มี (ทุกข์) ไม่เท่ากับ เป็น (ทุกข์) บทความให้กำลังใจจาก นายแพทย์ชวโรจน์
ที่มาจากบทความ “มี ไม่เท่ากับ เป็น” เขียนโดย นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล
มะเร็งเป็นโรคร้ายที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน…
หากย้อนหลังกลับไปในอดีต เราทุ่มเทกำลังเพื่อทำสงครามกับโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่องและผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา แต่เมื่อใดที่เรารู้ว่าจะสู้ไม่ไหว เราก็จะยอมแพ้ให้กับมะเร็งแบบหมดทางสู้ ยอมปล่อยให้มันขโมยความสุขที่เหลืออยู่ของเราไปจนหมดสิ้น เพราะใจคิดยอมรับไปว่า มะเร็งเป็นทั้งหมดแล้วในชีวิตเรา เป็นไปได้หรือไม่ว่า บางทีเราอาจจะขอยุติสงครามกับมะเร็งได้อย่างสันติ…
ผมมีโอกาสดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหลายคนด้วยกันครับ ส่วนใหญ่ระยะนี้มักจะมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่อวัยวะสำคัญ และทำให้อวัยวะนั้นทำงานผิดปกติไป ซึ่งหมายถึงพวกเขาจะมีเวลาหายใจอยู่บนโลกนี้อีกไม่นานมากนัก หนึ่งในนั้นเป็นหญิงสาวอายุเพียง 23 ปีคนหนึ่ง ผมได้ยินญาติ ๆ เรียกเธอว่า “ดาว” เธอเดินทางไกลมาจากต่างจังหวัดเพื่อมารักษาอาการป่วยประมาณเกือบสองปีแล้ว เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่ที่สำคัญคือ เราตรวจพบว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งนี้ในสมองและน้ำไขสันหลังของเธอแล้ว
เธอได้รับยาเคมีบำบัดไปหลายครั้ง เราพยายามกันเต็มที่เพื่อจะหยุดยั้งโรคร้ายนี้ แต่ยิ่งพยายามก็ดูเหมือนว่าเราช่วยอะไรเธอไม่ได้มากนัก และในบางครั้งยังทำให้เธอเจ็บปวดและอ่อนแอมากขึ้น เมื่อถึงเวลาตรวจหรือต้องให้ยาเคมีบำบัดทางไขสันหลัง (ซึ่งต้องใช้เข็มที่มีขนาดยาวกว่าปกติเพื่อเจาะน้ำไขสันหลังโดยเฉพาะ เจาะเข้าไปบริเวณหลังส่วนล่าง จากนั้นจึงให้ยาต่อ) ผมมักจะชวนเธอคุยก่อนเสมอ เพื่อให้เธอรู้สึกผ่อนคลาย ไม่กลัวและกังวลถึงความเจ็บปวดมากนัก
อันที่จริงส่วนใหญ่ผมคิดว่าเธอมักจะเป็นฝ่ายชวนผมคุยเสียมากกว่า เธอเคยบอกผมตอนที่ต้องให้ยาทางไขสันหลังครั้งหนึ่งว่า “หมอดูเครียดกว่าหนูอีกนะคะ หนูไม่เป็นไรค่ะ ไม่ต้องกังวล” เธอกลับเป็นคนปลอบใจผมแทนเสียอีก ดาวเป็นคนที่ร่าเริงและมองโลกในแง่ดีมากทีเดียวครับ อย่างหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของเธอคือ บนหัวเตียงของเธอ และเตียงใกล้ ๆ มักจะมีเสื้อไหมพรมหรือไม่ก็กระเป๋าไหมพรมที่เธอเป็นคนถักเองวางอยู่เสมอ เธอชอบที่จะทำแจกทุก ๆ คนครับ
มีอยู่วันหนึ่งที่ผมประทับใจมากคือ ผมพยายามจะปลอบเธอหลังจากเราพบว่าตรวจพบเซลล์มะเร็งกลับเป็นซ้ำในน้ำไขสันหลังของเธอ แม้จะได้ยาเคมีไปหลายรอบแล้วก็ตามที ผมค่อย ๆ บอกเธอว่า
