต” นั้น เป็นชีวิตที่เสี่ยงต่อการแตกดับง่ายดายเพียงไร
สตีฟ จ็อบส์ ซูเปอร์ซีอีโอ สารภาพถึงความผิดพลาดในเรื่องสุขภาพของตัวเองไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า
“…จ็อบส์เดาว่าที่เขาเป็นมะเร็งนั้นมีสาเหตุมาจากปีสุดโหดที่เขาบริหารทั้งแอปเปิลและพิกซาร์ไปพร้อม ๆ กัน เริ่มตั้งแต่ปี 1997 เขาขับรถขึ้นล่องระหว่างสองบริษัท ทำให้เป็นนิ่วในไตและโรคอื่นอีกหลายโรค พอกลับถึงบ้าน ก็อิดโรยจนแทบพูดไม่ออก ‘คงจะเป็นช่วงนั้นเองที่มะเร็งเริ่มกระจาย เพราะตอนนั้นระบบภูมิคุ้มกันของผมค่อนข้างอ่อนแอ’…”
การที่สตีฟ จ็อบส์ จากไปในวัยเพียง 56 ปีนั้นส่งผลสะเทือนต่อผู้นำทางธุรกิจคนอื่น ๆ ไม่น้อย เพราะการ “ตาย” ของเขาทำให้คนที่ยังอยู่ “ตื่น” ขึ้นมาพิจารณาชีวิตว่า ถึงที่สุดแล้วคุ้มกันหรือไม่กับการบ้าทำงานหนักแทบล้มประดาตายเพื่อที่จะพบว่า เมื่อมีเงินทองกองมหาศาล แต่แล้วกลับต้องทิ้งทุกอย่างไปอย่างไม่มีวันกลับในเวลาอันแสนสั้น หรือบางทีพวกเขาก็คิดกันว่า “หรือว่าเงินที่เราหามากองมากมายมหาศาลนั้น แท้ที่จริงก็เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้จ่ายในโรงพยาบาลสุดหรูเท่านั้น” บางคนคิดต่อไปว่า “ทำอย่างไรงานจึงจะได้ผล คนจึงจะเป็นสุข”
หัวใจสำคัญของการปรับสมดุลงานและสมดุลชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่เราแต่ละคนรู้จักบริหารสมดุลทั้ง 4 คู่ให้ครบ ก็จะประสบภาวะ “รื่นรมย์ในงาน เบิกบานในชีวิต” ได้ไม่ยาก สมดุล 4 ที่ว่านี้ประกอบด้วย (ผู้เขียนพัฒนาขึ้นมาจากประสบการณ์ตรง และมีรายละเอียดอยู่ในธรรมบรรยายชุด “สมดุลงาน สมดุลชีวิต”)
- สมดุลกาย สมดุลใจ
- สมดุลงาน สมดุลชีวิต
- สมดุลโลก สมดุลธรรม
- สมดุลส่วนตัว สมดุลส่วนรวม
กล่าวเฉพาะสมดุลงานและสมดุลชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดเลย วิธีสร้างก็คือ ให้หา “ทางสายกลาง” ระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตให้พบ ผ่านหลักการง่าย ๆ ที่ว่า
“การทำงานประสานกับคุณภาพของชีวิตคือผลสัมฤทธิ์ของทางสายกลาง”
หมายความว่า เมื่อทำงานจนประสบความสำเร็จในฐานะคนทำงานแล้ว คุณภาพของชีวิตคือสุขภาพยังดีอยู่ไหม ยังมีเวลาให้ครอบครัวอยู่ไหม ยังมีเวลาให้ตัวเองอยู่ไหม เคล็ดลับประการหนึ่งในการรักษาสมดุลชีวิตก็คือ การฟัง “นาฬิกาชีวิต” หรือ BODY CLOCK ตามปรัชญาเซนที่ว่า
“เมื่อหิว ก็จงกิน
เมื่อง่วง ก็จงนอน
เมื่ออยากเข้าห้องน้ำ ก็จงเข้า
เมื่อเหนื่อย ก็จงพัก”
พุทธปรัชญาง่าย ๆ แค่นี้ ถ้าใครทำได้ก็จะพบ “สมดุลงานสมดุลชีวิต” ได้ไม่ยาก แต่เรื่องง่าย ๆ อย่างนี้แหละที่สตีฟ จ็อบส์เคยเล่าว่าเขาทำได้ยาก เพราะเวลาหิว เขายังติดประชุม เวลาง่วง เขายังตอบอีเมลลูกค้าอยู่ (บางทีเลยไปถึงตีหนึ่ง ตีสอง) เวลาอยากเข้าห้องน้ำ เขาต้องควบรถจากบริษัทหนึ่งเพื่อไปให้ทันประชุมยังอีกบริษัทหนึ่ง และเวลาเหนื่อย เขาก็ไม่อาจปล่อยงานที่กำลังพัวพันอยู่ตรงหน้าได้ เหนื่อยแทบตายก็ปล่อยไม่ลงปลงไม่ได้
เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ ทางเซนถือเป็นปาฏิหาริย์ก็เพราะว่าไม่ใช่เราทุกคนจะสามารถฟังเสียงนาฬิกาชีวิตแล้วปฏิบัติได้ทันที แต่ถ้าใครฟังแล้วทำได้ทันที คนคนนั้นก็จะมีชีวิตที่มหัศจรรย์คือจะมีความสุข มีสุขภาพดี และมีอายุยืน
เพราะปรัชญาง่าย ๆ นี่แหละคือแก่นของสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ทางสายกลาง” ในการสร้างสมดุลให้กับงานและชีวิตปรัชญาอย่างนี้มีอยู่แล้วในกายและใจของเราทุกคน ขาดเพียงอย่างเดียว…
เราละเมียดพอที่จะฟัง “เสียงจากภายใน” ของตัวเองบ้างหรือเปล่าเท่านั้น
เรียบเรียงจากบทความ แสวงหาสมดุลชีวิต ในนิตยสาร Secret เขียนโดย ท่าน ว.วชิรเมธี
บทความน่าสนใจ
บิล เกตส์ สอนลูกอย่างไร? บทความน่าคิดจาก ท่าน ว.วชิรเมธี
วอร์เรน บัฟเฟตต์ อัครมหาเศรษฐีตัวจริง
คาร์ลอส สลิม เอลู มหาเศรษฐีใจบุญแห่งเม็กซิโก แบบอย่างของผู้บริหารที่ดีเลิศ