รับรู้แต่ไม่ยึดติด

รับรู้แต่ไม่ยึดติด ไม่ว่าอารมณ์บวกหรืออารมณ์ลบ

รับรู้แต่ไม่ยึดติด ไม่ว่าอารมณ์บวกหรืออารมณ์ลบ

หลวงพ่อชา สุภทฺโท กล่าวว่า “ความทุกข์ก็เหมือนกับหัวงู ไปจับมัน มันก็กัด ความสุขเปรียบเหมือนกับหางงู จับหางงูก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะถ้าวางไม่ทันมันก็แว้งกัด” เพราะฉะนั้นท่านจึงพูดรวมๆ ว่า อารมณ์ทั้งหลายเหมือนกับงูพิษ ไม่เกี่ยวข้องกับมันเป็นดี คือปล่อยให้มันเลื้อยตามธรรมชาติของมัน เดี๋ยวมันก็ผ่านไปเอง คนฉลาดเมื่อเจอสิ่งชอบใจก็ปล่อย ไม่ชอบใจก็ปล่อย ไม่จับฉวยหรือยึดเอาไว้

ในขณะที่พระไพศาล วิสาโล ให้คำแนะนำเรื่องของอารมณ์ในทางบวกและทางลบเอาไว้ว่า อย่าคิดว่าอารมณ์ที่เป็นลบเท่านั้นที่เป็นเสมือนงูพิษ อารมณ์ที่เป็นบวกก็เป็นงูพิษเช่นกัน ถ้ายึดติดก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ลบหรืออารมณ์บวกล้วนเป็นทุกข์ คือทุกข์ในไตรลักษณ์ มีความกดดันความบีบคั้นในตัว ไม่สามารถคงอยู่ในสภาวะเดิมได้ และต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด ถ้าเรายึดติดหรือหมายมั่นครอบครองอารมณ์ที่เป็นบวก เราก็จะทุกข์ใจเช่นกันเพียงแต่อาจจะทุกข์ช้ากว่าอารมณ์ที่เป็นลบ

ท่านเว่ยหลาง ปรมาจารย์ที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของพุทธศาสนาในประเทศจีน บรรลุธรรมเมื่อได้ฟังการสอนถึงวิธีพ้นทุกข์ ด้วยข้อความที่ว่า “พึงทำจิตมิให้ยึดมั่นในทุกสิ่ง” เป็นหลักเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระนันทิยะ มีคนถามพระนันทิยะว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรท่าน พระนันทิยะตอบว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปล่อยให้วางทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง มิให้ติดอยู่ในอารมณ์อันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน อารมณ์ที่พอใจหรือไม่พอใจอันใดเกิดขึ้น จงปล่อยวางให้เป็นกองๆ ไว้ ณ ที่นั้น อย่างนำมาเก็บไว้แบกไว้”

ไม่ใช่แค่คำตำหนิเพียงอย่างเดียว คำชมก็ต้องวางไว้เหมือนกัน คนชมเราตรงไหนก็ให้วางไว้ตรงนั้น เพราะถ้าเคลิบเคลิ้มหลงใหลกับมันก็เป็นทุกข์ พอเขาไม่ชมก็ทุกข์ ยิ่งชมมากเราก็ยิ่งติด พอเขาชมน้อยเราก็ทุกข์ ถ้าไม่ชมเลยก็เป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่เขายังไม่ถึงกับตำหนิเลย ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนพระนันทิยะให้วางทั้งอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ

วางในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่รับรู้ รับรู้แต่ไม่ยึดติด เพราะคนเราจะทำอะไรได้ก็ต้องรับรู้อารมณ์ปัจจุบัน แต่ก็ควรมีสติตามรู้โดยไม่เข้าไปยึดติด ซึ่งไม่ได้หมายถึงอารมณ์ภายนอกอย่างเดียว อารมณ์ภายในคือสิ่งที่ปรุงขึ้นมาในใจก็เหมือนกัน

ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นหลักสากล แม้จะพูดกันคนละสำนวน แต่ใจความเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นถ้าเราทำความเข้าใจกับคำสอนส่วนนี้และปฏิบัติให้ได้ก็จะช่วยเราได้มาก ทำให้ใจสงบและสว่าง คือเกิดปัญญาได้ในที่สุด หลักที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางใจไม่ยึดติดทั้งบวกและลบนี้เรียกกันว่าความเข้าใจต่อ “โลกธรรม 8”

โลกธรรม คือ ธรรมที่มีอยู่ประจำโลก ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่น่าชื่นชม และฝ่ายขมขื่นซึ่งใครๆ ก็ไม่ต้องการ โลกธรรมทั้งสองฝ่ายนั้นประกอบด้วย

 

ชื่นชม               ขมขื่น

                                                     ได้ลาภ                เสื่อมลาภ

                                                     ได้ยศ                 เสื่อมยศ

                                                     สรรเสริญ             นินทา

                                                     สุข                    ทุกข์

 

ทุกคนล้วนได้ประสบพบพานกับโลกธรรมทั้ง 8 ประการนี้มาแล้วไม่มากก็น้อย ไม่เร็วก็ช้าอยู่ที่ว่าตัวเราเองจะรู้เท่าทันธรรมชาติอันเป็นธรรมดาของชีวิตนั้นหรือไม่

 

ข้อมูลจาก

หนังสือธรรมะทวนกระแส โดย พระไพศาล วิสาโล สำนักพิมพ์อมรินทร์

หนังสือธรรมะดับร้อน โดย ว.วชิรเมธี สำนักพิมพ์อมรินทร์

photo by pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความที่น่าสนใจ

สุขกับสิ่งใด ก็ทุกข์กับสิ่งนั้น บทความดีๆ จากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

วางได้ ใจไม่ทุกข์ บทความเรียกสติจากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.