มีคำกล่าวว่า สถาปัตยกรรมในจังหวัดน่านก้าวพ้นความวิจิตรอลังการไปแล้ว เหลือไว้แต่พุทธปรัชญาขั้นสูงให้คนรุ่นหลังได้ลองถอดรหัสตีความ “ธรรมะ” ที่แฝงฝังอยู่ภายใน
พระธาตุแช่แห้ง คือ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน สันนิษฐานว่ามี อายุราว 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย ชาวเมืองล้านนามีความเชื่อกันว่า หากได้เดินทางไปสักการบูชาองค์พระธาตุแช่แห้ง จะทำให้ได้รับอานิสงส์อย่างแรงกล้า ทำให้ชีวิตอยู่ดี มีสุข ปราศจากโรคภัยต่างๆ มาเบียดเบียน หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้าและยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะอีกด้วย
บริเวณทางเข้ามีพญานาคขนาดใหญ่สองตนอยู่บริเวณแนวทางเดิน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ พญานาคสองตนนี้เปรียบได้กับสิ่งที่เชื่อมโลกมนุษย์ (โลกียะ) และสวรรค์ (โลกุตระ) เข้าด้วยกัน หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าในตัวพญานาคแต่ละตนมีทั้งหมด 9 ลอนคลื่น เปรียบได้กับหลักอริยมรรคมีองค์ 8 อันหมายถึงทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้บวกกับ นิพพาน อีก 1 ซึ่งหมายถึง สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว จึงเท่ากับ 9 อันเป็นหัวใจสำคัญของศาสนาพุทธ เชื่อกันว่า สตรีที่ได้มากราบไหว้พญานาค ชีวิตจะประสบพบเจอแต่ความสุขความสำเร็จ
ปากทางเข้าพระวิหารพุทธไสยาสน์เป็นประตูลักษณะเล็กแคบ การสร้างประตูเช่นนี้จงใจเปรียบเปรยกับชีวิตคนที่อาจไม่ราบรื่นตลอดเวลา มีบางจังหวะชีวิตที่มี “ช่องแคบ” หรือทางตีบตัน แต่เมื่อสู้อดทนแล้วหน้าต่อไป ชีวิตก็จะถึงทางอันโล่งโปร่งเบื้องหน้า
ส่วนบริเวณสันหลังคาพระวิหารมีหางพญานาคขดขึ้นมา แล้วหมุนเป็นเกลียวขึ้นไปสามชั้น เปรียบได้กับหลักคำสอนอันประเสริฐของพุทธองค์ อันได้แก่ ทำความดี ละเว้นความชั่วและทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ แม้จะสร้างขึ้นในยุคสมัยที่พม่ายึดครองล้านนา ทว่ากลับเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะตามแบบสุโขทัย เนื่องจากสมัยนั้นพระเจ้าบุเรงนองกำชับชาวพม่าว่า อย่าทำลายจารีตประเพณีของชาวล้านนา ฉะนั้นจึงไม่มีศิลปะพม่าปรากฏอยู่
ชาวล้านนาสมัยโบราณจงใจปั้นพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ให้มีสองสะดือ เพราะเปรียบเปรยว่า พระพุทธเจ้าคือสัพพัญญู ผู้รู้สิ่งทั้งปวง ซึ่งมีคำสอนทั้งหมดแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ฉะนั้นชาวล้านนาจึงแสดงความระลึกถึงพระพุทธองค์และคำสอนเหล่านั้น ด้วยวิธีคล้ายคลึงกับเวลาจุดเทียนไหว้พระ ที่ต้องใช้เทียน 2 เล่ม เพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์ (พระพุทธ) และคำสอน (พระธรรม) โดยสาเหตุที่ต้องนำสัญลักษณ์นี้มาแสดงไว้ที่สะดือ เพราะชาวล้านนามักกล่าวถึงผู้มีความรู้มากๆ ว่า “ความรู้เหล่านั้นไม่ได้อยู่ในสมอง หากแต่อยู่ในไส้ในพุงหมดแล้ว”
ชาวพุทธที่มากราบไหว้องค์พระมักอธิษฐานจิตแล้วนำเหรียญแปะลงบนองค์พระนอน โดยไม่ใช้กาวหรือตัวช่วยใดๆ เชื่อกันว่าหากใครแปะเหรียญแล้วติดองค์พระ พรที่ขอนั้นจะเป็นจริง (หากขอแล้ว ต้องไม่ลืมลงมือทำสิ่งนั้นเองด้วย หากหวังโชควาสนาอย่างเดียวพรคงไม่สัมฤทธิ์ผล) อย่างไรก็ตาม หลายคนเชื่อว่าสาเหตุที่เหรียญติดอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องไฟฟ้าสถิต
หลายคนมุ่งหน้าไปกราบไหว้ “พระเจ้าทันใจ” เพราะเชื่อกันว่า หากขอพรแล้ว พรนั้นจะสำเร็จผลทันใจ โดยเฉพาะใครไม่มีคู่ หากมาขอพระเจ้าทันใจแล้วจะพบเจอเนื้อคู่ ใครไม่มีลูก ก็จะมีลูกได้ไม่ยาก
