ปัญหาหนักใจของคุณแม่ยุคนี้ เห็นลูกหลานติดมือถือกันหนึบหนับ ไม่ละจากสายตา จนบางครั้งก็เกิดอารมณ์โกรธทันทีที่เห็น จึงกลายเป็นคุณแม่ขี้โมโห เกรี้ยวกราด ขี้หงุดหงิด ในใจมีแต่ความขุ่นมัว
ผลจากความโกรธไม่เพียงสะท้อนออกมาจากตัวคุณแม่เองเท่านั้น แต่คุณแม่หลายท่านระบายอออกด้วยการด่าทอ ต่อว่าลูกด้วยความรุนแรงแบบหยุดไม่อยู่
ซีเคร็ตมีข้อคิดจาก พระมหาดร.ธนาธิป มหาธมฺมรกฺขิโต (ฮาดเนาลี) กล่าวถึงปัญหาเรื่องนี้ไว้เป็นแนวทางว่า
โดยปกติจิตของมนุษย์จะมีอารมณ์หรือสภาวะ ประภัสสร คือ มีจิตปกติสุขหรือความงดงามในตัวเอง (ปภสฺสรํ จิตฺตํ) การจะทำให้เกิดความโกรธหรือความหงุดหงิด เพราะการจรมาของกิเลสจากภายนอก เช่น ความพอใจ ความไม่พอใจ ความโกรธ ความรัก ความเกลียดชัง หรืออื่นใดจรเข้ามา ทำให้จิตของเราต้องรับรู้และแปรสภาพไปในทางลบ คุณภาพของจิตก็จะมีประสิทธิภาพลดลง ความมีปกติสุขและความสุขภายในใจ ก็จะหายไปเรื่อย ๆ จะทำให้ชีวิตนี้ขาดทุน ต้นทุนของจิตที่บริสุทธิ์โดยปราศจากการปรุงแต่งจากความสุขหรือความทุกข์ มันเป็นคุณสมบัติที่มีค่ามหาศาลของมนุษย์ ถ้าใครไม่สามารถเข้าใจตามสภาวะแห่งธรรมชาติของจิต ก็ถือว่า ขาดโอกาสในการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ดังนั้น สิ่งที่ท่านควรทำมากที่สุด ก็คือ การอย่าทำให้โอกาสอันมีคุณค่ามหาศาลของชีวิตนี้ต้องขาดทุน และอย่าลดประสิทธิภาพของใจให้มีความสุขลดน้อยลง ท่านต้องเริ่มจากกระบวนการนี้ โดยการปรับจิตของท่านให้มีสติยับยั้งชั่งใจให้มากขึ้นกว่าเดิม และพยายามใช้สติตระหนักและรับรู้อารมณ์หรือความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้น วิธีการแบบนี้ ต้องอาศัยการฝึกฝน ความอดทน สติต้องเข้มแข็งและมั่นคงต่อเนื่อง จึงจะทำให้ท่านใจเย็นลงได้ ความมีสติจะทำให้ท่านสงบอารมณ์ลง และสามารถรู้แจ้งในอารมณ์นั้น ๆได้ดี ความหงุดหงิดจะหายไปโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ การขาดสติจะทำให้มีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมากขึ้น การใช้ถ้อยคำที่รุนแรงจะบั่นทอนความเมตตา ความรัก และความอ่อนโยนของจิตใจมาก จะทำให้มีการสั่งสมอารมณ์ขุ่นมัวและรุนแรงโดยไม่รู้ตัว จนกลายเป็นการสั่งสมโทสะไว้มาก จะส่งผลให้มีความเกรี้ยวกราด ความเป็นมนุษย์ของท่านจะขาดหายไปในทันที
ปัญหาความหงุดหงิดของท่าน มีสาเหตุมาจากลูก จึงต้องแก้ที่ลูก โดยเริ่มจากการปรับทัศนคติที่ลูกก่อน โดยต้องทำความเข้าใจและวางระเบียบชีวิตและมอบภาระให้ลูกต้องรับผิดชอบ และคอยสังเกตว่าลูกคนไหนทำหน้าที่ได้ดีกว่า ก็ยกย่องลูกคนนั้นให้เป็นตัวอย่าง แต่อย่าทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างการมอบความรักและความไว้วางใจให้มากนัก คนที่ดื้อรั้นมักจะเกิดจากความถือตัวเองเป็นสำคัญ หรือมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง
การกำจัดอุปนิสัยของคนดื้อรั้น ก็คือ การลดทิฏฐิมานะของพวกเขาโดยการชักจูงหรือการชักนำให้เขาได้สัมผัสกับความอ่อนโยน ความรัก ความอบอุ่น เช่น การให้เขามีโอกาสได้ฟังธรรม หรือศึกษาธรรมะบ้าง เพื่อขัดเกลาความดื้อรั้น การฟังธรรมจนเข้าใจ ย่อมจะเป็นคนว่าง่ายมากขึ้น นี่ก็เป็นวิธีกำจัดความดื้อรั้นได้อีกวิธีหนึ่งด้วย
เมื่อเกิดอารมณ์ โกรธ ควรทำอย่างไร
ท่านว.วชิรเมธี กล่าวในหนังสือ นิพพานระหว่างวัน สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ ถึงวิธีช่วยสลายความโกรธไว้ 7 วิธี ว่า
1. งดการตัดสินใจในขณะนั้น เพราะอารมณ์ชั่ววูบที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
2. งดการพูดในขณะนั้น เพราะอาจจะพลั้งเผลอพูดในสิ่งไม่ดีที่อาจต้องกลับมาเสียใจในภายหลัง
3. ขอตัวออกมาจากสถานการณ์นั้น เพราะอาจถูกกระตุ้นเร้าจนควบคุมตัวเองไม่ได้
4. ย้ายตัวเองไปทำอย่างอื่น เพื่อเบี่ยงเบนจิตออกจากความโกรธ
5. เจริญเมตตา พิจารณาว่าทั้งเราทั้งเขาที่กำลังโกรธกันล้วนอยู่ในวัฏจักรแห่งความทุกข์
6. หาโอกาสสวดมนต์ ฝึกสมาธิภาวนา ให้จิตมีฐานที่มั่นคง เวลาถูกกระทบจะได้ไม่กระเทือน
7. หมั่นเจริญสติในชีวิตประจำวันอยู่เนือง ๆ เมื่อพลังสติมีมากขึ้น จะรู้ทันความโกรธ
เมื่อระงับโกรธแล้ว หาวิธีสอนให้ลูก หรือพาลูกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ อย่าปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นคุณแม่ขี้โมโห และอย่าปล่อยให้ความโกรธทำร้ายความรักระหว่างแม่และลูกอีกต่อไป
บทความน่าสนใจ
ฝืนอารมณ์โกรธ ฝึกไว้ช่วยเพิ่มกำไรในชีวิต
Dhamma Daily: ลูกมีสิทธิ์ โกรธพ่อแม่ บ้างไหม
7 ปลายทาง ที่ความโกรธจะทําร้ายคุณได้
เรื่องจริงของการโกรธเขา แล้วตัวเรามีแต่ ความทุกข์
ลมหายใจนี้มีเพื่อลูก ; เรื่องจริงของคุณแม่ ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อลูกชาย
ถอดรหัสวิธีเลี้ยงลูก คุณเป็นพ่อแม่แบบไหนกันแน่ แบบทดสอบวัดการเลี้ยงลูกสุดแม่นยำ!
“นาย” ( ณภัทร เสียงสมบุญ ) คือดวงใจ ซิงเกิ้ลมัมกับวิธีสอนลูกที่ใช้ธรรมนำทาง