“หมอพบว่า ดาว เป็น มะเร็งระยะแพร่กระจายนะครับ แต่เราจะรักษากันต่อให้เต็มที่ครับ” แต่เธอกลับบอกผมว่า “หมอพูดผิดไปนิดนะคะ หนูแค่ มี มะเร็งอยู่ในตัวค่ะ แต่ไม่ได้ เป็น มะเร็ง…มะเร็งเป็นแค่เซลล์ชนิดไม่ดีส่วนเล็ก ๆ อยู่ในตัวหนูค่ะ”
ผมอดยิ้มให้คำพูดของเธอไม่ได้ เธอพูดถูกมากครับ “มี” กับ เป็น” สองคำนี้ให้ความรู้สึกต่างกันมากจริง ๆ
เป็นมะเร็ง คือ มะเร็งเป็นทุก ๆ อย่างในตัวเธอ ชีวิตของเธอไม่เป็นอะไรอื่น ๆ อีก นอกจากมะเร็ง
มีมะเร็ง คือ มะเร็งเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ชีวิตของเธอยังมีอะไรอีกมากมาย นอกจากมะเร็ง
ใช่แล้วครับ เธอยังมีอะไรดี ๆ อีกมากในตัว เธอเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีครอบครัวและเพื่อนที่ดี การที่ผมบอกว่าเธอ เป็น มะเร็ง จึงไม่ถูกต้องเลยครับ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เธอพูดก็ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของโรคร้าย เธอใช้คำว่า มี เพราะเธอยอมรับตามความเป็นจริงไม่ได้ปฏิเสธหรือกลบเกลื่อนความจริง และใช้ชีวิตอยู่กับมันต่อไปอย่างเป็นสุข เรียกได้ว่าเธอไม่เพียงแต่เข้าใจหลักคำสอนที่สำคัญของพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เธอยังนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างดีเลยทีเดียว นี่ก็คือ การยุติสงครามกับโรคมะเร็งได้อย่างสันติ คือเธอมีอยู่ในตัวฉันได้ แต่ฉันก็ไม่ได้เป็นเธอทั้งหมด เราเพียงแค่อยู่ร่วมกันเฉย ๆ เท่านั้น
การมีชีวิตที่ดีอย่างแท้จริงนั้น คือการที่เราสามารถมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุขอยู่ได้ท่ามกลางความทุกข์ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ซึ่งการที่เราจะทำแบบนั้นได้ สิ่งที่ควรเริ่มต้นก่อน อันดับแรกก็คือ การยอมรับและเข้าใจในความทุกข์ที่เกิดขึ้น ไม่คอยแต่หลบหนี หรือผลักไสความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว หรือในทางตรงกันข้าม ก็ไม่ควรแบกรับสิ่งแย่ ๆ ทั้งหมดเอาไว้อยู่ตลอดจนสิ่งเหล่านั้นกลายเป็นทั้งหมดทุกอย่างในชีวิต เพราะเราคงห้ามฝนไม่ให้ตกหรือเอาแต่วิ่งหลบฝนแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องฝึกยอมรับ ร้องเพลงและเต้นรำท่ามกลางสายฝนแห่งความทุกข์เหล่านั้นดูบ้าง หากเราไม่หวั่นไหวไปตามสถานการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เราก็จะลอยตัวอยู่เหนือความทุกข์เหล่านั้นได้ไม่ยากนัก
โดยส่วนใหญ่ เรามักจะยึดติดในความทุกข์ที่เราได้รับ ถือว่าความทุกข์ที่เราได้รับนั้น เป็น ทั้งหมด ในชีวิตของเรา ชีวิตเราไม่เหลืออะไรอีกแล้วนอกจากความทุกข์ และเราก็มักจะหลงลืมสิ่งดี ๆ ทั้งหมดในชีวิตของเราไป
หากเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาแบบผู้ป่วยของผมรายนี้ เราก็อาจจะรับรู้ได้นะครับว่า มี ไม่เท่ากับ เป็น จริง ๆ ครับ
ที่มา นิตยสาร Secret
บทความน่าสนใจ