ความจริงแล้วคำว่า “ทันใจ” มีที่มาที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือการสร้างพระเจ้าทันใจแต่ละองค์ ต้องสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน โดยช่างต้องเตรียม อิฐ หิน ดินทรายไว้รอก่อนวันจริง รุ่งเช้าตื่นขึ้นมาปั้น พอตกบ่ายเมื่อองค์พระขึ้นรูปเรียบร้อยแล้ว เจ้าเมืองผู้สร้างจะทำพิธีเบิกพระเนตรให้เสร็จก่อนขึ้นวันใหม่ การทำเช่นนี้มีนัยยะสอนให้ชาวพุทธเห็นว่า หากคนเรามุ่งมั่นทำความดีร่วมกัน อย่างไรก็ต้องสำเร็จผลทันใจ
มหาเจดีย์แห่งนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา มีชั้นบัวถลา 4 ชั้นอยู่เหนือฐานรองรับ เปรียบได้กับอริยสัจ 4 อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุหทัย นิโรธและมรรค
ส่วนพระวิหารแห่งนี้ มีรูปพญานาคราช 8 ตนอยู่ด้านหน้า หมายถึงอริยมรรค 8 ประการของพระพุทธเจ้า หางพญานาคเกี้ยวกระวัดเป็นรูปดอกบัวตูม 7 ชั้น อันหมายถึง หลักทั้ง 7 แห่งชีวิต ได้แก่ โพชฌงค์ 7 (ธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) สัปปุริสธรรม 7 (ธรรมนูญแห่งชีวิตของฆราวาส) และอปริหานิยธรรม 7 (หลักธรรมสำหรับนักปกครอง)
นอกจากนี้ดอกบัวทั้ง 7 ดอก ยังนับเป็นอริยทรัพย์ 7 ประการหรือทรัพย์อันประเสริฐที่พระพุทธเจ้ามอบให้กับเวไนยสัตว์ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะและปัญญา เรียกง่ายๆ ว่าทรัพย์เหล่านี้คือคุณธรรมประจำใจที่มนุษย์ทุกคนควรยึดถือไว้ ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้รูปดอกบัว เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ว่า คนเราแม้เกิดในโคลนตม แต่ที่สุดแล้วก็สามารถโผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้
ไม่เพียงเท่านั้น หากลองเพ่งภาพบนซุ้มสามเหลี่ยมนี้ให้ดีๆ โดยลบภาพพญานาคและดอกบัวออกไป จะมองเห็นพระพุทธรูปขัดสมาธิอยู่ในนั้นหนึ่งองค์ มีนัยยะว่า เมื่อมองทะลุเข้าไปในตัวตนของมนุษย์ จะเห็นว่าแท้จริงพุทธะอยู่ในใจเราตลอดเวลา
ด้านในพระวิหารมีพระเจ้าอุ่นเมือง องค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งเป็นองค์พระประธานของวิหารหลวงวัดพระธาตุแช่แห้ง และพระพุทธรูปทองคำพระนามว่าพระเจ้าล้านทอง ให้ชาวพุทธเข้าไปสักการะ
หลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า “แช่แห้ง” อันเป็นชื่อพระบรมธาตุแห่งนี้แท้จริงแล้วมีความหมายสุดลึกซึ้ง คือพระพุทธเจ้าเปรียบเทียบว่ามนุษย์เรารายล้อมด้วยกิเลส ตัณหา อวิชชาต่างๆ มากมายยิ่งกว่าน้ำทั้งหลายในโลกรวมกัน เสมือนเรากำลัง “แช่” ตัวอยู่ในกิเลสอันเปียกโชกชุ่ม แต่เราควรทำตัวให้ “แห้ง” จากสภาวะกิเลสนั้นให้ได้ คืออยู่ร่วมกับกิเลสและความทุกข์ที่เกิดขึ้น โดยไม่จมไปกับมัน คือไม่ติดอยู่กับโลกนี้
นี่เองคือพุทธปรัชญาอันลึกซึ้งที่แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมของชาวน่านตามที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้น…เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณผู้อ่านลองย้อนกลับมาถามตัวเองดูสักนิดว่าเรา “แช่แห้ง” กันแล้วหรือยัง
เรื่องและภาพ รำไพพรรณ บุญพงษ์
**ข้อมูลทั้งหมดผู้เขียนได้ฟังบรรยายมาจาก อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัดน่าน
ขอขอบคุณ สุขนิยมทัวร์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือ)
[custom_headline class="responsive-heading" type="center" level="h2"]ติดตามทริปเดินทางดี ๆ ของสุขนิยมทัวร์ ที่จะชวนคุณไปท่องโลกกว้างพร้อมค้นหาความสุขได้ที่
http://www.facebook.com/sookniyomtour และ http://www.sookniyomtour.com[/custom_headline] [responsive_text selector=".responsive-heading" compression="1.5" min_size="16px" max_size="16px"]