ขโมย

“ขโมย… ไม่ขโมยดวงจันทร์” บทกวีดังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหัวขโมย

ค่ำคืนหนึ่งในช่วงปลายสมัยเอโดะ ชายแปลกหน้าคนหนึ่งได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาคุกะมิ (Kugami Mountain)

ชายผู้นี้มักจะอ้างเหตุผลกับตัวเองว่า “เพราะภาวะข้าวยากหมากแพงที่ญี่ปุ่นกําลังเผชิญอยู่นี่แหละที่ทําให้ข้าค้าขายไม่ได้ ไหน จะดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้ง ปลูกอะไรไปก็ไม่คุ้ม…ก็เพราะอาภัพอย่างนี้ไงเล่า จึงทําให้ข้าต้องเลือกอาชีพ ขโมย”

เขาตัดสินใจรอเวลาให้ฟ้ามืดลงจึงเริ่มปฏิบัติการ เมื่อเดินไปถึงชายป่า เขาก็มองเห็นกระท่อมหลังหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กมากจนตอนแรกเขาคิดว่ามันคือเล้าไก่ เมื่อเห็นว่าไม่มีใครอยู่ในกระท่อม เขาจึงไม่รีรอ บุกรุกเข้าไปทันที แต่แล้วเขาก็ต้องผิดหวัง เพราะจากแสงเดือนที่ส่องสว่างทําให้มองเห็นว่า ในกระท่อมมีเพียงเครื่องใช้เก่าคร่ำคร่า เช่น กาน้ำชาที่มีตะกรันจับจนทั่ว ถ้วยชามปากบิ่น ผ้าห่มผืนบางเฉียบ ฯลฯ เท่านั้น

ขโมย ง่วนอยู่กับการค้นหาข้าวของที่คิดว่ามีค่าคุ้มต่อการหอบหิ้วจนไม่ได้ยินเสียงประตูที่เปิดออก และกว่าจะมองเห็นคนที่เปิดประตูเข้ามา คนคนนั้นก็มายืนอยู่ตรงหน้าแล้ว

ขโมยตกใจสุดขีด เท้าไวเท่าความคิด รีบกระโจนออกไปทางหน้าต่างทันที

“หยุดก่อน ๆ” เสียงแหบพร่าบอกถึงความแก่ชราดังอยู่เบื้องหลัง แต่ทว่า…ขโมยได้จากไปเสียแล้ว

ชาวบ้านหลายคนได้ยินเสียงวิ่งและเสียงร้องตะโกน จึงถือคบไฟวิ่งตรงมาหาพระชราเจ้าของกระท่อมหลังนั้น พลางซักถามท่านเป็นการใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น

พระชราตอบอย่างอารมณ์ดีว่า

“ข้าอุตส่าห์วิ่งตามเพื่อจะเอาเบาะรองนั่งไปให้ เพราะไหน ๆ เขาก็มาเยี่ยมแล้ว จะได้มีอะไรติดไม้ติดมือไปบ้าง”

“ท่านเรียวกันละก็ ช่างเข้าใจพูดเล่นเหลือเกินนะ ว่าแต่มีของมีค่าหายไปบ้างหรือเปล่าเล่า”

“ไม่เลย ของมีค่าที่สุดของข้ายังอยู่บนนั้น” พูดแล้วพระชราก็ชี้ไปที่ดวงจันทร์

คืนนั้นขโมยจากไปมือเปล่า โดยไม่รู้ว่าเขามีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้พระชรา ผู้ที่ภายหลังได้แต่งบทกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดขึ้นมาบทหนึ่ง ความว่า

ขโมยไม่ขโมย   The thief left it behind:
ดวงจันทร์     the moon
ที่หน้าต่าง     at my window.

(สํานวนแปลของปราบดา หยุ่น จากหนังสือเรื่องกระทบไหล่เขา สํานักพิมพ์ระหว่างบรรทัด)

แท้จริงแล้วพระชรารูปนี้คือ ท่านเรียวกัน ไทกุ (Ryokan Taigu) กวีที่ชาวญี่ปุ่นรักและนับถือมากที่สุดคนหนึ่ง ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1758–1831 และบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนานิกายเซนเมื่ออายุเพียง 18 ปี และร่ำเรียนอยู่ในวัดเอ็นสึจิ (Entsuji) จนแตกฉานในพระธรรมขั้นสูงสุด แต่ด้วยนิสัยเรียบง่าย ไม่ใส่ใจกฎระเบียบใด ๆ ท่านจึงหลบหนีออกจากวัดและมาอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังเล็ก ๆ ในหุบเขาคุกะมิจนสิ้นชีวิต

คําว่า เรียวกัน ไทกุ มีความหมายว่า คนโง่ผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ เหตุที่ท่านได้รับฉายานี้ก็เพราะความที่ท่านเรียวกันไม่ยึดติดกับสิ่งสมมุติทางโลก ท่านจึงมีพฤติกรรมบางอย่างที่ดูน่าขบขันสําหรับคนทั่วไป เช่น ท่านเลือกที่จะเลี้ยงชีวิตด้วยการขออาหารจากชาวบ้านแทนที่จะสังกัดวัดใดวัดหนึ่งเยี่ยงพระทั่วไป เวลานอนท่านจะยื่นขาออกนอกผ้าห่มให้ยุงดูดเลือดเพื่อเป็นทาน ฯลฯ

บทกวีข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของบทเรียนที่ท่านเรียวกันฝากไว้ ซึ่งน่าจะสามารถเตือนใจเราได้ว่า สิ่งมีค่าที่สุดของมนุษย์นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองหรือตําแหน่งหน้าที่อันยิ่งใหญ่แต่อย่างใด หากแต่เป็นธรรมชาติรอบตัวที่มีคุณค่าจนไม่อาจประเมินราคาได้ และทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อหาเลยด้วยซ้ํา

ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณไม่เคยเป็นเจ้าของสิ่งมีค่าอะไรเลย คืนนี้…ลองแหงนหน้ามองดวงจันทร์บนท้องฟ้าดูสิคะ

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

Image by Susan Cipriano from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

นิพพานชั่วขณะ…ละวางตัวตน ธรรมะโดย พระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.